สิ่งที่คนส่วนมาก ทำพลาดในงานกราฟิกและวาดภาพประกอบ

หลายครั้งที่นักออกแบบ นักวาด ยิ่งเวลาผ่านไปสักพัก ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น เวลาที่นานขึ้นจะนำพามาแต่ข้อดี แต่กาลเวลาก็สามารถพาพวกเราไปเจอทางตันในการทำงาน และบางทีมันมาจากการทำผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ (หรือไม่น้อยเลย) ในการทำงาน ฝึกฝนตัวเอง บางทีมันเป็นเรื่องที่สุดแสนจะเบสิคด้วยซ้ำ วันนี้จะมาแนะนำในเรื่องของเตรียมตัวเอง ให้ไม่พลาดในการทำงานกราฟิก และวาดภาพประกอบ

ด้านงานวาด | Illustration Aspect

1. วาดงานไม่มีมิติ ไม่มีการเล่าเรื่อง

การเล่าเรื่องในภาพนั้นสำคัญมาก สำคัญในระตับที่ว่า ถ้าหากมีเนื้อเรื่องแล้วภาพนั้นจะดูดีขึ้นกว่าปกติ หรือกว่าภาพที่ไม่มีเนื้อเรื่อง ซึ่งถ้าถามเรา เราเองก็ทำพลาดมาเยอะเหมือนกัน เพราะว่าเวลาเราวาดนั้น ส่วนมากเราจะชอบด้น ซึ่งพอด้นปุ๊บงานมันก็ขาดความคิด ทำให้มันไม่มีมิติ ไม่มีการเล่าเรื่อง เป็นภาพสาวสวย 1 คน หนุ่มหล่อหนึ่งคนแทน แล้วมุมก็ซ้ำๆ ไม่มีการบอกเล่าอะไร การเล่าเรื่องนั้นสำคัญมาก เพราะว่ามันจะทำให้คนติดตราตรึงใจกับภาพได้นานขึ้น ทำให้คนมองภาพนานขึ้น แล้วก็ทำให้ภาพดูสวยขึ้น โดยที่เราไม่ต้องใช้เทคนิคในการลงมาก หรือว่าทำให้ภาพถึกมาก ก็ได้ เพราะเรามีความหมายของภาพเป็นจุดแข็งอยู่แล้ว  การที่คุณไม่มีความหมายในภาพไม่มีการเล่าเรื่องทำให้คุณต้องมุ่งเน้นไปที่ทักษะในการวาดภาพแทนซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้แต่ทักษะในการเล่าเรื่องคุณสามารถพัฒนาได้ง่ายกว่า แล้วก็มีประสิทธิภาพกว่า

2. วาดงานเดิมๆ

ข้อนี้เนี่ย คือการที่วาดงานซ้ำ ซ้ำๆกัน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความหมายอะไรเหมือนในข้อเมื่อกี้ ก็คือสักแต่ว่าจะวาดไปวาดไป ทำให้ภาพดูไม่มีความหมายดูเลื่อนลอย ดูขาด Concept ที่ชัดเจนทำให้ภาพดูน่าเบื่อเพราะว่ามีแต่ภาพลักษณะเดิมๆ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดการพัฒนาต่อยอดให้งานดีขึ้น

การที่จะหลุดออกจากการวาดงานซ้ำๆได้ ก็คือจะต้องหัดร่างภาพก่อน แล้ว ร่างภาพหลายๆภาพเปรียบเสมือนการทำ Concept Art ของอนิเมชั่นที่ต้องทำรูปหลายๆรูปก่อนที่ภาพจะลงตัวแบบนั้นเนี่ยจะทำให้เรา มีแบบในการทำงานค่อนข้างเยอะ แล้วเราก็สามารถที่จะต่อยอดไปได้อีกหลายอย่างสาย Concept  เช่นร่างภาพเป็นขนมแบบนี้เราอาจจะคิดเป็นคาแรคเตอร์ที่มี Concept มาเป็นขนมก็ได้ หรือการวาดสัตว์ต่างๆก็สามารถทำเป็นพวกคุกกี้สัตว์ คัพเค้กสัตว์ หรือเอาขนมมาทำเป็นเมืองอะไรแบบนี้มันก็สามารถคิดจินตนาการไปได้เรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุดมันอยู่ที่ว่าคุณกล้าที่จะคิดหรือไม่ คุณกล้าที่จะออกนอกกรอบหรือไม่ หรือมัวแต่คิดว่าวาดงานเดิมๆล้วก็ work  แล้วไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร คุณมีทางเลือกค่ะ ในชีวิตคุณมีทางเลือกเสมอ มันอยู่ที่ว่าคุณเลือกที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร

3. ใช้เทคนิคหรืออุปกรณ์เดิมๆ

การใช้อุปกรณ์เดิมๆก็มีข้อดีตรงที่มันทำให้งานของเรามีความชัดเจนในเทคนิคและเรื่องของอุปกรณ์มากขึ้น แต่ว่ามันทำให้งานเรานั้นดูซ้ำและดูนานๆอาจจะเบื่อเพราะว่าไม่มีความแตกต่างไม่เห็นความแตกต่าง บางทีแล้วต้องเปลี่ยนเทคนิคดูบ้าง เพื่อทำให้งานดูใหม่สดเสมอ แล้วก็ทำให้คนมองงานเราในมุมมองใหม่ๆบ้าง หรือลองเปลี่ยน Subject ในการวาดเป็นอย่างอื่นดูบ้างเพื่อทำให้ไม่น่าเบื่อ ให้งานน่าสนใจมากขึ้น แล้วก็มีมิติมากขึ้นอีกด้วยแต่เรื่องของอุปกรณ์นั้นมันก็แล้วแต่คนชอบ อยากใช้อะไรก็ใช้ได้ แต่ดูก่อนว่า ใช้สิ่งนั้นแล้วมันเหมาะกับสไตล์ที่เราต้องการจะสื่อหรือเปล่า แล้วทำให้งานออกมา effect เหมือนกับที่เราต้องการอยากจะได้หรือเปล่า ไม่ใช่แบบอยากได้สีโปร่งแสงแต่ดันใช้สีน้ำมันเป็นต้น มันเหมือนกับว่าคุณต้องเข้าใจก่อนว่าคุณอยากได้อะไร คุณมีสิ่งที่ต้องการแล้วหรือเปล่า หรือว่ามีเป้าหมายในการวาดที่ชัดเจนไหม แล้วคุณค่อยเลือกว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรในการวาดมันจะดีกว่าค่ะ ไม่เช่นนั้นคุณก็จะใช้อุปกรณ์เดิมๆในการวาด ซึ่งมันก็ทำให้งานคุณดูแบนไปทันที เพราะว่าคนจะรู้สึกเหมือนกับให้อารมณ์ดูภาพเดิมๆทุกครั้งโดยเฉพาะถ้าคุณใช้ Subject แบบเดิมเดิมแล้วก็โครงสีแบบเดิมๆ คุณอาจจะลองฉีกแนวดูบ้างแต่อย่าให้มันเยอะเกินจนไม่มีเอกลักษณ์

4. งานหลากหลายเกินไป

ข้อนี้ตรงข้ามกับข้อเมื่อกี้ ก็คือใช้อุปกรณ์หลากหลายหรือสไตล์หลากหลายมากเกินไปทำให้งานออกมาหลากหลายเกินแล้วดูไม่เป็นเอกภาพไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดูเหมือนคนละคนกันวาด การที่งานเป็นอันหนึ่งเดียวกัน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญเพราะว่ามันจะทำให้คนดูงานเราออกแล้วก็สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องเดาว่านี่คือใครในการวาด ไม่ใช่แบบวันนึงวาดแบบนี้อีกวันหนึ่งวาดอีกแบบเปลี่ยนตัวไวเหมือนกิ้งก่าแบบนั้นมันก็ไม่ไหว คนก็จำงานเราไม่ได้ แล้วทำให้เอกลักษณ์จางลงอีกด้วย

5. ไม่ยอมศึกษาเพิ่มเติม

คิดว่าตัวเองรู้ดีอยู่แล้วเลยไม่ยอมศึกษาเพิ่มเติม คนที่คิดว่าตัวเองรู้ดีอยู่แล้วก็เหมือนน้ำเต็มแก้วไม่สามารถเติมอะไรเข้าไปได้ ไม่สามารถที่จะเรียนรู้อะไรได้อีกเพราะว่าใจไม่ยอมเปิดรับ การที่ใจไม่เปิดรับมันทำให้คุณเสียโอกาสในการที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆที่อาจจะสำคัญต่อชีวิตคุณไป เพราะว่าการที่คุณไม่เปิดรับมันทำให้คุณไม่เชื่อหรือไม่ฟังในสิ่งที่คนอื่นแนะนำที่มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีต่อคุณก็ได้แต่คุณปิดใจและไม่ยอมรับว่านั่นคือสิ่งที่ดีสิ่งที่ควรเอาเป็นแบบอย่างหรือว่าควรทำ

สรุป

พยายามทำงานให้หลากหลายแต่ว่าให้มันดูมีเอกลักษณ์และก็พยายามพัฒนาผลงานของตัวอยู่เสมอให้งานนั้นมีจุดที่ไม่เหมือนคนอื่นเพราะว่าถ้าคุณเหมือนคนอื่นมันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่นายจ้างจะมาจ้างคุณให้ทำงานนั่นนี่เพราะว่าถ้าคุณเหมือนคนอื่นเขาไปจ้างคนอื่นไม่ดีกว่าเหรอคะ จ้างคนที่เป็นต้นฉบับของคุณน่ะ เพราะฉะนั้นการที่คุณเป็นเอกลักษณ์สำคัญมากในระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน

ด้านงานออกแบบ | Graphic Design Aspect

การพลาดในงานออกแบบ หลักๆเบื้องต้นสุดจะคลาสสิคเลย มันเริ่มมาจากการเราพลาดในประเด็นเหล่านี้

1. ตีโจทย์ไม่แตก | Project Brief & Goal

การที่นักออกแบบตีโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมาไม่แตก อาจจะมีความเข้าใจในโจทย์ระดับหนึ่ง แต่ยังมองในมุมที่ไม่ลึกซึ้ง หรือ “อ่านไม่ขาด” ไม่เข้าใจที่มา ปัญหา และเป้าหมายของโปรเจ็กต์อย่างแท้จริง ทำให้งานไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะไม่ตอบเป้าหมาย หลงทางไปในทิศทางที่เบี่ยงเบนจากเป้าหมายไกล ไม่สวย ไม่น่าสนใจ หรือ น่าเบื่อ

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานของการทำงานในกระบวนการขั้นตอนต่อๆไป แม้ว่างานขั้นตอนนี้จะมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ทำให้ตอนที่คิด ที่ทำ หลายๆคนให้เวลากับมันไม่เพียงพอ และอยากจะรีบข้ามไปทำส่วนที่จับต้องได้ ส่วนที่สนุกสนานรอคอย คือ ขั้นตอนการผลิต (Design Production)

2. เพิ่มปัญหา | Introduce more Problems

นักออกแบบมีหน้าที่แก้ปัญหาด้วยทางออกที่สวยงามสร้างสรรค์ ปัญหาของเราที่แน่นอนหนึ่งปัญหาที่มีในแทบทุกงาน คือ ปัญหา ความท้าทาย การต่อสู้กับ “ความไม่งาม” หรือ “ความน่าเกลียด” คือ เราต้องทำให้มัน “สวยงาม” ด้วย นอกเหนือจากปัญหาทั้งหลายที่ติดมากับ Brief & Goal ของโปรเจ็กต์

การแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ควรจะเป็นปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่นักออกแบบต้องทำให้ได้ นั่นคือหน้าที่ของเรา แต่สิ่งที่จะทำให้เราพลาดในงาน คือ การที่เราแก้ปัญหาหลักได้ แต่เพิ่มปัญหาอื่นมาแทน

อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังมาก การออกแบบที่สร้างปัญหา ไม่ใช่สิ่งที่นักออกแบบควรทำ

หากจำเป็น ก็ต้องคิดดีๆ ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมา มีผลต่อบั้นปลาย การใช้งาน หรือ ความสำเร็จของงานอย่างไร เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อย หรือยิ่งใหญ่จนลดคุณค่าของงานนั้นลงไปทั้งงาน

ต้องทำการ Reality Check ปัญหา และทางแก้ไขด้วย ว่าเราไม่ได้ออกแบบให้มันทำงานบางอย่างได้ดี แต่อีกอย่างที่สำคัญกลับไม่เวิร์ค

3. ไม่รับฟังคำติ |  Avoid Critics

ปัญหาอีกอย่างที่ติดตัวมากับประสบการณ์ เวลา และความมั่นใจ คือ การไม่รับฟังความเห็นใหม่ที่จะมาช่วยพัฒนาเราไปข้างหน้า

การไม่ขวนขวายหาคำติ(Critics) ไม่นำคำติมาพิจารณา แต่เอาแต่บูชาคำชื่นชม(Compliments) จะทำให้เราไม่พัฒนาไปไหนไกล

แน่นอน คำชมมันน่าฟัง แต่เราอาจจะไม่ได้พัฒนาไปไหนเลย นอกจากแค่มั่นใจในตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าเจอแต่คำชม ลองตั้งคำถามในงานตัวเอง หาคนที่ตั้งคำถามในงานเรา

4. ไม่พอดี มีความเยอะ | Overly complicated

ปัญหาที่มาจากความไม่รู้จักความพอดี คือ มีไอเดียเยอะ อยากใช้ทุกอย่าง ดั่งงานนี้เป็นงานสุดท้ายในชีวิต ต้องบุฟเฟ่!!! รวมทุกอย่างกันไปเลยค่ะคุณ!!

อันนี้ไม่ได้ทำให้งานดีแต่อย่างใด จากงานที่ดีดี ชัดเจนมีสไตล์ อาจจะกลายเป็นงานที่มีแต่ความยุ่งเหยิง เข้าใจยาก และสูญเสียคุณภาพที่สำคัญที่สุดไป  ในการออกแบบ ไม่ใช่แค่รู้จักการหาไอเดีย ใส่ไอเดียเข้าไป แต่ต้องรู้จักการ reduction หรือลดทอนองค์ประกอบ(ไปจนถึงสาร ข้อมูลที่จะสื่อ)ในงานให้อยู่ในจุดที่ลงตัวและพอดีด้วย

ขอขยายประโยคนี้เลยว่า บางทีการเอาออก ก็คือ การออกแบบ

และที่ว่าง ก็มีไว้ใช้เน้นให้ส่วนที่ควรจะเด่นชัด มันเด่นออกมา นั่นคือ การออกแบบ

อย่ายัดทุกอย่างลงไป

ในกรณีที่งานเยอะๆ ดู Maximalism แล้วประสบความสำเร็จ งานแนวนี้คือสร้างมาด้วยเหตุผลว่ามันต้องเยอะ มันคือเทคนิคและตัวตัดสินความสำเร็จของงาน มันมีที่มาที่ไปว่าทำไมมันต้องเยอะ ไม่ใช่ เพราะไอเดียเยอะ อยากใส่ทั้งหมด แต่เพราะเค้าต้องทำให้มันเยอะ เค้าเลยไปหาอะไรมาใส่ ตามที่เค้าวางไว้ว่ามันต้องเยอะ (งงไหม?)

เอาเป็นว่า ทำให้พอดีกับโจทย์ จากข้อแรก ตีโจทย์แตกแล้วทำให้ตอบโจทย์ ถ้ามันต้องดูสไตล์เยอะ โอเค นั่นเยอะได้ แต่ให้แน่ใจว่าในความเยอะ เรามีความลงตัว สมดุลย์ และงานสวยงามเป็นที่ยอมรับได้จากสายตาผู้มอง (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Agreeable นั่นเอง)

5. แรงบันดาลใจจำกัดแค่มุมเดียว | Limited Inspirations

หลายที่ที่บางคนเผลอคิดว่าเป็นนักออกแบบ เราต้องรู้แค่เรื่องออกแบบใช้ชีวิตอยู่แค่ในมุมมองของนักออกแบบ แบบแน่นๆ ด้านเดียว หรือ ว่าอาจจะมัวแต่โฟกัสกับงานออกแบบ จนไม่สนใจโลกด้านอื่น จนวันหนึ่งพบว่า เราขาดแรงบันดาลใจ เรามีมุมมองเดิมๆ เราไม่คิดอะไรใหม่ๆเลย

แท้จริงแล้ว นักออกแบบ เราต้องมีมุมมองที่กว้าง รู้จักหลายๆอย่างบนโลก เราอาจจะแม่นในกระบวนการออกแบบ เราอาจจะมีเรื่องที่เก่ง นั่นคือความเชี่ยวชาญของเรา แต่เราต้องมีความรู้รอบตัว เอาตัวเองเปิดสู่โลก สิ่งแวดล้อมในมุมอื่นด้วย

เราสามารถทำได้จากการอ่าน หรือศึกษาข้อมูลเรื่องใหม่ๆบนโลก ออกไปเที่ยว เดินทางที่ไม่คุ้นเคย ทำกิจกรรมแปลกๆใหม่ๆ สิ่งที่เราไม่คุ้นเคยบ้าง เราต้องหมั่นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆ ที่มันจะนำความรู้ต่างมุม มาช่วยพัฒนางานเราในอนาคต

นักออกแบบ คือ นักพัฒนา และ สร้างโอกาส แต่ถ้าเราไม่เห็นออกไปไกลกว่าแค่ก้าวเดียวรอบๆตัวเรา มัวแต่ยืนอยู่ที่เดิม รอไอเดียมาลง มาปิ๊งในสมอง โถๆๆ แล้วเราจะเห็นโอกาส หรือมุมมองอื่นๆ ที่กว้างขึ้นได้อย่างไร?

ออกไปหาแรงบันดาลใจ เปิดสมอง บริหารมุมมองใหม่ๆเสมอ

สรุป : สังเกต และ ปรับปรุง

ลองสังเกตตัวเอง ว่าเรามีอะไรคล้ายๆ ใน 10 ข้อนี้ไหม ถามตัวเองแบบใจเป็นกลาง ตอบแบบอย่าเข้าข้างตัวเองเชียว เพราะว่าถ้าเราพลาดอย่างละนิดอย่างละหน่อยก็มีผลกับงานได้เยอะ และแน่นอน ถ้าเราแก้มันทีละนิดทีละหน่อย รวมๆกันเราก็จะพัฒนา และดีขึ้นกว่าก่อนได้อีกเยอะเช่นกัน หมั่นสังเกตตัวเองเสมอ จะได้ไม่เผลอพลาดไป ในเรื่องเหล่านี้ แล้วเอาเวลา เอาพลังไปพัฒนาตัวเองและงานให้เต็มที่! ลุย!

ถ้าคุณสนใจฝึกและเรียนเทคนิคสำคัญ และพื้นฐานในงานออกแบบ งานวาด ไปจนเรียนรู้เรื่องการออกแบบที่ดี และไม่ดี ขอแนะนำให้มาเรียนคอร์ส “เรียนลัดตัดตอนครบวงจร Graphic & illust” ที่เพียง 10 สัปดาห์ของการเรียนการสอนออนไลน์ จะทำให้คุณทำงานออกแบบ และงานวาดได้ดีขึ้น ปลดล๊อคศักยภาพของคุณ และเข้าหลักการสำคัญที่ทำให้ไม่พลาดในเรื่องที่ไม่ควรพลาดในการออกแบบ อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจในการทำงานต่อไปได้ด้วย สนใจสมัครคอร์สนี้ ไปดู รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย