Hej! ชวนคุยกับภูมิสถาปนิกไทย “ลุยอย่างไรถึงคว้างานได้ไกลถึงสวีเดน”

การใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งการหางานในต่างประเทศ ทียิ่งเป็นประเทศสแกนดิเนเวียที่ดูไม่ใช่แค่ไกลด้วยระยะทาง แต่ด้วยความเป็นโซนยุโรปเหนือและความแตกต่างทางวัฒนธรรมทำให้ดูยิ่งยากเข้าไปใหญ่ มันจะยากจริงไหม แล้วมีความมันส์ ความท้าทายยังไง เพื่อให้ได้ทำงานที่ประเทศสแกนดิเนเวียอย่างสวีเดน วันนี้ เราจะพาทุกคนไปนั่งคุยกับ เน้า นวรัตน์ ยังสำราญ ภูมิสถาปนิกสาว ที่กำลังทำงานเป็นภูมิสถาปนิก ( Landscape Architect) ที่ประเทศสวีเดน ที่นอกจากได้ฟังประสบการณ์ว่าทำยังไงกว่าจะได้งานนี้ เน้าจะมาเล่าเรื่องของวิธีการที่เธอใช้ในการเตรียมตัว เตรียมPortfolio ด้วย

 

เดี๋ยวเราไปคุยกับเน้าเลยค่ะ 

จอม DA :   สวัสดีค่ะเน้า คำถามแรกก่อนเลย อะไรคือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เน้าไปทำงานเมืองนอกคะ 

 

เน้า : เริ่มตรงที่เราอยากได้ภาษาและออกไปใช้ชีวิตเมืองนอกสักครั้ง และแน่นอนเงินเดือนดีด้วย ฮ่าๆ ตามกระแสตอนนั้นนะ แต่สมัยเด็กๆ เราพูดอังกฤษไม่ได้เลย สอบตกด้วยซ้ำ แต่ก็อยากลอง เลยพาตัวเองไปเริ่มฝึกทำงานที่สิงคโปร์ทั้งที่พูดภาษาไม่ได้เลยนะ ฝึกภาษาได้มาอีกเลเวลหนึ่ง ก็อยากลองเรียนต่อดู แต่ก็สอบไอเอลได้คะแนนแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากๆ เลยถอดใจไม่คิดมาเรียนต่อแล้ว แต่แล้ววันหนึ่งก็เข้าสู่จุด มิดไลฟ์ไครสิส เพราะทำงานมานาน แต่งานส่วนมากจะดีไซน์เพื่อ commercial ซะเยอะ เริ่มแก่ด้วยเลยคิดถึง work-life balance แล้วตัวเองเริ่มหันไปสนใจด้านเมืองและออกแบบคุณภาพชีวิต ก็เลยลุยตั้งใจสมัครสอบอีกครั้ง จนทำให้ได้ทุนของประเทศสวีเดน เพื่อไปเรียนต่อ urbansim studies แต่พอเริ่มใกล้เรียนจบ เราก็รู้สึกมันเหมือนยังไม่สุด เหมือนยังมาไม่ถึงสวีเดน จึงตัดสินใจยืดทีสิสไปหกเดือนเพื่อสมัครงานและทำทีสิสไปด้วย ไม่ลองก็ไม่รู้  ตอนนั้นเพื่อนก็เชียร์ด้วยการเอามอตโต้เก๋ๆมาแปะข้างฝาห้องว่า “Nothing happens unless you start” ก็เลยลองลุยดู    

จอม DA :   สิ่งที่ยากและท้าทาย รวมถึงข้อจำกัดในการสมัครงานที่สวีเดน มีอะไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย? 

 

เน้า :  การหางานสถาปัตย์ที่นี่ ขึ้นชื่อว่ายากมาก เพราะต้องพูดภาษาสวีดิชได้ หรือ เรียนจบในมหาลัยของสวีเดน หรือ ต้องมีคอนเนคชั่น ตัดภาพมาที่ความจริง ภาษาเราก็พูดไม่ได้ (ภาษาอังกฤษ ยังไม่ลื่นเลยยย ต้องมาลุยภาษาสวีดิชอีกกก) ส่วนคอนเนคชั่น…ไม่มีเลย ไม่รู้จักคนไทยที่ทำงานเป็นสถาปนิกที่นี้เลย เรามีก็แค่ประสบการณ์การทำงานมา 6 ปี และจากฝั่งเอเชียอีกต่างหาก

 

แต่ในใจก็คิดว่าเรามีประสบการณ์จากสิงคโปร์และไทยมาหลายปี มีงานสร้างจริงก็หลายงานอยู่ ยังไงก็ต้องมีสักออฟฟิศรับแหละ ส่งไปสิบที่แรกๆ โดนปฏิเสธรัวมากๆ ความมั่นใจเริ่มหดละ จะถอดใจกลับไทยแล้ว แต่เราก็ก็ยังเห็นเพื่อนต่างชาติและคนไทยเริ่มทยอยได้งานกันบ้าง เราก็หันมาตั้งสติ เริ่มนั่งคิดวิเคราะห์ว่าเราผิดตรงไหน แล้วควรแก้ยังไง และควรจะปรึกษาใครดี 

 

จอม DA :  โหดไม่ใช่เล่น ไม่ได้ง่ายเลยนะเนี่ย แล้วเน้ามีกลยุทธ ทำการแก้เกมเหล่านี้ยังไง?

 

เน้า :  เราเริ่มง่ายเลยๆ เริ่มแก้Portfolioใหม่ทั้งหมด 🙂 

เริ่มจากถามเพื่อนสถาปนิกไทยที่ได้งานในต่างประเทศก่อน ให้ช่วยคอมเม้นPortfolio รวมถึงเปิดดูPortfolio สวยๆจากทั่วโลก (แต่จุดนี้ผิดพลาดมาก เพราะลืมไปว่าสถาปนิกแต่ละชาติมีสไตล์ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น Portfolio ของชาวไทย จะเน้นมีงานเยอะ หน้าเยอะ งานหลากหลายรูปแบบ หรือทำกราฟิกได้สวยงาม ส่วนทางฝั่งอเมริกา ไม่ได้ชอบเล่มหนา ปริมาณไม่ต้องเยอะ แต่เน้นการแสดงกระบวนการ แนวคิด และแสดงความสามารถที่มีได้ชัดในแต่ละงาน ส่วนกราฟิกก็ต้องแม่นเป็นมาตรฐาน ความเสี่ยงก็สูง เพราะการแข่งขันมาจากหลายประเทศทั่วโลกมารวมตัวกันในประเทศเดียว (คนสมัครงาน รวมไปถึงพวกนักเรียนที่มาเรียน ที่ไม่ได้มีแค่คนไทย กับอเมริกัน แปลว่านอกจากแข่งกับคนอเมริกัน ต้องแย่งกับชาติอื่นด้วย)

เราจึงเปลี่ยนแผนใหม่ จะทำการอะไร ต้องรู้เขารู้เรา เราคิดว่าต้องรู้จักสถาปนิกสวีดิชให้มากกว่านี้ เราจึงพยายามไปตามอีเวนท์ที่มี Architect Group ที่สตอกโฮล์ม ซึ่งจะมีอาสาสมัครมาช่วยเหลือสถาปนิกต่างชาติ หรือ สมาคมสถาปนิกสวีเดน ก็มีทีมคอยช่วยหางาน เราก็เอาPortfolio และ CV ไปให้เค้าแนะนำวิธีการทำพอร์ตแบบสวีดิชสไตล์ นั่นก็คือ สั้น กระชับ มีเป้าหมายชัดเจน มีการเน้นจุดสำคัญ มี keyword มีการโชว์กระบวนการคิด ไม่ต้องส่งPortfolioเป็นมหากาพย์ หรือโชว์ทุกอย่างครอบจักรวาล เพราะคนสวีดิชจะใช้เวลาอ่านไม่นาน และชอบอะไรที่เข้าใจง่าย ชัดเจน ทำอย่างไรให้เวลาคลิกเปิดพอร์ตเรา แล้วเค้าอยากติดตามหน้าถัดไป 

 

แต่แก้พอร์ตมันยังไม่พอ เราต้องลุยไปถึง ผู้รู้ของฝั่งจ้างงาน นั่นคือทาง recruiter เค้าแนะนำให้เห็นภาพ ว่าบริษัทสวีดิชมองหาอะไร และพื้นฐานคนสวีดิชเป็นคนยังไง เราเหมือนนั่งทำความรู้จักตัวเอง ค้นหาจุดแข็งตัวเองว่าเราถนัดอะไร  เลือกมาเลย 5 อย่าง และเล่าใน CV ให้กระชับไม่ยืดเยื้อ ส่วนตัวเราโชคดีได้ทำงานออกแบบโรงเรียนมาถึง 3 โรงเรียน จึงกลายเป็นจุดแข็ง ซึ่งตรงกับแนวงานออกแบบหลักที่สวีเดน คือสวนสาธารณะ โรงเรียน และ สนามเด็กเล่น

 

ในส่วนของ CV และ Cover letter เราก้อปรับเนื้อหาให้ตรงกะออฟฟิศนั้นๆด้วยนะ แล้วปรับสีให้ตรงกะโลโก้ออฟฟิศด้วย 555 ไม่ได้ผลิตอันเดียวแล้วส่งหว่านหมด ลองเขียนทุกอย่างเป็นภาษาสวีดิชด้วยนะ ยากมากกกกก นอกจากนี้ยังคนสวีดิชเชื่อใน LinkedIN และ Social media เพื่อโชว์ให้เห็นถึง Connection 

 

 

จอม DA :  โห เรียกได้ว่าต้องปรับเกม ปรับตัวกันหน้างาน สถานการณ์ต่อสถานการณ์เลยทีเดียว แล้วหลังจากนั้นผลเป็นยังไงบ้าง มีออฟฟิศตอบรับยังไงบ้าง?

 

เน้า :  ค่ะ ผ่านไปสัก 6 เดือน (ถือว่าเร็วแล้วนะ)  และแล้ว วันนั้นที่รอคอยก็มาถึง ได้สัมภาษณ์ถึง 2 ออฟฟิศ แต่สอบตก ไม่ผ่านรอบเข้ารอบสอง เราก็เสียใจ นอยไปแปปนึง แต่แล้วทุกครั้งที่โดนปฏิเสธ เราก็จะรีบตั้งสติ มานั่งหาว่าผิดตรงไหนกันนะ เริ่มถามคนที่ได้งาน เราก็เริ่มรู้ว่า อ่อ เราพูดยาวเกิน ยืดเกิน และ เราไม่ได้พูดถึงส่วน personal life เพราะการสัมภาษณ์มันหมายถึง เค้าอยากรู้จักเราในมุมอื่นๆ ดูนิสัยใจคอ เค้าไม่ได้มองหาคนเก่ง เค้ามองหาคนที่เป็นคน มีทั้งส่วนความสามารถการทำงานและมีชีวิตส่วนตัว ก็คือwork-balance นั่นแหละ ดังนั้นในการสัมภาษณ์ออฟฟิศที่ 3 เราก็ทำการบ้านไป เข้าไปเวบไซต์ของออฟฟิศ ดูว่าเค้ามองหาคนแบบไหน อะไรคือจุดร่วมระหว่าง เรากะออฟฟิศ เราจะทำอะไรให้เค้าได้บ้าง นอกจากพูดเรื่องงานให้กระชับเข้าใจง่ายแล้ว เราก็เสริมไปนิดนึง ว่าเราชอบธรรมชาติ ชอบวิ่งในสวนสาธารณะ ดังนั้นเราผูกพันกับธรรมชาติและlandscape ซึ่งไม่ใช่แค่ฐานะนักออกแบบ แต่ในฐานะผู้ใช้งาน 

ในส่วนการสัมภาษณ์ของสวีเดนก็มีความยากเหมือนกันและใช้เวลานาน โดยทั่วไปจะสัมภาษณ์ 2-3 รอบอย่างน้อย เพราะเค้ามองหาคนทำงานร่วมกันไปนานๆ เป็นเหมือนเพื่อน เหมือนครอบครัว เค้าจึงค่อนข้างละเอียดในการเลือกคน เพราะการไล่ออกคือยากมาก

จอม DA :  ที่เค้าบอกกันว่า “การมาเรียนต่อทำให้ได้คอนเนคชั่น” เป็นเรื่องจริงไหม?

 

เน้า :  ได้จริงๆนะ แต่ส่วนตัวเราเชื่อว่า คอนเนคชั่น มันไม่ได้เพียงแค่ส่งตัวเองไปเรียนเมืองนอก แล้วรู้จักคนเยอะๆๆไว้ก่อน การรู้จักคนมันเป็นการสร้างโอกาสคอนเนคชั่นได้สัก 20% แต่อีก80% เราก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาเตียมพร้อมรับคอนเนคชั่นนั้นด้วย 

 

จอม DA :  แล้วจากการที่เราเป็นคนไทยหรือเอเชีย เป็นข้อจำกัดมากมั้ยในการหางานที่สวีเดน ?

เน้า :  เราว่าไม่ว่าจะชาติไหน เอเชีย,ยุโรเปี้ยน หรือ อเมริกัน มีความยากลำบาก พอๆกันหมดแหละ มันก็มีข้อจำกัดต่างกันไป แต่ที่สำคัญจริงๆ คือต้องเข้าใจภาษาสวีดิชได้ ถึงแม้คนสวีจะพูดอังกฤษได้ดีถึงดีมาก แต่เพราะเอกสาร กฎหมาย การประชุม หรือ คุยเล่นกัน ทางนั้นเค้าใช้ภาษาสวีดิชเกือบทั้งหมด นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศนี้ไม่ค่อยฮิตในหมู่สถาปนิกชาวไทยเท่าไร และงานออกแบบก็ไม่ได้หวือหวา เส้นสายเฟี้ยวฟ้าว เพราะจะเน้นออกแบบไปที่คุณภาพชีวิตของคนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสียมากกว่า แต่ความจุดอ่อนของเอเชีย เราคิดว่าในเรื่องของ ความรู้หรือประสบการณ์ เช่น วัฒนธรรม หรือ การออกแบบในอากาศโหดๆแบบหิมะหนาๆ ทางเราไม่มีเลย ก็จะเป็นข้อเสียเปรียบมากกว่าชาติกำเนิด 

 

เอาจริงๆนะ เราอยากให้มองที่ตัวเรา มาหาจุดแข็งของเราดีกว่า เพราะว่ายังไง เราก็ได้เกิดเป็นคนไทยแล้ว เราเปลี่ยนชาติกำเนิดไม่ได้ มีคนเอเชียมากมายที่เติบโตที่นี้ เค้าก็ต้อนรับเท่ากับคนอื่น โชคดีที่สวีเดนเปิดโอกาสให้กับต่างชาติค่อนข้างมาก ไม่ได้คิดว่าเอเชียเป็นด้าวนะ แต่เค้ามองว่า คนเอเชียอะ เป็นทำงานหนักมากๆ สู้ชีวิตประมาณนั้น เค้าคิดว่าทุกคนแตกต่าง เพียงแค่คุณมีความสามารถตามที่เค้าต้องการหรือเปล่า มันมีอยู่แล้วแหละการเหยียดเชื้อชาติ แต่เราต้องมีสติในจุดนี้ ต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่า “คนไทยหรือคนเอเชีย” เป็นจุดอ่อนของการอยู่เมืองนอก แต่สำหรับเราการเกิดเป็นคนไทยเป็นจุดแข็งนะ เพราะเราเติบโตมากับระบบยืดหยุ่น อ่อนน้อม และใจสู้งานมาก ก็ทำให้การทำงานราบรื่นในแบบของเรา 

จอม DA :  เล่าถึงแนวคิดและการทำงานของคนสวีเดนที่แตกต่างกะเมืองไทยให้ฟังหน่อย 

 

เน้า :  แตกต่างกันมากๆ ทั้งชีวิตทำงานและเนื้อหางาน สามารถแบ่งเล่าได้เป็นตอนๆเลย แต่จะหยิบที่น่าสนใจมาเล่าก่อนละกัน แต่ไม่อยากให้เปรียบเทียบกะไทยตรงๆ เพราะพื้นฐานประเทศมันต่างกันเนอะ

 

เรื่องแรกที่คิดว่าเป็นจิตวิญญาณของประเทศนี้และเราก็อินกับมันมากๆด้วย ก็คือ  Sustainability and Environment คนสวีดิชรักสิ่งแวดล้อมมาก รักน้ำ รักป่า เพราะโตมากับป่าเลย ปลูกฝังกันมาแต่เด็ก ระดับ DNA จริงๆนะ ดังนั้นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงต้องมีการวางผังเมืองที่ดี เพราะว่าพื้นที่งาน landscape ส่วนมากของประเทศสวีเดนนั้นซ้อนทับกับ public space และ ป่าธรรมชาติ รัฐยังจ้างหน่วยงานต่างๆ เพื่อวิจัย เช่นระบบระบายน้ำ พลังงาน ป่า เค้าจะคิดเผื่อไปถึงอนาคตอันไกลมาก เช่น ระบบระบาย จะต้องมั่นใจว่าจะรับน้ำท่วมอีกได้ในอีก 50 ปี แล้วยิ่งตอนนี้ Climate change กำลังเป็นเรื่องสะเทือนวงการสถาปนิกที่นี้ ก็มีเริ่มวางแนวทางรับมือ ทำworkshop อยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ที่กำลังเป็นที่พูดถึงก็ Friday for Future

 

ที่สำคัญแบบขาดไม่ได้อีกอย่าง คือ “ความเท่าเทียม” ไม่ว่าจะเด็ก คนแก่ คนพิการ ความเท่าเทียมทางเพศ  จะต้องมีสิทธิ์ในการเข้าถึงและใช้งานพื้นที่ ดังนั้นโครงการทุกโครงการ ไม่ว่าจะเล็กใหญ่ จะต้องมีทางลาดให้คนพิการ ที่จอดรถคนพิการ ระบบสัญจรที่ดี ระบบถังขยะและรีไซเคิล นอกจากนี้ในงานระดับงานสเกลใหญ่และกลาง จะมีการทำworkshopกับทางชุมชน เพื่อหาความต้องการที่แท้จริงและตามมาด้วยการแก้ปัญหาพื้นฐาน นอกจากนี้ผังเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ทุกอัน จะต้องนำเข้าสู่ประชาพิจารณ์อีกด้วย

 

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ “standard” เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปกับการเขียนแบบ และต้องคอยปรับทัศนคติกับผู้รับเหมา ลูกค้าหรือ Consultant เจ้าอื่น ทางสวีเดนจึงสร้างStandard พร้อมguideline คุมไว้ให้พื้นฐานเหมือนกันทั้งสวีเดน แต่แค่แบ่งย่อยรายละเอียดตาม zone อากาศหรือเขตต่างๆ 

 

มีเพื่อนถามเยอะ ว่าถามว่าเป็นสถาปนิกยังทำงานหนักมั้ย ได้นอนมั้ย?

 

ได้นอนเยอะอยู่ ระบบออฟฟิศคือ ทำงานรายชั่วโมง โดยทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เข้ากี่โมงก็ได้ ออกกี่โมงก็ได้ ทำที่บ้านก็ได้ ทำบนรถไฟระหว่างเดินทางก็ได้ จะทำเยอะหรือน้อยชั่วโมงต่อวัน ก็บริหารเอาเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่า ทำๆไปเรื่อยๆ แก้แบบไม่จบไม่สิ้นนะ เพราะชั่วโมงทำงานก็ถูกควบคุมโดยbudget ของแต่ละโปรเจค ทุกวันจะต้องบันทึกลงระบบ time sheet ว่าทำอะไร ใช้เวลากี่ชั่วโมง เพราะชั่วโมงทำงานของเรา คือบริษัทต้องเอาไปโชว์ลูกค้า เพื่อเก็บเงิน และที่สวีเดนโปรงใสมาก พนักงานทุกคนไม่ว่าจะตำแหน่งไหนสามารถเข้าถึงและรับรู้เอกสารสัญญางาน เพื่อเราจะได้รู้และบริหารเวลาของตัวเองและทีมได้ เพราะงบประมาณในสัญญาจะแจกแจงว่า เนื้องานที่ต้องส่งมีอะไร และต้องใช้เวลาทำงานให้กี่ชั่วโมง

และก่อนเซ็นสัญญา พนักงานมีสิทธิแจ้งด้วยว่าต้องการเวลาทำงานเท่าไร 

 

แต่กว่าครึ่งนึงของคนในออฟฟิศมาทำงานตอน 7-8 โมงเช้านะและเลิกเร็วมาก ตั้งแต่ทำงานมาเราเลิกดึกที่สุดคือ 2 ทุ่ม ออฟฟิศเราไม่มีโอทีเป็นรูปแบบเงิน ยกเว้นจะถูกร้องขอจากเจ้านายหรือลูกค้า แต่ถ้าเราทำเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะเก็บเป็นเวลาแทน เพื่อไว้ลาหยุด

 

คนสวีเดนให้ความสำคัญกับการครอบครัวและสุขภาพค่อนข้างมาก มีสวัสดิการ 3500 kr หรือประมาณ 14,000บาท ให้ไปทำอะไรก็ได้เพื่อสุขภาพ 

คนสวีเดนจะมีคำว่า lagom แบบใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่มากไม่น้อย work-life balance สุดๆ ในหนึ่งวันของการทำงาน จะมี Fika (หรือ Tea break) ที่ออฟฟิตเรามีเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 30 นาที เพื่อให้คนมานั่งคุยกันจริงๆ เป็นวัฒนธรรมหลักของที่นี้ ส่วนตัวที่สังเกตเห็นคือคนที่นี้ไม่ติดมือถือ ทำงานค่อยข้างโฟกัส แต่ก็คุยเล่นกันบ้างแหละ คนสวีมีความคล้ายคนไทยมากในเรื่องการเข้าสังคมและคนสวีดิชเป็นคนตลกมากๆ  เค้าเน้นการมาแชร์ความรู้กันมากกว่ามาแข่งกันเก่ง เค้าจะเน้นการทำงานร่วมกันมากกว่า  

จอม DA :  ฟังแล้วนี่คือ ทำงานที่นี่นี่ดีมากเลย อย่างจอม ที่อเมริกาก็ต้องทำ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหมือนกันแต่ทำเกิน ไร้โอที เข้าเป็นเวลา ออกไม่ตรง ไม่ค่อยมีใครกล้าออกตรงเวลามาก ฟังดูแล้ว ที่สวีเดนดูมีความใส่ใจในคุณภาพชีวิตของประชาชนดี ให้กลับไปเจอครอบครัว และมีเวลาส่วนตัว ดีใจที่ให้เน้ามาเล่าให้ฟัง ได้อีกมุมมองดีมากมากเลย
สุดท้ายวันนี้ อยากให้เน้า แนะนำ สรุปข้อคิดที่ได้ และให้กำลังใจเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่กำลังฝ่าฟัน สู้ในทางของตัวเองอยู่ โดยเฉพาะเรื่องหางาน หาที่เรียน 

 

เน้า : คนเรามีจังหวะชีวิตของตัวเอง วันนี้อาจจะเฟล แต่ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ คนเราต้องมีความเชื่อ ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองรอรับกับโอกาสนั้น  “right time, right person, right job”   มองความเฟลให้เป็นเรื่องปกติตั้งรับอย่างมีสติ ท้อได้แต่ค้องไม่ถอย สนุกไปกับมันค่ะ

 

สำหรับน้องๆ ที่อยากรู้อะไรเพิ่มเติม เกี่ยวกับการหางาน ทำงาน ฝากคำถามมากับพี่จอมได้เลยค่ะ ยินดีไปหาคำตอบมาให้จ้า

จอม DA : วันนี้ได้ข้อคิดไปเยอะมากมากทั้งวิธีการเตรียมตัวและแนวคิดเลย ขอบคุณเน้ามากมากค่ะ โอกาสหน้าต้องชวนมาเล่า และแชร์เรื่องอื่นๆในสวีเดนอีก ขอบคุณมากมากค่ะ

 

ประวัติ

ชื่อ นวรัตน์ ยังสำราญ (เน้า)

ตอนนี้ทำงานเป็น Landscape Architect ที่บริษัท Tengbom บริษัทสถาปนิกสัญชาติสวีเดน

จบปริญญาโท ด้าน Urbanism Studies, KTH Stockholm โดยได้รับทุนจาก Ax-son Johnson Foundation ของประเทศสวีเดน จบปริญญาตรี ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นภูมิสถาปนิกให้กับ DP Architects Singapore และ บริษัท ฉมา จำกัด