5 ปีในสิงคโปร์ กับ 2 บริษัท : 8 ความเหมือน ความต่าง การปรับตัว และการเรียนรู้

วันนี้จะพาไปรู้จักและฟังเรื่องราว ประสบการณ์จาก ภูมิสถาปนิกไทยรุ่นใหม่ ที่ทำงานในประเทศสิงคโปร์ ที่กำลังพยายามก้าวผ่านความท้าทายในการทำงานสายวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมในต่างแดน

เค้า ชื่อ “เบนซ์”

จอมได้มีโอกาสรู้จัก เบนซ์ ตอนสมัยที่ทำงานอเมริกาแล้วกลับไปบรรยายที่คณะ และอาจารย์ได้แนะนำให้รู้จักน้องๆรุ่นใหม่ไฟแรงน่าจับตามองหลายคน เบนซ์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เค้านักออกแบบที่มีความตั้งใจ พยายาม อดทน และ รักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

วันนี้ เบนซ์ ได้ทำงานเป็นภูมิสถาปนิกมาได้ 5 ปีแล้ว และมีประสบการณ์มากมาย ที่น่าจะส่งต่อ และเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนได้ มารู้จักกับเบนซ์ และมาเอาใจช่วยกับการเดินทางในสายออกแบบของเค้ากันค่ะ


 

 

5 ปีในสิงคโปร์กับ 2บริษัท : 8 ความเหมือน ความต่าง การปรับตัว และการเรียนรู้

benz landscape architectชื่อเบนซ์ ครับ จบภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาฯตอนปี 2011 เล่าประวัติสักเล็กน้อย พอจบแล้วก็ทำงานอยู่กับอาจารย์ที่คณะประมาณครึ่งปีก่อนจะได้มาทำงานที่สิงคโปร์ ตั้งแต่ช่วงก่อนจะเรียนจบก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะหางานในบริษัทต่างประเทศทำเนื่องจากปัจจัยส่วนตัวหลายๆอย่าง หลักๆคือความจำเป็นในการเก็บเงิน นอกนั้นก็คือประสบการณ์ และการออกมาเผชิญโลกกว้าง

เรียนจบก็เลยเดินหน้าทำพอร์ท ซึ่งในตอนนั้นก็เริ่มทำงานไปด้วยแล้วเลยไม่ได้มีเวลาเต็มที่ ก็เลยทำไปได้อย่างช้าๆ ในขณะที่เพื่อนๆได้งานกันจนหมดแล้ว เราก็เพิ่งส่งพอร์ทไปได้แค่ประมาณครึ่งหนึ่งจากออฟฟิศที่เราตั้งใจไว้ว่าจะส่ง

ตอนนั้นเราก็ตั้งเป้าหมายไปไกลสุดก่อนเลยคือเริ่มจากอเมริกา แล้วก็ไล่มายุโรป ส่งไปก็มีตอบบ้างไม่ตอบบ้าง แต่ส่วนใหญ่ตอบกลับว่ายังไม่มีตำแหน่งหรือยังไม่ตรงกับตำแหน่งที่เขาเปิดรับ เพราะเราก็เพิ่งจบด้วย ยังไม่มีประสบการณ์

เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ตื่นเต้นมากที่สุดในช่วงนี้คือ วันหนึ่งให้หลังจากไล่ส่งอเมริกาไปนานแล้ว ได้รับจดหมายจ่าหน้าถึงตัวเอง ส่งมาจาก Hargreaves Associates บริษัทในฝันของคนชอบงาน Brownfield กับ Landform เลยนะ!! เปิดจดหมายคือใจเต้นมากกกก

จดหมายมีข้อความประมาณว่า“ขอบคุณที่สนใจในบริษัทของเราและที่ได้ส่งพอร์ทมา โชคไม่ดีที่ตอนนี้ยังไม่มีตำแหน่งว่าง แต่ทางเราจะเก็บพอร์ทของคุณไว้สำหรับรีวิว”

อ่านเสร็จแล้วตาเหลือขนาดเท่าจุด… 555แต่ก็เอาวะ อย่างน้อยก็เก็บพอร์ทไว้ก็ยังดี

พอส่งฝั่งไกลๆไปเยอะแล้วก็ไม่เป็นผล หมดแล้วก็เริ่มมาส่งที่เอเชียโดยเน้นที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ และ สุดท้ายก็ได้สัมภาษณ์กับเอคอม (AECOM) ทั้งสองที่ และเป็นสิงคโปร์ที่ตกลงรับผมเข้าไปทำงาน

ตอนได้งานก็ดีใจนะ เพราะเรารู้ว่าเอคอม(AECOM) เคยเป็น EDAW บริษัทภูมิสถาปัตยกรรมและการออกแบบเมืองที่มีชื่อเสียงจากอเมริกา ก็คิดว่าน่าจะได้อะไรดีๆจากที่นี่เยอะ เป็นการเริ่มชีวิตการทำงานที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียว

ทำงานมาเรื่อยๆ เผลอแป๊บเดียวก็อยู่สิงคโปร์มาเกือบสี่ปี พอเดือนกันยายน 2015 ก็ตัดสินใจย้ายไป Grant Associates (เขาออกเสียงแบบอังกฤษกันว่า “กร๊านท์”)

ย้ายจากออฟฟิศขนาดใหญ่มาออฟฟิศขนาดเล็กที่มีอยู่ไม่ถึงสิบคน ก็ย่อมต้องมีความแตกต่างกัน นอกเหนือจากวัฒนธรรมการทำงาน ระบบที่แตกต่างกันแล้ว ก็ยังมีลักษณะของโครงการ และ Approach ของการดีไซน์ที่แตกต่างกันด้วย วันนี้เลยสรุปมา 8 หัวข้อให้พี่ๆเพื่อนๆน้องๆได้อ่านกัน เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกงานและเข้าใจภาพรวมของการทำงานในบริษัทในมิติต่างๆได้ดีขึ้น

1. ขนาดและระบบของออฟฟิศมีผลต่อระบบการทำงาน

ออฟฟิศเล็ก เปอร์เซนต์ภาระความรับผิดชอบต่อคนมากขึ้น มีแนวโน้มจะได้เรียนรู้งานเร็วขึ้น

ออฟฟิศใหญ่ งานเป็นระบบ ค่อยเป็นค่อยไป ได้ฝึกฝนสกิลในด้านต่างๆ ประสานงานกับคนในออฟฟิศมากกว่า

ข้อแรกนี้ยาวหน่อย ขอเล่าลักษณะของออฟฟิศนิดนึง

เอคอมที่สิงคโปร์เป็นบริษัทใหญ่ครับ แผนกดีไซน์มีอยู่ประมาณห้าสิบคน ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแลนด์สเคปและมาสเตอร์แปลนนิ่งอย่างละประมาณครึ่งๆ นอกจากนั้นยังประกอบไปด้วยฝ่ายเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเล็กๆอีกด้วย โดยในแลนด์สเคปเองมีการแบ่งงานออกเป็นทีม แต่ละทีมมีซีเนียร์คอยดูแลหนึ่งคน เราจะทำงานซัพพอร์ทส่วนเล็กส่วนน้อยที่ประกอบขึ้นเป็นโปรเจกต์ และเรียนรู้งานอย่างค่อยเป็นค่อยไป

วันแรกเข้าไปก็มีแนะแนวพนักงานใหม่ครึ่งวัน ที่เหลือก็ นั่งอ่านรายงานสรุปประกวดแบบของห้าทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้งวัน วันต่อมานั่งอ่านและฝึก InDesign ทั้งวัน ส่วนวันถัดไปก็ถูกส่งไปช่วยงานทีมอื่น ซัพพอร์ทในเรื่องของ Production งัดสกิล Photoshop, Illustrator และ InDesign ที่เพิ่งเรียนเองมาหนึ่งวันออกมาใช้อย่างเต็มที่ มาอาทิตย์แรกก็โดนรับน้องเลยด้วยการที่ต้องอยู่ช่วยงานถึงตีสี่ 555

ทีมแลนด์สเคปของเอคอมสิงคโปร์ รูป : ทีมแลนด์สเคปของเอคอมสิงคโปร์ ถ่ายเมื่อปี 2014

ทั้งนี้ การได้จับงานของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป แต่สำหรับผมแล้ว ผมได้จับช่วง Concept ถึง Schematic Design (หรือขั้นพัฒนาแบบพรีเซนท์ก่อนเขียนแบบดีเทล) อยู่ประมาณสองปีเต็มๆ ระหว่างนี้ก็ทำทุกอย่างตั้งแต่ดีไซน์ คิดคอนเซปต์ ทำรายงานการออกแบบ ทำพรีเซนเทชั่น ลงสี แปลน ตีป ตัด ทำไดอะแกรม และได้ดราฟดีเทลจริงๆจังๆบ้างเล็กน้อย เรียกว่าเริ่มจากพื้นฐานกันเลยทีเดียว ก่อนจะค่อยๆได้เริ่มทำ Coordination ติดต่อกับ Supplier และตอบโต้อีเมล์หาลูกค้ากับทีมดีไซน์ในปีถัดไป ซึ่งรวมถึงการไปประชุมกับทีมดีไซน์ที่มาเลเซียอยู่เป็นประจำ และการได้พัฒนาแบบดีเทลจริงๆจังๆก่อนไปสู่ขั้นประมูลราคา

พอย้ายมากร๊านท์ สภาพแวดล้อมที่กว้างใหญ่ก็หดตัวครับในบริษัทมีอยู่ประมาณสิบคน ไม่มีทีม ครอบครัวมากๆ 55

คนนึงอาจจะทำงานซัพพอร์ทซีเนียร์หลายงานและหลายคนในเวลาเดียวกัน เข้ามาถึงวันแรกก็เจอทำเกรดดิ้งเลยครับ ตัดคอนทัวร์ คิดระบบระบายน้ำ แล้วชีวิตก็วนเวียนอยู่กับมัน กับออโต้แคด กับแบบดีเทลอยู่ตลอดครับ

โดยระบบจะคล้ายกันตรงที่ คนนึงทำทุกอย่าง แต่เนื่องจากออฟฟิศมีขนาดเล็ก กำลังคนน้อย โปรเจกต์หนึ่งก็เสมือนว่าคนนึงทำไปเลย ความเข้มข้นของงานจะเยอะกว่าที่เอคอมอีกประมาณครึ่งถึงหนึ่งเท่า ทีนี้ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ทำหลายอย่างได้มากขึ้นในหนึ่งๆวัน และจัดการ Priority ของงานแบบจริงจังครับเพราะมันไม่ง่ายที่เราจะสามารถขอใครมาช่วยเราทำได้

รูป : ขนาดออฟฟิศของกร๊านท์ เป็นออฟฟิศอื่นไปซะสองคน เป็นธุรการไปซะอีกหนึ่ง อีกหนึ่งมาชั่วคราวจากอังกฤษ อีกหนึ่งออกไปแล้ว 555

ซึ่งตอนที่เขียนบทความนี้ก็กำลังเข้าสู่เดือนที่หกแล้วครับ ปริมาณงานที่ได้ทำเรียกว่าค่อนข้างอัดแน่นกว่าที่เอคอม และได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเช่นกัน อันนี้นอกจากเพราะขนาดของออฟฟิศที่มีผลต่อการแบ่งงานแล้ว ยังเป็นเพราะเนื่องจากเรามีประสบการณ์ประมาณหนึ่ง ประกอบกับการได้เข้ามาทำในขั้นดีเทล ประมูลราคา ก่อนจะก่อสร้างด้วยครับ

สรุปนะครับ

  • ขนาดของออฟฟิศ ออฟฟิศเล็ก มีคนน้อย ภาระความรับผิดชอบของเราจะมากขึ้น นอกจากทำงานโปรดักชั่นเล็กๆแล้วยังต้องทำดีไซน์ควบคู่ไปกับ Coordination ซึ่งจะได้เริ่มทำเร็วกว่าในออฟฟิศใหญ่ ส่วนในออฟฟิศใหญ่ เราอาจจะได้ทำงานในโปรเจกต์ที่ใหญ่กว่าที่มีการ Coordination กับหลายทีมในออฟฟิศเอง และประกวดแบบในสเกลที่ใหญ่กว่า เขาว่ากันว่า ไปออฟฟิศใหญ่ให้เรียนรู้ระบบ ไปออฟฟิศเล็กให้เรียนรู้ Passion นะครับ
  • โปรเจกต์ของออฟฟิศ ถ้าเป็นโปรเจกต์ในสิงคโปร์เอง จะมีโอกาสในเรื่องของการไปประชุม ติดต่อกับ Supplier และดูไซท์มากกว่า หากโปรเจกต์อยู่ที่ต่างประเทศเราจะมีโอกาสในเรื่องเหล่านี้น้อยกว่าแต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย เพียงแต่จะเน้นหนักไปทางการประชุมทางไกล การพรีเซนท์งานและคุยกับลูกค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งสองแบบจำเป็นต้องใช้สกิลการอ่าน ทำความเข้าใจ เขียน และตอบสนองต่อคอมเม้นต์ทางอีเมล์ค่อนข้างเข้มข้นครับ
  • Stage ของProject เรามักจะได้ทำงานที่เกี่ยวกับ illustration มากกว่า documentation ในเริ่มแรก ถ้าเป็นออฟฟิศที่ทำโปรเจกต์ในสิงคโปร์โอกาสในการขยายขอบเขตความรู้ไปในเรื่อง documentation และ construction จะเยอะกว่าและเร็วกว่า และมีโอกาสได้เห็นงานสร้างจริงเร็วกว่า

benz short note รูป : ไม่ว่าจะตอนเรียนหรือทำงาน การ Short Note และมีสมาธิเป็นสิ่งสำคัญมาก เวลาเราอยู่ในห้องประชุมที่มีคนมากมาย หลายสาขา เราจะต้องฟัง (บางทีด้วยสำเนียงที่ฟังยาก มากกก) แล้วสรุปจับใจความ หรือวาดรูปเพื่อจับสาระสำคัญและให้เรากลับมาอ่านแล้วเข้าใจตัวเองได้ การมีสมุดโน้ตไว้เสมอเวลาทำงานเป็นเรื่องดีครับ

2. ประเภทหรือขั้น(สเตจ)และที่ตั้งของโปรเจกต์ที่ได้ทำมีผลต่อการเรียนรู้

โปรเจกต์ที่เน้นคอนเซปต์หรือความคิด แตกต่างจากโปรเจกต์ที่เน้น Practicality และการก่อสร้างอย่างไร

อย่างที่เล่าไปในหัวข้อที่แล้ว สเตจของงานที่ได้ทำ มีผลต่อสิ่งที่เราเรียนรู้ ถ้าเราได้ทำช่วงประกวดแบบ คอนเซปต์หรือ Schematic เราก็จะได้สเกตช์ คิด ลงสี และจัดเพลทอย่างเป็นบ้าเป็นหลังครับ วันนึงเราอาจจะต้องลงสีเปอร์สเปคตีปถึงสามสี่รูป เรียนรู้สแตนดาร์ดของออฟฟิศ การลงสีอย่างไรให้เร็วและสวย การจัดการเลเยอร์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสะสมได้ในระหว่างการทำงานในสเตจนี้ครับ

พอทำงานในสเตจนี้แล้ว สเตจต่อไปที่จะต่อยอดการจะเรียนรู้งานให้ครบถ้วนก็คือการทำ Documentation นี่แหละครับ จริงๆ Documentation ก็คือการทำแพคเกจเขียนแบบดีเทลที่มีรายละเอียดมากกว่าการลงสี เตรียมแบบเพื่อไปเป็นแบบสำหรับประเมินราคาและก่อสร้าง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการออกแบบมากขึ้น ประมาณว่า ออกแบบมาเฟี้ยวมาก สร้างไงวะเนี่ย คิดสิคิด!! ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องมีการให้ไดเมนชั่น วัสดุ การประกอบ ติดตั้ง ขององค์ประกอบที่เราออกแบบมาอย่างพอสมควร มีการติดต่อกับ Supplier ของวัสดุและโปรดักต์ชนิดต่างๆที่มีจุดมุ่งหมายคือการทำให้ลายเส้นในกระดาษออกมาเป็นความจริงให้ได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ พื้นหินแกรนิตต่อกับพื้นคอนกรีตอย่างไร บันไดลูกตั้งลูกนอนเท่าไหร่มีเซาะร่องมั้ย วัสดุอะไร ผนัง ศาลา ฉากกั้น สร้างยังไง หน้าตาแบบไหน สระน้ำ รางระบายน้ำ ราวจับ โครงสร้างเป็นอย่างไร หลุมปลูกขนาดเท่าไหร่ ต้นไม้บนหลังคา ผนังเขียว ใช้อะไร เก้าอี้สูงเท่าไหร่ ฯลฯ รวมถึงสิ่งใดต้องอ้างอิงจากแบบของสถาปนิก หรือวิศวกร สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างกลุ่มเล็กๆในการทำ Documentation ของโปรเจกต์แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องคิดทั้งหมดครับ

singapore ทำงาน สถาปัตย์ รูป : ตัวอย่างแบบรายละเอียดส่วนหนึ่งขององค์ประกอบในงาน

สเตจการก่อสร้าง (อันนี้ส่วนตัวยังไม่เคย Supervise การก่อสร้างหรือตรวจงาน) แต่จากที่ทราบคือนอกจากการดูแลควบคุมคุณภาพให้งานออกมาเป็นอย่างที่เราออกแบบแล้ว ยังเป็นการเช็คแบบของตัวเองทางอ้อม และในหลายๆทียังเป็นการใช้ความสามารถในการตัดสินใจเฉพาะหน้าสำหรับปัญหาหน้างาน ที่สุดท้ายแล้วจะทำให้เราตรวจสอบตัวเองและเป็นหนทางสู่การพัฒนาแบบที่ดีขึ้นในอนาคตครับ

3. โปรเจกต์ขนาดเล็กไม่ได้หมายความว่างานจะน้อย

โปรเจกต์ขนาดเล็ก เช่น บ้าน ยิ่งสเกลเล็ก หมายความว่าดีเทลเยอะ ยิ่งต้องคิดละเอียด – Customisation vs. Typicality in design

โปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่พูดถึงก็อย่างเช่น สวนสาธารณะ พื้นที่ริมน้ำ พื้นที่ในเมือง Streetscape ของเมือง โปรเจกต์เหล่านี้นอกจากเรื่องดีไซน์ที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาของพื้นที่แล้ว เรายังต้องคำนึงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของงาน ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีการออกแบบที่เป็น Typical Design เพื่อส่งเสริมภาพรวมที่จับต้องได้ง่ายและไม่ตกแต่งจนเกินความพอดี รวมถึงความสะดวกในการประยุกต์ใช้กับพื้นที่ต่างๆและการก่อสร้าง เช่น การแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซน แต่ละโซนมีลักษณะทางกายภาพของตัวเองที่กำหนดลักษณะขององค์ประกอบภายในโซนนั้นๆ เช่น บันไดหรือทางลาดในโซนนี้ ใช้วัสดุเดียวกัน ความลาดเดียวกัน ราวจับแบบเดียวกัน ที่นั่งเป็นแบบเดียวกัน ต้นไม้หรือพืชพันธุ์เป็นกลุ่มเดียวกัน โปรเจกต์เหล่านี้จะมักจะใช้เวลาและพลังงานในการคิดเยอะในการออกแบบขั้นแรกๆเพื่อสร้างมาตรฐานของโปรเจกต์ขึ้น

ส่วนโปรเจกต์ขนาดเล็ก อาจจะเป็น สวนบ้าน สวนขนาดเล็กๆในหมู่บ้าน หรือพื้นที่ในเมืองขนาดเล็ก ซึ่งพอพื้นที่มีขนาดเล็ก ความใกล้ชิดของการใช้งานของคนจะชัดเจนมากขึ้น เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และคิดถึงรายละเอียดของการออกแบบมากขึ้น สามารถ Customise รายละเอียดได้มากขึ้น ยกตัวอย่างสิ่งที่ต้องคิด เช่น ขอบกำแพงมีบัวมั้ย ขนาดเท่าไหร่ พืชพันธุ์จะคละชนิดขนาดไหน ไม้ประดับเยอะขนาดไหน จัดอย่างไร รั้วจะมีช่องว่างเท่าไหร่ ระบบการเปิดปิดเป็นอย่างไร การใช้งานภายใต้ศาลาจะเป็นอย่างไร งานระบบเป็นอย่างไร ปลั๊กไฟอยู่ที่ไหน กล่องจดหมายติดตรงไหน ถังขยะหน้าบ้าน ซ่อนยังไง อยู่ตรงไหน เอาออกมาทิ้งอย่างไร สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องคิดทั้งหมดในงานสเกลเล็ก โดยจะมีกรอบความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่หลวมกว่า และมีลูกเล่นและรายละเอียดพิเศษได้มากกว่างานในสเกลใหญ่

 

4. ต้องดีไซน์เก่งสุดๆ วาดรูปเก่งสุดๆเท่านั้นถึงจะไปได้ไกล (Skillsets ของเรากับหน้าที่ในออฟฟิศ)

จริงๆก็ไม่เสมอไป คนที่วาดรูปไม่เก่งก็สามารถก้าวหน้าในงานได้เช่นเดียวกัน เพราะการทำงานจริงๆ involve สกิลมากกว่าแค่การวาดรูปเก่งเยอะ อาทิ สกิลการออกแบบ (ที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ ความ Make sense มากกว่าการวาดฟอร์มสวยๆ) สกิลการติดต่อสื่อสาร การจับใจความและสรุป การจัดการ การวางแผนงาน รวมถึงความยืดหยุ่นในการจับงาน ทักษะการใช้โปรแกรม เป็นต้น การวาดรูปเก่ง เป็นเสมือนตัวช่วยหนึ่งในการสื่อสารแบบ สื่อสารความคิด มีส่วนช่วยทำให้งานดูดีมากขึ้นและทดสอบไอเดียได้ดีและเร็วมากขึ้นในหลายกรณี แต่เราสามารถอุดช่องว่างเหล่านี้ด้วยความสามารถในการดร๊าฟแคด ลงสี และขึ้นโมเดลสามมิติ เขามักจะพูดกันง่ายๆว่าสถาปนิกมีอยู่สองสาย สายดีไซน์ กับสายแมเนจ (จัดการ) ซึ่งเราทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะให้ความสำคัญกับสายไหนมากกว่า แต่ต้องอย่าลืมว่า การออกแบบกับการจัดการมักจะมาควบคู่กัน เพราะฉะนั้น เราจึงควรฝึกฝนความสามารถทั้งสองด้านไปด้วยกันและไม่ละทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง

Hand Sketch

Montage รูป : การสเกตช์เพื่อเล่าความคิดและไอเดียในการออกแบบของส่วนต่างๆ เป็นเครื่องมือที่ได้ผลและทำให้เห็นภาพ สามารถใช้ประกอบกับการทำภาพตัดแปะ Montage เร็วๆเพื่อทำให้เล่าเรื่องราวให้คนเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น วิธีนี้ยังใช้ได้ดีทั้งตอนเรียนและตอนทำงาน

5. การปรับตัว สภาพสังคม ออฟฟิศใหญ่วุ่นวาย ออฟฟิศเล็กเงียบเหงา จริงเหรอ?

ได้ประโยชน์อะไรจากออฟฟิศใหญ่ กิจกรรม เพื่อนต่างชาติ

ออฟฟิศขนาดใหญ่ที่เราพูดถึงคือ ออฟฟิศที่มีคนมากกว่ายี่สิบคนขึ้นไป หรือ สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายทีมทีมละหลายคน หรือมีฝ่ายอื่น (ทั้งที่เราข้องเกี่ยวในการทำงานหรือไม่ก็ตาม) รวมอยู่ด้วย ออฟฟิศเหล่านี้มักจะมีระบบที่ชัดเจน มีสวัสดิการที่ครอบคลุม และสนับสนุนกิจกรรมหลายๆอย่างนอกเหนือจากงานมากกว่าออฟฟิศเล็ก ทุกอย่างจะถูก formalise ให้กลายเป็นกิจกรรมประจำออฟฟิศ ยกตัวอย่างเช่น ตอนทำงานอยู่ที่เอคอม มีการจัดงานตรุษจีน การแจกอั่งเปา มีกลุ่มตีแบด ไปแข่งแบดกับออฟฟิศอื่นนอกสถานที่ กลุ่มพายเรือ กลุ่มปั่นจักรยาน มีงานเลี้ยงบริษัทประจำปี มีกิจกรรม Teambuilding นอกสถานที่ รวมถึงกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคมเช่น เก็บขยะริมชายหาด เป็นต้น

ออฟฟิศแบบนี้หากได้เข้าไปอยู่ แนะนำว่าให้เข้าร่วมกิจกรรมถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงและมีเวลา เนื่องจากการไปร่วมกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เรารู้จักคนได้มากขึ้น และเรียนรู้สภาพสังคมและวัฒนธรรมของเพื่อนร่วมงานหลากหลายชาติเพิ่มขึ้นได้จริงๆ ซึ่งสิ่งที่ได้เล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึก Belong กับสถานที่นั้นๆและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น

ตัดภาพมาที่ออฟฟิศเล็ก หลายๆอย่างค่อนข้างจะปัจเจก เนื่องจากแต่ละคนก็จะมีสิ่งที่สนใจต่างกันไปแต่ไม่มีกำลังคนที่จะรวมกลุ่มขนาดใหญ่ได้ แต่ข้อดีของสภาพแวดล้อมขนาดเล็ก ทำให้มีโอกาสเรียนรู้กิจกรรมของแต่ละคนได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ในแง่ของงาน บริษัทเล็กมักจะมีการตรวจงานที่ละเอียดมากกว่าและทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากกว่า

วันตรุษจีนที่เอคอม รูป : งานเลี้ยงอาหารวันตรุษจีนที่เอคอม นี่แค่เสี้ยวเดียวของคนทั้งออฟฟิศครับ เยอะจนน่ากลัวปะหละ เอคอมเมื่อผนวกรวม EDAW เข้ามาแล้วก็มีความเป็น Corporate สูงขึ้นครับเพราะทุกฝ่ายใช้ระบบการจัดการเดียวกัน ข้อดีคือมีมาตรฐานชัดเจนแต่ข้อเสียก็คือขาดความยืดหยุ่นในการทำงานที่อาจจะเฉพาะเจาะจงกับแต่ละสาขาวิชาชีพ

6. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้…. คอมเม้นต์ตรงๆจากเจ้านาย การทำงานต่อจากสาขาวิชาชีพอื่น คอมเม้นต์จากเจ้านายและลูกค้าในเวลาใกล้ส่งงาน

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ (ไม่บ่อย) ในสาขาวิชาชีพนี้ ประมาณว่า ทำมาจนใกล้จะเสร็จละ อยู่ดีๆไม่อยากได้แบบนี้ละ มีไอเดียใหม่ ลูกค้าอยากให้ทำเพิ่ม อยากให้เปลี่ยน ที่บางทีการขยับเล็กๆน้อยๆของลูกค้าหรือเจ้านายเท่ากับการแก้อันยิ่งใหญ่และมหาศาลของเรา

หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือไม่โวยวายหรือร้อนรน เพราะการทำแบบนั้นยิ่งทำให้เสียเวลาในการแก้ปัญหาและทำงานได้ช้าขึ้น สิ่งที่ควรทำคือ ใจเย็น แล้ววางแผนดูปริมาณสิ่งที่ต้องแก้ ทำอะไรก่อนหลัง แล้วปรึกษากับเจ้านายหรือซีเนียร์ว่าตัวเองเห็นว่าแบบนี้ สิ่งนี้ทำทันหรือสิ่งไหนควรตัด เราสามารถขอความคิดเห็นได้จากเขาได้เพื่อทำให้งานมีประสิทธิภาพและส่งทันตามกำหนด

การทำงานต่อจากสาขาวิชาชีพอื่นก็ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เช่นเดียวกัน ปัญหาที่เจอนั้นก็มีตั้งแต่ส่งงานให้เราเลท ทำงานไม่ครบ ไฟล์มีปัญหา ทางแก้? เหมือนข้างบนครับ ใจเย็น วางแผน ดูความจำเป็นในการแก้ และปรึกษาเจ้านาย

7. รู้จัก Say No และประเมินตนเอง

ไม่ว่าจะอยู่ในออฟฟิศใหญ่หรือเล็ก เวลาที่เราทำงาน เราจะถูกผลักให้ทำงานเกินขีดความสามารถของตนเองอยู่เสมอๆ ทั้งจากปริมาณงานที่มากในเวลาที่จำกัด งานที่ไม่เคยทำ การแก้ดีไซน์จากเจ้านาย หรือคอมเมนต์จากลูกค้าก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและทำให้เราพัฒนาตนเองได้เร็ว และเป็นลักษณะของคนไทยที่เจ้านายมักจะชอบ ประมาณว่าสั่งอะไรก็ทำ จนหลายๆครั้งเราต้องอยู่ข้ามคืน หรือไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามเป้าได้

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักที่จะประเมินตนเองว่าเราสามารถทำได้ทันจริงหรือไม่ ในช่วงแรกๆที่เพิ่งเริ่มทำงาน เราอาจจะไม่สามารถกะได้นัก แต่พอทำงานไปสักพักเราจะค่อยๆรู้ว่างานประมาณนี้ ต้องใช้เวลาประมาณไหน หากสิ่งที่เจ้านายบอกให้ทำ เราเล็งเห็นว่าเราไม่สามารถทำได้ทันทั้งหมด เราก็ไม่ควรตอบรับและปล่อยเงียบ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการจัดการปริมาณงาน เราควรพิจารณาตามจริงและแจ้งให้เจ้านายทราบ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อทีมที่เราทำงานด้วยอย่างหนึ่งครับ

8. จริงเหรอที่ “เรียนแล้วไม่รุ่งก็หมดโอกาสไปต่อ” หรือ “ตอนเรียนไม่ตั้งใจไม่เป็นไรทำงานก็เหมือนเริ่มใหม่”

คือสองประโยคนี้มันสัมพันธ์กันอยู่ในหลายๆแง่ แต่ที่อยากจะบอกเลยคือ การเรียนไม่รุ่ง ไม่ควรเป็นข้ออ้างในการไม่ตั้งใจเรียนนะครับ จริงที่เวลาสมัครงานเราไม่ต้องยื่นเกรด แต่การสะสมพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ และการต่อยอดจากพื้นฐานที่มีเป็นเรื่องดี สิ่งใดก็ตามที่เราเรียนมา เราจะได้เอามาประยุกต์ใช้ในตอนทำงาน โดยที่เราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ (ในชีวิตการทำงานมีหลายสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เริ่มจากศูนย์อยู่อีกเยอะครับ) ฟันธงเลยว่าคนเรียนไม่เก่งไม่ได้หมายความว่าทำงานไม่ได้ครับ

lecture สมัยเรียน 1lecture สมัยเรียน 2 รูป : เลคเชอร์สมัยเรียนที่บางทีก็ยังเอามาเปิดอ่านเวลาสงสัยตอนทำงาน พออ่านจากเลคเชอร์ที่ข้อมูลไม่อัพเดท เราก็จะเริ่มสงสัยละว่ามีอะไรมากกว่านี้มั้ย หรือมีวิธีอะไรใหม่ๆในปัจจุบันที่คนเขาทำกันแล้วได้ผลเหมือนกันมั้ย เป็นการต่อยอดและเก็บสะสมความรู้ไปเรื่อยๆ

ตอนทำงาน นอกเหนือจากความจำเป็นเรื่องปากท้องนะครับ สิ่งที่จะนำพาเราไปได้ตลอดรอดฝั่งก็คือ Passion, Attitude, Perseverance และ Balance ครับ (ความหลงใหลในงาน ทัศนคติที่ดี ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และความสมดุล)

“ความหลงใหลในงาน” คือความรู้สึกที่อยากจะทำให้งานออกมาดี ความรู้สึกอยากพัฒนาตนเองที่จะพัฒนางานที่เราทำ

“ทัศนคติที่ดี” คือการเปิดใจยอมรับคอมเม้นต์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ความเข้าใจในปัญหาและแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง

“ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค” คือความอดทนและมุมานะในการแก้ปัญหาเหล่าๆนั้น

ส่วน “ความสมดุล” ข้อนี้สำคัญมาก คือการไม่ push ตัวเองจนเกินกำลังอยู่ตลอดเวลาจนตกอยู่ในสภาวะเครียดหรือป่วย งานต้องทำให้เสร็จ แต่ชีวิตเราก็ต้อง maintain ครับ การรักษาสมดุลในการทำงานกับปล่อยให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้างจะทำให้เรามีความสุขกับงานได้มากขึ้นและนานขึ้นครับ