เทรน – ทุน -โท – สถาปัตย์ กับ เอ ศุภาศัย

วันนี้จอมจะพามาจับประเด็นเรื่อง การชิงทุนมาเรียนโทสถาปัตย์ทั้งสาย Design และ สาย History and Theory กับ เอ ศุภาศัย วงศ์กุลพิศาล

เคยสงสัยไหมคะ…

ว่าสถาปัตย์สาย History and Theory มันมีความสำคัญอย่างไรกับการพัฒนา Design? แล้วต้องเรียนเหมือนกับสาย Design รึเปล่า?บรรยากาศเวลาเรียนเป็นยังไง?

และการคว้าทุนมาเรียนต่อต่างประเทศ ที่อเมริกา ได้ มันต้องมีอะไรบ้าง ที่นำพาเรามาสู่จุดนั้น ยากง่ายแค่ไหน

วันนี้คำถามเหล่านี้จะถูกตอบ ด้วยเรื่องราว ประสบการณ์ จาก เอ สถาปนิกสาวจากรั้วศิลปากร ที่คว้าทุน Fulbright มาต่อปริญญาโทสถาปัตย์ใบแรกที่ Austin,Texas แต่สถาปนิกสาวคนนี้ไม่หยุดนิ่ง คว้าทุนรอบ 2 มาต่อโท-เอก สถาปัตย์ที่ Seattle! อะไรมันจะขนาดนั้น!!

เราไปคุยกับ เอ ศุภาศัย วงศ์กุลพิศาล กันเลยค่ะ!!

 

 

สวัสดีค่ะ แนะนำตัวหน่อย ตอนนี้ทำอะไรอยู่

ชื่อ เอ ศุภาศัย วงศ์กุลพิศาล คะ ตอนนี้กำลังทำทีสิสเทอมสุดท้ายของ MS. in Architecture in History and Theory program ที่ University of Washington, Seattle คะ ซึ่งเอจะเข้าเรียนโปรแกรมปริญญาเอกในสาขาวิชาเดียวกันคือ History, Theory, and Representation โดยจะเริ่มเรียนปีการศึกษาหน้าคือเทอมถัดจากนี้คะ

เห็นว่ากำลังเรียน ป.โท ใบที่สอง ทำไมถึงตัดสินใจเรียนใบที่สอง มันต่างกันยังไง?

ปริญญาโทใบแรก เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ Architectural Design ซึ่งเอเรียนจบจากที่ The University of Texas at Austin ส่วนปริญญาโทใบที่สองนี้เป็นพื้นฐานเพื่อนำเข้าสู่ปริญญาเอก เอาจริงๆ คือตอนก่อนมาเรียนโทใบแรก เราทำการศึกษามาน้อยประกอบกับความไม่เชื่อมั่นว่าภาษาอังกฤษเราดีพอที่จะเรียน History and Theory ในทันทีเพราะโปรแกรมนี้จะต้องอาศัยการเขียน paper เป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ เราเลยตัดสินใจเรียนไปโปรแกรม Design ก่อนเพราะคิดว่าอย่างน้อยถึงภาษาเราไม่ดี ดีไซน์เราก็น่าจะพอเอาตัวรอดได้ เอาตามความเป็นจริง เหตุผลก็น่าจะเหมือนเด็กไทยทั่วๆ ไปคือจบปริญญาตรีแล้วก็อยากไปเรียนปริญญาโทเมืองนอกในทันที แต่ตอนก่อนจะมาเรียนนั้นไม่ได้คิดอย่างจริงจังซะด้วยซ้ำว่าจะเรียนจบโทแล้วจะเอามันไปทำอะไรต่อ มันทำให้เสียเวลาหลายปีเดินอ้อมไปหลายจุดกว่าจะเจอจุดมุ่งหมายว่าจริงๆ แล้วตัวเองเหมาะแก่การเป็นอาจารย์มากกว่าทำงานในออฟฟิศค่ะ

เรื่องความแตกต่างระหว่างปริญญาโทใบแรกและใบที่สอง

ปริญญาโทใบแรกเป็น Architectural Design เน้นการให้ความรู้สำหรับ Post-professional คือคนที่มีประสบการณ์ทำงานในด้านสถาปัตยกรรมมาบ้างแล้วและอยากหาความรู้เพิ่มเติมด้านดีไซน์เพื่อไปพัฒนาอะไรใหม่ๆ สรุปง่ายๆ ก็คือเรียนแบบ practical ลงมือทำสตูดิโอเหมือนตอนปริญญาตรี อาจจะมีแตกต่างไปบ้างตรงที่ได้เรียน Theory ที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าตอนที่อยู่เมืองไทยปริญญาโทใบที่สองเป็น History and Theory ต่างจากใบแรกโดยสิ้นเชิง ต่างกันจนเล่นเอาแทบกระอักเลือดเหมือนกัน เพราะส่วนที่เน้นเป็นหลักคือการทำ research เพื่อเสิร์ชหา theory ใหม่ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการสถาปัตยกรรม การเขียน theory ทำให้ต้องเรียนการประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอย่างเดียว แต่เป็นสภาพเศรษฐกิจ การเมือง วิธีการ การทำความเข้าใจหลักปรัชญา (Philosophy) และนำมาเชื่อมโยงกันกับสถาปัตยกรรม จากการได้พูดคุยกับอาจารย์ตอนสอบสัมภาษณ์ที่อเมริกาแล้ว ก็พอจะทราบว่าเนื่องจากปริญญาโทใบแรกไม่ได้เรียนการทำ research เลย เขาจึงส่งให้มาเรียนปริญญาโทใบที่สองคือใบนี้ก่อนค่ะ

ความคาดหวังจากการเรียนต่อครั้งนี้?

ความคาดหวังจากการเรียนครั้งนี้ก็คือ ถ้าความคาดหวังระยะยาว (long-termed goal) ก็หวังว่าจะเอาความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาประเทศไทย สอนเด็กๆ ให้เข้าใจ history and theory ที่น่าเบื่อหน่ายให้เรียนให้สนุกให้จงได้ค่ะ เพราะถ้าเขารักเขาชอบเขาก็จะทำงานสถาปัตยกรรมได้ออกมาดี มีเนื้อหาที่หนักแน่นมากกว่าการทำตามเทรนด์ช่วงนั้นไปวันๆ ผลลัพธ์มันก็จะตกอยู่ที่บ้านเมืองของเราใช่ไหมคะ ส่วนความคาดหวังระยะสั้น (short-termed goal) ก็คือการเรียนให้จบปริญญาเอกค่ะ ฟังดูสั้นแต่ที่จริงต้องผ่านบททดสอบหลายๆ อย่างไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ คือทำยังไงก็ได้ให้ตื่นมาแล้วมีความรู้สึกอยากเขียนทุกวัน ลงมือเขียนมีผลงานออกมาได้ทุกๆ วัน ทำยังไงก็ได้ให้กินข้าวและตื่นนอนเป็นเวลา มีเวลาออกกำลังกายด้วย ทำงานอย่างเป็นระบบ ดูแลสมองให้ไม่เครียดไม่เบลอเวลาเขียนหนังสือคะ แค่นี้ก็ยากแล้วค่ะ ฮาฮา

เตรียมตัวสมัครเข้าเรียนยังไง?

สำหรับการเรียนปริญญาโทใบแรก เอโชคดีได้รับโอกาสจากทุน Fulbright (www.fulbrightthai.org) ซึ่งเป็นทุนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาเพื่อไปเรียนต่อค่ะ รายละเอียดสามารถดูได้จากเว็บไซต์ฟุลไบร์ทหรือใน pantip.com ก็มีพี่ๆ น้องๆ ทุนเดียวกันเคย review ไปบ้างแล้ว รายละเอียดของทุนฟุลไบร์ทนั้นจะต้องเริ่มจากการสมัครทุนก่อนเพื่อแจ้งความจำนงค์ในสาขาวิชาที่จะไปศึกษาต่อก่อนค่ะ ถ้าผ่านแล้วถึงจะสมัครมหาวิทยาลัยที่อยากไปเรียนได้และจะได้ไปเรียนในปีถัดไป ดังนั้นควรจะวางแผนเรื่องระยะเวลาการสมัครดีๆ

ส่วนการเรียนปริญญาโท-เอกใบที่สองนั้น ก็แตกต่างจากปริญญาใบแรกเป็นอย่างมาก เพราะเน้นการทำ research อย่างเดียว ดังนั้นวิธีการเขียน SOP (Statemet of Purpose) จึงต่างจากการสมัครปริญญาโทสาขา design เป็นอย่างมาก เพราะต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าอยากจะทำ research เรื่องอะไร ต้องท่องเว็บไซต์ของโรงเรียนต่างๆ เพื่อเสาะหาอาจารย์ที่ถนัดในเรื่อง research ที่เราจะทำ การ e-mail พูดคุยทำความรู้จักกับอาจารย์ที่เราอยากเรียนด้วยก่อนส่งใบสมัครไปที่โรงเรียนนั้น การที่เราจะต้องรู้ว่า research ที่เราจะทำนั้นเคยมีคนทำหรือยัง (แปลว่าต้องเคยอ่านงานวิจัยของคนอื่นมาบ้างแล้ว) เรามีความรู้พื้นฐานอะไรบ้างแล้วทำต่อยอดจากเดิมได้ไหม สิ่งเราทำจะเกิดประโยชน์กับใครมากน้อยยังไง รวมไปถึงเนื้อหาข้อมูล research ที่เราจะทำเป็นที่ต้องการและเหมาะสมกับแนวความคิดของโรงเรียนไหนมากกว่ากัน คืออย่างที่อเมริกาเอง แต่ละโรงเรียนเขาจะมี approach ของเขา เรื่องที่เขา hi-light ให้ความสนใจก็จะไม่เหมือนกัน ก็เรียกได้ว่าต้องหาที่ๆ เหมาะสมกับเราจริงๆ แล้วก็ไปบาลานซ์เรื่องอื่นๆ เอา เช่น ชื่อเสียงของโรงเรียน จำนวนเงินทุนที่ให้ ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายของเมืองที่อยู่ สภาพอากาศ บรรยากาศ ฯลฯ

เตรียมตัวสมัครขอทุนอย่างไร ยาก-ง่ายแค่ไหน

สำหรับทุน Fulbright ของเอเป็นประเภท ​Open-Competition scholarship สมัยเอจะทุนให้เปล่า คือเขาให้ปีละ 9-11 ทุนค่ะ คือเป็นตัวจริง 7 คนที่ได้ทุนเต็มจำนวน 2 คนได้ทุนครึ่งหนึ่งของค่าเล่าเรียน อีก 2 คนมี SET (ตลาดหลักทรัพย์) กับมหาวิทยาลัยหอการค้าให้การสนับสนุน สองอันหลังสุดเมื่อเรียนจบแล้วก็ต้องกลับไปใช้ทุนกับเขาค่ะ ได้ยินมาว่าอัตราส่วนผู้ส่งใบสมัครคือประมาณ 200 คน (คือใบสมัครที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว) ต่อการรับเข้าสอบสัมภาษณ์รอบแรกคือ 30 คนค่ะ แล้วคัดเหลือตามจำนวนที่แจกทุนแต่ละปี คือเขาจะให้คละสาขากัน แต่จะไม่มีสาขาทางด้านสาธารณสุขค่ะ แต่เพิ่งได้ข่าวมาว่าเขาเปลี่ยนเกณฑ์การรับสมัครเป็น 1 คนต่อ 1 ภูมิภาค จินตนาการง่ายๆ ก็อารมณ์เหมือนการคัดเดอะสตาร์ ก็น่าจะยากขึ้นอยู่พอสมควรค่ะ

ส่วนทุนเรียนต่อปริญญาเอก อันนี้มี 2 วิธีหลักๆ ค่ะ คือขอทุนจากรัฐบาลไทยเพื่อมาเรียนต่อ โดยต้องกลับไปใช้ทุนเป็นจำนวนเท่าของปีที่เรียนมาหรือใช้เป็นเงินก็ได้ หรืออีกวิธีที่คนไม่ค่อยจะรู้คือ Graduate School ของอเมริกามักมีทุนสนับสนุนการศึกษาอยู่แล้วค่ะ สำหรับปริญญาโทจะได้รับก็ต่อเมื่อทำผลงาน outstanding มากๆ ตอนสมัครเข้าเรียนหรือเขียนขอทุนแบบ financial aid ค่ะ แต่สำหรับปริญญาเอกซึ่งเป็นการทำ research เขาก็จะมีทุนออกค่าใช้จ่ายให้ทำงานวิจัยอยู่แล้ว โดยออกให้เป็นรายเดือน ออกค่าเล่าเรียนและค่าประกันสุขภาพให้ฟรี (อันนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย จำนวนเงิน endowment รวมของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ) แล้วก็ยังสามารถหารายได้ระหว่างเรียนจากการทำงานเป็น TA/RA (Teaching Assistant/ Research Assistant) ด้วยค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องได้รับการ qualified ให้เขารับเข้าเรียนก่อนค่ะ อย่างบางมหาวิทยาลัยที่เคยเจอมา ก่อนที่จะรับเข้าเรียน เขาจะ email มาถามก่อนว่า มี funding มาด้วยไหม ถ้าไม่มีเขาก็อาจจะปฏิเสธเลยหรือไล่ให้ไปหา funding มา

บรรยากาศในการเรียนเป็นยังไง

ตัดตอนไปที่ปริญญาโทใบที่สองเลยละกันนะคะ ตอนเรียน MS. ก็มีเพื่อนร่วมรุ่นด้วยกันอีก 1 คนค่ะ คือรวมทั้งหมดเป็น 2 คน (เยอะมาก ฮา) วันๆ เจอหน้ากันแค่ใน lecture class เลิกเรียนต่างคนต่างกลับบ้านไปเขียนเปเปอร์ อาศัยอยู่แต่ในห้องสมุด ความยากจะต่างกับตอนเรียนปริญญาโท design เลย ตอนนั้นง่วงนอนก็ยังโตรุ่งก็ทำโมเดลได้ แต่ถ้าตอนนี้ต้องเขียนอะไรเป็น philosophy นี่ไม่ได้เลย จะไม่มีการฟังเพลงไปเขียนไปเหมือนตอนตัดโมเดลเด็ดขาด ถ้าง่วงนอนไม่มีสมาธิก็เขียนภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้ในหัวก็เขียนออกมาไม่ได้ คือจะเผางานไม่ได้เด็ดขาดเพราะไม่มีอะไรจะให้เอาไปเผา ฮาฮา ก็ต้องอ่านหนังสือไปสักหลายๆ สิบเล่มหน่อยถึงจะเขียนได้นะคะ

ส่วนบรรยากาศในห้องเรียน อันนี้ต่างจากที่ไทยมาก ในห้องเรียนนักเรียนอเมริกันจะค่อนข้างเคารพตัวเองและคนอื่นเป็นอย่างมาก คือเข้าห้องก่อนเวลาเรียน ไม่มีการพูดคุยกันในเวลาเรียนเพราะเขาจะเกรงใจคนอื่น ​(คนอื่นเขาทำหน้าตาตั้งใจเรียนกันอยู่) ทุกคนจะตั้งใจเรียนเพราะปริญญาโทส่วนใหญ่คือพ่อแม่ไม่ส่งแล้ว ต้องหาเงินมาเรียนเองไม่ก็เอาทุนของคณะมาเรียน แล้วก็อ่านหนังสือทำการบ้านมาอย่างดี คือไม่มีการที่ว่าไม่อ่านแล้วจะไปฟังจากคนอื่นอย่างเดียวในห้องนะคะ คืออาจารย์เขาจะ assign งานไปให้อ่านมาก่อนเป็นหลายๆ สิบหน้า แล้วพอเข้าห้องแล้วคือ discuss กันอย่างเดียวแล้ว ปริญญาโทนี่แทบจะไม่มีการมาเลคเชอร์ให้ฟัง ก็ดีค่ะ น่าสนใจกว่าเรียนที่เมืองไทยเยอะ เพราะเราเห็นมุมมองหลายๆ ด้านบนเนื้อหาเดียวกันมากกว่า ถ้าอ่านจากในหนังสืออ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นเด็กที่นี่จะไม่ค่อยมีการโดดเรียนกันแล้วก็ไม่มีการไม่อ่านก่อนไปเข้าห้องเพราะว่าจะตามเขาไม่ทันค่ะ

คอร์สที่เรียนมีอะไรบ้าง ท้าทายแค่ไหน

เทอมแรกๆ จะเป็นวิชาเลือก History and Theory ค่ะ อันนี้ค้นพบว่าต่างจากที่ไทยเป็นอย่างมาก ตอนเรียนที่เมืองไทยคือเรียนจากหนังสือทฤษฎีที่แปลไทยมาแล้วแถมย่อความให้ด้วย ยังไม่ค่อยมีวิชา elective พวกที่เป็น History and Theory ที่ดีๆ ส่วนใหญ่คือเรียนรวมๆ เห็นเป็นภาพกว้างหรือเรียนแค่ตัวละครเด่นๆ เนื้อเรื่องเด่นๆ เท่านั้น ที่นี่คือเรียนจากต้นฉบับเลยค่ะ ชอบมาก มีความสุข รู้ว่าจริงๆ แล้วเนื้อหาทั้งหมดที่สถาปนิกคิดคืออะไร อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เขาสามารถสร้างงานออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ได้ ส่วนวิชา core ก็จะเน้นวิธีการทำรีเสิร์ชว่าต้องไปหา source จากไหน พวกที่เขียนยากคือการเขียนพวก manifesto กับ discourse ฟีลลิ่งจะเหมือนเรียนเลขพวก differentiation กับ integration คือตอนแรกไม่เข้าใจเลย พอจับหลักได้ก็จะสนุกมาก ที่ยากที่สุดน่าจะเป็นการอ่าน philosophy นะคะ เรียนไปร้องไห้ไป คือต้องอ่านเนื้อหาของพวกนักปรัชญาดังๆ ที่ก่อให้เกิด movement ต่างๆ ของประวัติศาสตร์ เช่น Karl Marx, Michel Foucault เป็นต้น จะทำให้เข้าใจว่าทำไมสถาปัตยกรรมในยุคนั้นเกิดจากระบบการเมืองหรือเศรษฐกิจแบบไหน พวกนี้อ่านเองจะไม่เข้าใจต้องให้อาจารย์ช่วยตีความอีกทีค่ะ

อาจจะมีคนสงสัยว่าเรียน History and Theory ไปทำไม ไม่เห็นจะได้งานออกแบบเป็นชิ้นเป็นอันเลย คือ เคยบทสัมภาษณ์ของคุณองอาจ ศาสตร์พันธุ์ที่ว่า “ไม่ว่าจะออกแบบอะไรในโลก ก็ล้วนเคยมีคนทำมาก่อนหน้าแล้วทั้งนั้น ถ้าไม่อ่านประวัติศาสตร์ ก็จะไม่เข้าใจว่าจะเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ๆ (หมายถึง สร้างผลงานที่แตกต่าง) ออกมาได้อย่างไร”

ฝึกงานที่ NY เป็นยังไงบ้าง

อันนี้ก็โชคดีอีกเหมือนกันค่ะ ได้ไปฝึกงานหลายๆ ที่ทั้งที่ Beijing และที่ New York ซึ่งก็ชอบมากเหมือนกัน เพราะเห็นหลายๆ คนพูดว่า History and Theory เป็นเส้นขนานกับ Practical ซึ่งในสังคมไทยเราอาจจะมองเป็นอย่างนั้นเพราะไม่ค่อยมีสถาปนิกไทยที่ทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน แต่พอมองที่เมืองนอกก็เห็นสถาปนิกหลายๆ ท่านทำได้ เช่น Le Corbusier, Robert Venturi, หรือแม้แต่ Rem Koolhaas เองก็ยังเขียนหนังสือทฤษฎีออกมาไปพร้อมๆ กับการทำงานออกแบบ ก็เลยลองเอาตัวเองเป็นหนูทดลองดู โดยหาที่ฝึกงานสถาปัตยกรรมทุกๆ ปิดเทอม แล้วก็ลอง apply ทฤษฎีที่เรียนมาดูเพื่อจะได้ไม่ลืมวิธีการเขียนแบบออกแบบด้วยค่ะ

ตอนที่เลือกที่ไปฝึกงานก็เลือกที่เหมาะสมกับตัวเอง รู้ว่าตัวเองเป็นคนค่อนข้างจะทำงานเป็น systematic กับ poetic เลยหาที่ๆ ค่อนข้างให้อิสระในการทำงานดีไซน์ อย่าง SO-IL (Solid Objective – Idenburg Liu) ก็โชคดีที่เจ้าของออฟฟิศทั้งสองท่านเป็นอาจารย์ วิธีการทำงานก็จะให้ทุกคนในทีมได้ออกแบบทั้งโปรเจค ส่วนเจ้าของออฟฟิศก็มีหน้าที่ give comments หรือช่วยแก้ปัญหาอย่างเดียว คือจะเป็นระบบเดียวกับที่เราเรียนมาในสตูดิโอดีไซน์ ต่างจากที่ไทยที่จะใช้ระบบ seniority เป็นหลักค่ะ

อีกที่หนึ่งที่ชอบมาก คือ Buro Ole Scheeren เพราะในบริษัทเขาจะไม่ได้รับโปรเจคเยอะ แต่รับโปรเจคใหญ่ๆ ทีเดียวและให้ความสำคัญกับการประกวดแบบค่อนข้างมาก โดยไอเดียเจ๋งๆ ส่วนใหญ่จะมาจากเด็กที่เพิ่งจบใหม่เพราะเขาให้ความสำคัญกับ fresh ideas และความกล้าบ้าบิ่นของเด็กมากกว่า ส่วน seniors ก็จะมีหน้าที่ใช้ประสบการณ์ของตัวเองในการแก้ปัญหา construction กับ management ไป แต่ละทีมพอออกแบบหรือ render งานแต่ละอาทิตย์ของตัวเองเสร็จก็จะเอามาแปะไว้ตรงบอร์ดกลาง ทำให้เราได้เห็นเทคนิควิธีการคิดของทีมอื่นๆ แล้วก็เป็นการเติมไฟให้เอากลับไปทำในโปรเจคของตัวเอง

ความแตกต่างอีกอย่างที่เห็นได้ชัด คือ “การทำซ้ำแล้วซ้ำอีก” ออฟฟิศดีไซน์พวกนี้จะไม่มีการดีไซน์ทีเดียวแล้วตัดสินใจเอาเลย จะทดลองออกแบบจุดเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำอยู่อย่างนั้นเป็น 20-30 รอบจนกว่าจะได้งานที่ดีที่สุด ดังนั้นตึกๆ หนึ่งจะมีแบบที่สามารถสร้างตึกได้อีกเป็นพันๆ แบบ ดังนั้นการเข้าออฟฟิศเก้าโมงเช้าแล้วออกสามทุ่มเป็นเรื่องปกติมาก สามทุ่มเป็นเวลาเฉลี่ยของการเดินออกจากออฟฟิศซึ่งปกติจะกลับหลังจากนั้น ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็เข้าออฟฟิศค่ะ ก็มีแง่ดีนะคะจะไม่มีเวลาออกไปใช้เงินข้างนอก ฮาฮา

TA เป็นยังไงบ้าง มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

หน้าที่ TA สำหรับวิชาที่ได้รับมอบหมายมาเป็นวิชาในสาขา History and Theory เหมือนกันค่ะ ก็จะมีทั้งการตรวจการบ้านเด็กอาทิตย์เว้นอาทิตย์ การบ้านเขาส่วนใหญ่จะเป็นการเอาทฤษฎีในคลาสมาใช้กับสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวันค่ะ คลาสที่ใหญ่สุดที่เคยตรวจก็ 750 คน ก็สนุกดี ส่วนหน้าที่อื่นๆ ก็มีการสอน clue session เป็นการแนะแนวการทำข้อสอบอาทิตย์เว้นอาทิตย์เหมือนกัน ก็ต้องเตรียมสไลด์ไปสอนซ้ำเหมือนกับที่ครูสอนในห้องค่ะ แต่สอนเป็นประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ ไม่ยากมาก

อันนี้ก็โชคดีอีกเหมือนกันที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้โอกาส เพราะว่าเขาเห็นว่าเราอยากกลับไปเป็นอาจารย์ มันทำให้ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการเตรียมการสอนของอาจารย์ สอนยังไงให้สนุก ให้เด็กๆ รัก เคยติวก่อนสอบไฟนอล พอสอนจบเด็กๆ ทั้งห้องยืนขึ้นปรบมือให้ อีเมล์มาขอบคุณที่ทำให้เขาสอบได้ ก็จะภูมิใจมากว่า “เออ! ฉันมาถูกทางแล้วหนิ”

หลังจากเรียนจบ จะทำอะไรต่อ? ทำงานอะไร? เป้าหมายในชีวิต

หลังจากเรียนจบก็อยากเอา History and Theory ไปใช้ค่ะ แต่ก็ต้องดูจังหวะเวลาและโอกาสต่างๆ ในตอนนั้นด้วย อาจจะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีตำแหน่งว่างหรือทำในฝ่าย research ของบริษัทสถาปนิกที่น่าสนใจ ก็ต้องว่ากันอีกทีค่ะ แต่อย่างที่บอกเป้าหมายสั้นๆ ตอนนี้ก็ขอแค่ให้เรียนจบแล้วก็เขียน paper ออกมาเป็น research ที่ดี ถ้ามีคนอ่านงานวิจัยเพิ่มขึ้นเยอะๆ หน่อย มากกว่าอ่านเองกับอาจารย์ที่ปรึกษาสองสามคนก็จะดีมาก ฮาฮา

มีอะไรจะฝากถึงน้องๆ หรือเพื่อนๆ ที่กำลังเลือกว่าจะเรียนต่อหรือทำงานต่อไหม

ก่อนจะไปเรียนโท อยากให้ใช้เวลาไตร่ตรองดีๆ หรือไปลองทำในหลายๆ สิ่งที่ตัวเองคิดว่าทำได้แต่ยังไม่ได้ทำสมัยเรียนปริญญาตรีก่อนค่ะ เช่น เรียนทำขนม ลองเขียนหนังสือ ฝึกเขียน script ลองทำอย่างอื่นดูว่ามีอะไรที่เราชอบมากกว่าการเรียนสถาปัตยกรรมไหม ถ้าไม่มีถึงจะอนุญาตให้กลับมาเรียนสถาปัตยกรรมได้ ฮาฮา อย่าคิดว่าการเรียนต่อปริญญาโทเป็น a must เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ เป็น trend ที่เพื่อนๆ มีฉันก็ต้องมีด้วย แต่ทำไปโดยไม่ได้คิดว่าเรียนจบโทแล้วจะไปทางไหนต่อ ถ้าเรียนจบโทแล้วคุณกลับไปทำงานเหมือนเดิมบริษัทเดิมตำแหน่งเดิม ดังนั้นการเรียนโทไม่มีประโยชน์แล้ว เงินที่จะเสียไปไม่ได้ให้อะไรกับคุณแล้ว ไม่ได้ช่วยให้คุณรู้อะไรมากขึ้นด้วย แบบนั้นประสบการณ์ในออฟฟิศจะสำคัญกว่าห้องเรียนโทเสียอีก (อันนี้มีประสบการณ์เองมาแล้ว ถึงจะบอกได้) อยากให้วางแผนก่อนว่า อีก 5 ปี 10 ปี เห็นภาพตัวเองไปอยู่ที่ไหนจุดไหน จึงค่อยวกกลับมาว่าจะทำอย่างไรถึงไปอยู่จุดนั้นได้ ถ้าปริญญาโทสถาปัตยกรรมเป็นส่วนช่วยให้คุณไปถึงจุดนั้นก็ให้เริ่มลงมือทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลย ถ้าปริญญาโทสาขาวิชาอย่างอื่นให้ประโยชน์มากกว่า เช่น MBA, Marketing, Finance, Real Estate ก็อยากให้ไปเรียนอันนั้นมากกว่าค่ะ

อันนี้ได้ถ่ายรูปกับ Rem Koolhaas ด้วยค่ะ!


ทิ้งท้าย (จอม)

เป็นยังไงกันบ้างคะ ได้ข้อมูล ไอเดีย และ ข้อคิดดีดีจากเอไปเติมไฟให้ตัวเองกันเยอะเลยล่ะสิ! จอมคิดว่าเอเป็นอีกแบบอย่างที่ดีค่ะ ที่เมื่อรู้ตัวเองแล้วว่าอยากเป็นอะไรอยากได้อะไรก็ตัดสินใจลุยต่อเลย เพราะฉะนั้นการที่เราจะลงทุน เดินต่อ เราควรจะทำเพราะเรารู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่มันเท่ห์ หรือว่าเป็นแฟชั่นตามเพื่อนๆ อยากให้ลองถามตัวเองให้ดีดี ก่อนจะไปเรียนว่า..เราต้องการจะเรียนมันเพื่ออะไร มันจะสร้างประโยชน์กับเราได้มากน้อยแค่ไหน และอยากเรียนอะไร ไปใช้ทำอะไร

ขอขอบคุณ เอ ศุภาศัย วงศ์กุลพิศาล มากมากเลยค่ะที่มาแบ่งปันกันวันนี้!!!