10 เหตุผลที่คนส่วนมากไม่เก่งกราฟิกและวาดภาพเสียทีและวิธีแก้

เคยสงสัยไหม ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งเลย ถึงไม่เก่งกราฟิกและวาดภาพเสียที ทั้งที่ก็พยายามจะทำงานนู่นนี่ แต่เหมือนไม่ไปไหนสักที วันนี้จะมี 10 เหตุผลที่มา สำหรับงานวาด 5 ข้อ และ งานออกแบบ 5 ข้อ พร้อมกับวิธีแก้มาบอกค่ะ

5 เหตุผลที่คนส่วนมากไม่เก่งวาดภาพเสียที และวิธีแก้

1.เพราะมัวแต่คิดว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์

พรสวรรค์ ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติค่ะ

ถ้าพูดถึงเรื่อง พรสวรรค์ จะนึกถึงคนนี้ jason Brubaker ผู้เขียน unnatural talent และคอมิคเรื่อง Remind  กล่าวไว้ว่าเขาได้พบกับหลายคนที่มาถามคำถามเค้า  ถามคำแนะนำเค้าเกี่ยวกับว่าจะเข้าไปสู่วงการทำงานศิลปะได้อย่างไร เขาสับสนเมื่อคนที่อ้างตัวเองว่าเป็นศิลปินมักจะมาหาเค้าเพื่อคำแนะนำแต่พอเขาถามกลับว่างานคุณอยู่ไหน ปรากฏว่ามีแต่งานของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย งานที่เป็นพวก life drawing วาดคน วาดหุ่นปูนปั้น แบบนั้นไม่เรียกว่าพอร์ทโฟลิโอ พอร์ตโฟลิโอคือสิ่งที่คุณได้สังเคราะห์ เรียบร้อยแล้ว

ถ้าเขาเป็นศิลปินจริงๆนะผมคิด แล้วไหนล่ะงานศิลปะ ทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ ถ้าเขารักที่จะวาดรูป คนๆนี้คงไม่รักการวาดรูป แล้วทำไมเขาถึงถามผมว่าจะเป็นศิลปินได้ยังไง

เขาบอกว่าเขาเลือกที่จะคิดว่าศิลปินเหล่านั้นที่มาหาเขาเพราะว่าคิดว่าเขามีพรสวรรค์ และพวกเขาก็คิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์ บางทีในอดีตอาจจะมีคนบอกพวกเขาว่าเขามีพรสวรรค์ เขาคิดว่าศิลปะง่ายแล้วก็สนุกสำหรับ พวกเราที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ ศิลปินมีชีวิตที่ดี มันเกี่ยวกับว่าคุณรู้จักใคร คุณแค่นั่งแล้วก็หย่อนก้นวาดตรงนู้นทีตรงนี้ที นั่งในร้านกาแฟบ้าง มีชีวิตอิสระ งานมันแค่ไหลออกมาเหมือนกับแม่น้ำแห่งทองคำ งานศิลปะนั้นง่ายจะตาย หลายๆคนคงจะคิดแบบนี้ แต่จริงๆมันใช่เหรอ?

ตั้งแต่ผมเป็นผมเด็กขีดเขียนด้วยสีเทียน ผมมีผู้คนดูงานของผมแล้วบอกว่าเธอช่างมีพรสวรรค์จังเลยนะเธอต้องเกิดมาพร้อมกับมันแน่เลย! ผมก็เอียงอายแล้วก็ทำงานต่อไป ออกจากช่วงวัยรุ่นแล้วศิลปะเป็นรายได้เพียงทางเดียวของผม ผมอายุ 30 กว่าแล้วและ ผมก็มีอนาคตที่ดีในฐานะศิลปิน มันไม่ใช่ในช่วง 2 3 ปีก่อนที่ผมเริ่มคิดเกี่ยวกับว่าพรสวรรค์คืออะไรแตกต่างจากในพจนานุกรม คำว่าพรสวรรค์สำหรับผมคือพรสวรรค์นั้นถูกสร้างขึ้นมาและมันเติบโตเมื่อคุณมีความหลงใหลกับอะไรสักอย่างมากๆ

เจสัน บรูเบเกอร์

เจสันคิดว่าการที่หลงไหลอะไรซักอย่างนั้น เราก็ใช้เวลากับมันมากๆในการศึกษาอะไรบางอย่างที่เหนือไปจากสิ่งที่ทุกคนสามารถทนได้ ศึกษาอย่างมีความหลงใหลจนทำให้เราทำงานแล้วได้ความสมบูรณ์ในรายละเอียดที่เราเท่านั้นที่จะสามารถสังเกตได้ คุณได้รับความรู้ที่คุณเท่านั้นที่ใช้เวลาที่จะเข้าใจมัน คุณอยู่กับมันนานพอ รู้ว่าเคล็ดลับแบบนี้ได้ผลแบบนี้ คุณรู้ดีกว่าคนอื่น

ดังนั้นคุณชอบและหลงใหลในอะไรตรงนั้นแหละคือพรสวรรค์ของคุณ

อย่ามัวแต่อ้างว่าไม่มีพรสวรรค์ก็เลยทำไม่ได้ ทุกคนสามารถทำได้ถ้ามีความพยายามมากพอศึกษาค้นคว้าและลงมือทำจะทำให้คุณก้าวไปสู่จุดหมายในทุกๆวัน

2.เพราะหาที่เรียนดีๆไม่ได้

สำหรับการศึกษาต่อนั้น คนที่ไม่ได้จบวาดๆโดยตรง แต่อยากได้ทักษะการวาดรูป เราไม่แนะนำให้ต่อโทนะคะ ถ้าคุณไม่ได้อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องใช้ปริญญาในการสมัครเข้าทำงาน เหตุผลคือ ปริญญาโทส่วนใหญ่มักจะไม่สอนทักษะพื้นฐานให้คุณเลยค่ะหรือสอนน้อยมาก แต่การเรียนปริญญาโทก็มีข้อดีคือคุณจะได้วิธีในการคิดงานหรือเรื่องของแนวคิดและคอนเนคชัน เพราะว่าคุณจะได้ทำทีสิสอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าคุณจะเอาจบเร็ว(ภายใน2ปี) หรือเอาวุฒิเพื่ออัพฐานเงินเดือน ก็ได้ค่ะ

เราเคยคุยกับอาร์ทไดเรคเตอร์คนหนึ่งเกี่ยวกับการสมัครงาน ที่เขามีอำนาจในการรับคนเข้าทำงาน เขาบอกว่า “ผมไม่สนหรอกว่าใคร จะจบปริญญาเอกหรือไม่ เอางานของคนๆนั้นมาให้ผมดูสิแล้วผมจะบอกได้ว่าจะรับคนๆนั้นเข้าทำงานหรือไม่” อาร์ทไดเรคเตอร์คนนี้จบ diploma ด้าน animation แต่ทำงานด้านภาพประกอบค่ะ พอร์ทโฟลิโอเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานด้านนี้

เดี๋ยวนี้มีที่เรียนออนไลน์ดีๆมากมายทั้งไทยและต่างประเทศให้ได้เลือกเรียนกัน ถ้าคุณขยัน สามารถฝึกฝนเองได้และหาความรู้เองจนเก่งได้เหมือนที่ Marc Brunet ผู้ก่อตั้ง Cubebrush.com ได้บอกว่าคุณนั้นไม่จำเป็นจะต้องเรียนจบศิลปะโดยตรงอีกต่อไป คุณแค่ต้องหาที่เรียนศิลปะดีๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบเสมอไป

3.เพราะไม่ยอมฝึกฝน

ในหนังสือ Talent is overrated ได้กล่าวไว้ถึงวิธีการฝึกฝนสิ่งต่างๆดังนี้

1)ฝึกฝน

การฝึกฝนที่ได้ผลในหนังสือเล่มนี้กล่าวว่าต้องฝึกท่าเดิม หรือสิ่งเดิมๆหรือสิ่งที่น่าเบื่อซ้ำๆ ยกตัวอย่างเช่นฝึกวาดฟิกเกอร์,ดรออิ้ง พวกนี้มันอาจจะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ แต่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นในการฝึกวาดรูปให้เก่ง นักกีฬาอย่างไทเกอร์วูดส์ยังฝึกซ้ำๆเป็นหมื่นชั่วโมง จนกว่าจะเก่งขึ้นมาได้ เบนจามิน แฟรงคลินได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการพัฒนางานเขียนว่า

  • อ่านบทความ
  • เขียน hint (คำบอกใบ้) เกี่ยวกับประโยคแต่ละประโยค (คุณสามารถเขียนโครงของเนื้องานชิ้นนั้นๆ)
  • เขียนบทความใหม่เป็นสไตล์ตัวเอง
  • เปรียบเทียบกับงานต้นแบบ
  • ตรวจงานและแก้ไขบทความของคุณ
  • เปลี่ยนร้อยกรองให้เป็นร้อยแก้ว
  • เปลี่ยนร้อยแก้วให้เป็นร้อยกรอง
  • ใช้คำบอกใบ้ เรียงเนื้อหาใหม่ เขียนใหม่

จะสังเกตุได้ว่าเขาได้พยายามมากในการฝึกฝนเรื่องของงานเขียนจนเก่งได้ในที่สุด

2)มีพิมพ์เขียวให้คุณเดินตามเสมอ

ถามคนเก่งๆหรือถ้าเข้าถึงคนเก่งๆไม่ได้ให้อ่านสัมภาษณ์ของเขา อ่านว่าเขามีวิธีฝึกยังไง แล้วลองทำตามดู ซึ่งในหนังสือ talent is overrated บอกว่าคนเก่งๆมีวิธีการฝึกที่แตกต่างออกไปจากคนที่ไม่เก่ง

3)คุณสามารถเก่งสิ่งนั้นๆได้ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร

ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร คุณสามารถเก่งวาดรูปได้ทั้งสิ้น

4)การสร้างความสามารถนั้นเป็นงานหนัก

ถ้าคุณฝึกฝนวันละสามชั่วโมงต่อวัน โดยหยุดแค่วันคริสต์มาส คุณจะใช้เวลา 9 ปี ในการบรรลุเป้าหมายหมื่นชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการฝึกฝนที่แตกต่างออกไปอีก ที่เมื่อคุณทำสำเร็จในส่วนไหนแล้วให้ขยับไปส่วนถัดไป

5)คุณสามารถใช้การฝึกฝนที่คุณได้ผ่านมา เป็นพิมพ์เขียวในการสอน

เมื่อคุณสอน คุณจะเก่งขึ้น และผู้คนจะมองว่าคุณนั้นเป็นผู้ที่มีความเยี่ยมยอดในสายวิชาของคุณ นักเรียนที่ใช้วิธีเดียวกันกับคุณในการเรียนการสอนจะประสบผลสำเร็จ และถ้าคุณอยากเก่งวาดรูปให้สอนวาดด้วย โดยจะสอนให้คนรอบตัว เพื่อน คนที่บ้านก่อนก็ได้

6)คุณไม่จำเป็นต้องเป็นระดับโลกเท่านั้นถึงจะเอาชนะคู่แข่งได้

คุณแค่ต้องนำคู่แข่งไป 1 ก้าว หรือก้าวใหญ่ๆด้วยการฝึกฝนทุกวัน สัปดาห์ละ 5 วัน จันทร์ถึงศุกร์ วันละ 1 ชั่วโมง การเปลี่ยนแปลงเล็กๆจะนำไปสู่การก้าวหน้าที่ใหญ่กว่า

7)คนที่อ่านอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้เก่งขึ้น คนที่นำไปใช้และพัฒนาต่อจะเก่งขึ้น

4.เพราะรสนิยมในการหยิบจับไม่ดี

มีทักษะอย่างเดียว เสมือนมีวัตถุดิบดี แต่มีมืดทื่อ เตาไม่ร้อน แต่ทักษะซึ่งเป็นวัตถุดิบก็ขาดไม่ได้เช่นกันซึ่งรสนิยมมันจะเป็นเรื่องที่ติดตัวเราตลอดไปไม่ว่าจะเป็นหนังที่ชอบ เพลงที่ชอบฟัง อาหารที่กิน สถานที่ที่ไปสิ่งที่ชอบดูสิ่งเหล่านี้ล้วนก่อเกิดให้เป็นตัวตนของเราทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นคนที่ตามหาเอกลักษณ์หรือว่าตามหาสไตล์ของตัวเองแล้วไม่เจอสักทีแปลว่าคุณยังไม่ได้อัพในส่วนของ ‘การใช้ชีวิต’ บางคนที่เป็นศิลปินถึงกับต้องศึกษาอย่างจริงจังลโดยการเอาตัวเข้าไปคลุกคลี เช่นถ้าจะวาดภาพ ที่เกี่ยวกับวิถีของชนชั้นล่างหรือชนชั้นบลูคอลลาร์ หรือคนที่ทำงานใช้แรงงานเขาถึงกับต้องไปใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น เพื่อศึกษาการใช้ชีวิตแบบนั้น

เหมือนแมรี่ไว้ท์ วาดภาพชนชั้นล่าง ที่ทำงานในฟาร์มบ้างหรือเป็นชาวประมงบ้างสิ่งที่สำคัญคือวาดในสิ่งที่เป็นเราและสิ่งที่เรารู้ ไม่เช่นนั้นคนก็จะรู้หรือคนที่เค้ารู้ก็จะดูออกว่าคุณไม่ได้รู้จริงในตรงนั้นถ้าถามว่ารากของงานที่ไม่ดีมันมาจากอะไรมันก็มาจากการที่เรายังหยิบจับได้ไม่ดีเรายังไม่รู้จริงในสิ่งที่เราเขียนหรือว่าเรายังไม่ถึงแก่นของสิ่งที่เราเขียนดีพอ พูดถึงเรื่องการใช้ชีวิตกับการทำงานจริงๆเรื่องของการใช้ชีวิตหรือรสนิยมนั้นมันไม่จำเป็นจะต้องเป็นอะไรที่หรูหราหรือเข้าถึงได้ยาก

เพราะถ้าเราไม่ได้ชอบที่จะใช้ชีวิตแบบนั้นแล้วมันก็จะเป็นการฝืนตัวตนของเราจนเกินไป เราควรจะใช้ชีวิตแบบตามปกติ แต่ว่าที่เปลี่ยนคือเพิ่มสิ่งที่เราบริโภคเข้าไปหรือว่าเพิ่มความแตกต่างให้ชีวิตมากขึ้นอย่างเช่นสมมุติว่า…เราเคยกลับบ้านทางหนึ่งลองกลับบ้านอีกทางหนึ่งดู เคยกินอาหารชนิดนี้บ่อยบ่อยก็ลองเปลี่ยนเป็นเมนูอื่นบ้างเคยฟังเพลงแนวนี้ก็ลองเปลี่ยนเป็นแนวอื่นที่ไม่เคยฟัง

ลองค้นหาอะไรใหม่ๆที่ตัวเราชอบในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย มันจะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ มากขึ้นแล้วเราจะมีองค์ประกอบหรือว่าไลบรารี่ในหัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราเป็นนักออกแบบที่ดีในตัวที่จะทำให้เราแตกต่างจากนักวาดภาพประกอบคนอื่นได้ และภาพของคุณจะไม่ดูธรรมดาอีกต่อไป

5.เพราะไม่เข้าใจว่าอะไรคืองานที่ดี

ถ้าถามว่างานที่ดีคืออะไร ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน คุณวาดรูปไปเพื่ออะไรคะ ? วาดเพื่อความสุขตัวเองหรือเปล่า หรือว่าวาดเพราะต้องการยอดไลค์ ต้องการหางานวาด หรืออะไร งานที่ดี ก็คืองานที่ตอบโจทย์สิ่งที่คุณอยากได้ค่ะ ซึ่งคุณเองก็ต้องถามตัวเอง ว่าสิ่งที่คุณอยากได้น่ะ มันคืออะไรกันแน่ เพราะหลายๆคนก็มีสิ่งที่อยากได้แตกต่างกันไป ซึ่งเราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคุณอยากได้อะไร แต่สำหรับเรา ความสุขเป็นสิ่งที่วัดได้ยาก เพราะมัน subjective และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่งานที่ดีนั้นสามารถวัดได้ง่ายกว่า โดยการที่งานดีนั้น คุณแค่ต้องตอบตัวเองคำถามข้างต้นเท่านั้นเองว่า “วาดรูปไปทำไมค่ะ” งานที่ดี = งานที่ตอบโจทย์ค่ะ

5 เหตุผลที่คนส่วนมากไม่เก่งงานกราฟิกเสียที และวิธีแก้

5 เหตุผลที่คนไม่เก่งงานออกแบบกราฟิก มีความคล้ายกับเรื่องของงานวาดภาพ เนื่องจากเป็นงานที่ใช้เรื่องของความคิด ความงาม และการรับรู้ผ่านการมองเห็นเหมือนกัน ถ้าเริ่มจาก 5 ข้อข้างต้น และมารวมกับ 5 ข้อนี้ จะทำให้เราพัฒนาได้ดีขึ้นในทั้งสองด้านเลย

1. เพราะเราไม่ได้ออกแบบ แต่แค่ตามแบบ | Didn’t Design, Just Collaging

ในยุคสมัยที่การเข้าถึงภาพ Reference และข้อมูลต่างๆในโลกออนไลน์เป็นเรื่องง่ายดาย แน่นอนประโยชน์ของมันเยอะมากในการเพิ่มข้อมูล ตัวอย่างเคสดีดีให้เราได้เห็น แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าใช้โอกาสแบบนี้เพียงฉาบฉวย สิ่งที่เราได้จากข้อมูลเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่แค่พาเราไปไม่ถึง สกิลที่ดีขึ้นในการออกแบบ แต่เราอาจจะได้แค่ การตามแบบชาวบ้านเค้าไปเรื่อยๆ เพราะมันช่วงสะดวก รวดเร็วดีซะเหลือเกิน

Problem: Good at collaging other ideas, but not creating one

บางทีนักออกแบบ อาจจะสร้างงานออกมาออกมาสวยได้ แต่หลายๆครั้งมาจากที่เรามีความถนัด “การจับแพะชนแกะให้สวย” หรือ การที่เราเอานู่นนี่มาตัดแปะต่อกัน จนเราเรียกมันว่างานเรา เราสามารถเปรียบเทียบวิธีการนี้ได้กับวิธีการ “Collage” หรือ การ “ตัดแปะ” ที่เราเอากรรไกรไปตัดกระดาษจากหนังสือนู่นนี่ มารวมกันเป็นของใหม่ หลายทีมันก็สร้างสรรค์ แต่หลายๆที ก็แค่เอาอะไรที่ไม่เข้ากันมารวมกัน

พอถึงวันที่เราใช้วิธี Collaging แบบเดิมไม่ได้ ทีนี้ลำบากแล้ว เพราะเราไม่เคยได้ริเริ่มจากโจทย์ของตัวเองจริง ทั้งที่แก่น และใจความสำคัญของการเป็นนักออกแบบที่ดี ไม่ใช่แค่สายกราฟิก แต่สายอื่นด้วย คือ ไม่ใช่แค่การเป็นนักรวมไอเดียที่ดี แต่ต้องสามารถสร้างสรรค์งานของตัวเองได้ด้วย

Solution : ใช้สื่อที่มีให้เป็นประโยชน์ ดีแล้ว แต่ว่าให้ศึกษามากกว่าแค่ผลลัพธ์สุดท้าย

อย่าดูแค่…ทำออกมาหน้าตายังไงถึง“สวย”

แต่ศึกษาว่า…เค้าคิดอย่างไร มีโจทย์อย่างไร เค้าสร้างแนวคิดในการจัดการ การออกแบบมันยังไง จนมันออกมาเป็นหน้าตาแบบนี้ แล้วสุดท้าย คือ ทำอย่างไร จัดวางอย่างไร ถึงออกมาสวย (ที่แทบจะเป็นส่วนปลายสุดท้ายของกระบวนการด้วยซ้ำ) ถ้าเรามัวแต่สนใจความงามผิวๆ เราก็จะออกแบบได้แต่งานผิวๆ ที่มีคนทำมาแล้ว แล้วก็ลอกๆตามเค้าไป แต่ไม่มีทางเริ่มออกแบบได้ของตัวเอง

ลองฝึกทำการออกแบบบ่อยๆ ลองตั้งคำถาม และทดลองคิดเล่นๆ ทั้งในโจทย์ที่ตัวเองได้รับ หรือ โจทย์ที่เราเห็นคนอื่นออกแบบไปแล้ว แล้วคิดว่า ถ้าเราทำใหม่แบบเราล่ะ? เราจะออกแบบยังไง

2.หลงผิดจุด | Missing the Point, Losing the Focus

พอเราเริ่มลงมือทำการออกแบบ ช่วงเริ่มฝึกการออกแบบใหม่ๆ บางทีก็มีหลงทางไปบ้าง ทำให้งานสุดท้าย ออกมาไม่ถึงบ้าง หรือ หมดเวลาก่อนบ้าง สร้างงานดีดีไม่ทันบ้าง หลายๆครั้งปัญหาเหล่านี้ มีที่มาจาก

  • สนใจแต่ผลลัพธ์สุดท้าย เช่น ความงาม จนลืมใส่ใจในกระบวนการสร้างงาน และเป้าหมายว่าเราสร้างงานชิ้นนี้มาเพื่ออะไร
  • เริ่มอินและดำดิ่งไปในสถานการณ์ Mode การทำงาน, ข้อมูลเยอะมาก หรือ สนุกจนลืม (หรือ อาจจะไม่สนุก แต่อินมาก) จนลืมโฟกัสจริงๆ ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เป้าหมายของการสร้างงานนี้จริงๆเพื่ออะไร
  • บางทีเราเผลอใส่ไอเดียที่ไม่จำเป็นไปในงาน ที่ถ้าไม่ใส่อาจจะดีให้งานตอบโจทย์ดีกว่า แต่เราคิดว่า ไอเดียนี้ช่างเก๋ซะเหลือเกิน เราอยากใส่ นี่จัดว่าเป็นความเอาแต่ใจตัวเอง ไม่ใช่เอาตามโจทย์งาน

Solution : ทางแก้ไข

ทางแก้คือ

  • เข้าใจเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนเริ่มทำงานจริงๆ
  • คอย reality check ตัวเองเป็นระยะว่า สองชั่วโมงนี้ เรายังอยู่ในงานเราจริงๆไหม หรือออกทะเลไปแล้ว (ที่ให้สองชั่วโมง เพราะเอาจริงๆ เวลาสองชั่วโมงที่ทำงานมีประสิทธิภาพ จะพาเราไปได้ไกลมากมาก เดี๋ยวจะออกทะเลหลุดอ่าวไปไกล จนกู่ไม่กลับ)
  • รีวิวคุณภาพงาน ว่ายังตอบโจทย์ไหม และเรียงลำดับความสำคัญของไอเดียที่จะใช้ ว่าเราไม่ได้ยัดไอเดียไปเยอะเกิน หรือ รวมเอาไอเดียที่ไม่จำเป็นต่องานนี้ลงไปด้วย เพราะความเยอะไม่ได้แปลว่าดี เอาอะไรเยอะๆใส่เข้าไป แทนที่จะทำให้งานนี้ดี หรือ Strong (แข็งแรง) อาจจะกลายเป็นงานที่ สื่อสารอะไรไม่ได้ และ Weak (อ่อนแอ)

3. ใจไม่กล้า ลืมสงสัย | Stay on the Safe side, No curiosity

เราทำงานเสร็จ แต่บางทีกลับไม่ชอบงานเราสักที ได้แต่มองว่า ไม่ชอบๆ แต่ไม่มาตั้งคำถามกับตัวเอง กับงานจริงๆว่า ทำไมเราถึงสร้างงานดีดีออกมาไม่ได้

บางทีปัญหา มาจากการที่เราไม่เปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ และยึดอะไรเดิมๆ

Problem : No new experiments or questions, No new innovation

เมื่อเราไม่ลองตั้งคำถาม หรือ ทดลองอะไรใหม่ๆ ผลที่ได้คือ ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ หลายทีมาจาก…

  • การที่เราใจไม่ถึง ใจไม่กล้า พอรู้ว่ามีคนทำแบบนี้มา “มันก็เวิร์คนี่นา มันก็ใช่ได้” ก็เอาแล้ว หยุดตรงนี้แหละ ทำให้เราเป็นแค่คนพิมพ์งานที่คนอื่นเคยทำแล้ว ออกมาซ้ำ โลกหน้าตาเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ๆ จากที่มันเคยน่าสนใจมาก่อน บ่อยๆเข้าก็น่าเบื่อ เพราะมีแต่อะไรแบบเดิมๆ
  • ไม่กล้าทดลองวิธีใหม่ และเอาแต่ตามแนวคิดเดิมๆโดยไม่ตั้งคำถาม
  • งานเสร็จ แต่ว่าไม่ถูกใจ กลับบ้าน นอนสบาย (วนกลับไปที่นี่ ก็เลยไม่เคยชอบงานตัวเองสักที)

Solution : ทางแก้ไข

  • ตั้งคำถามกับงานตัวเอง และวิธีการคิดของตัวเอง
  • ดูตัวอย่าง ดูเคสคนอื่น ดูว่าคนอื่นคิดอย่างไร เค้าสร้างทางออกให้เหมาะกับสถานการณ์เค้าอย่างไร แล้วเราจะใช้วิธีเดียวกับเค้าได้หรือไม่ หรือ มีแนวคิด (Framework) อย่างไรจากงานของเค้า ที่เราเอามาปรับใช้ได้ (แต่ไม่ใช่การลอกทางออก แค่เป็น แนวคิด และ การวางกลยุทธของเขา)
  • หาแรงบันดาลใจจากการแก้ปัญหาของสิ่งที่ไม่เหมือนเรา แต่อาจจะคล้ายกัน ไม่จำเป็นต้องยึดอยู่แค่เรื่องเดียว นักออกแบบต้องมองโลกให้กว้าง
  • Research และลองคิดใหม่ทำใหม่

4. ทัศนคติ | Attitudes

บางทีปัญหาที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ทักษะ ฝีมือ แต่คือ ทัศนคติ มุมมองความคิดในการเข้าหาสถานการณ์นี่แหละ

Problem : Narrowed mind, Stuck at their own goodness aka Ego

การเป็นนักออกแบบ คนที่เสนอไอเดียในการสร้างและพัฒนาสิ่งต่างๆ ทำงานกราฟิกที่ดูสวยงามตระการตา แน่นอน “ความมั่นใจ” เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยให้เราผลักดันงาน และนำเสนอ เล่าเรื่องงานของเราได้อย่างดี แต่หลายๆครั้ง ความมั่นใจมันมักจะเอาไปปนกับ “อัตตา” (Ego) หรือ ความมีตัวตน ยึดติด

หลายครั้งที่อีโก้บังตา คิดว่าที่เราทำ “มันดีแล้วนะ สุดจะCoolเหอะพี่ แต่นี่ที่ไม่ฮิตเพราะคนไม่เข้าใจ” ในหลายกรณีอาจจะใช่ อาจจะเพราะคนยังไม่พร้อม แต่เราก็อาจจะไม่พร้อมกับคนอื่นเหมือนกัน ในส่วนนี้ ต้องบาลานส์ความคิดดีดี ว่าจะดันทุรัง หรือ ปรับตัว หรือ รอเวลา อีกสิบปีข้างหน้าค่อยนำเสนออีกหน คนอาจจะพร้อม แต่เรารอได้ไหม? ไม่ได้? หรือ ได้

“แต่คนป๋าๆ ท่าเยอะๆ อีโก้หนักๆ ดังๆก็มี”

ใช่ มันมีนักออกแบบที่อีโก้เยอะแล้วรุ่ง แต่ไม่ใช่เพราะอีโก้เยอะเลยรุ่ง แต่เค้ารุ่งด้วยคุณภาพตัวอื่นที่เค้ามี แม้จะอีโก้เยอะมันก็แค่ทำอะไรเค้าไม่ได้ เพราะเค้ามีคุณภาพตัวอื่นอยู่ ที่เรียกว่า “ฝีมือทางการออกแบบ” ที่ไปหยิบไปจับอะไรก็ดีไหม เค้าอาจจะเก่งมาแต่ไหนแต่ไร หรือ เค้าอาจจะฝึกหนักมาเราก็ไม่รู้ได้ แต่เอาง่ายๆ เค้ามีสกิล คนชอบงานเค้าจนหลายคนยอมมองข้ามข้อเสียเค้าไปได้

แต่เราใช่เค้าเหรอ? ทีนี้เราจะไปตัดกำลังตัวเอง ตัดต้นทุนในการพัฒนาของตัวเองทำไม?

Solution : Understanding

ทำความเข้าใจสถานการณ์ ว่าถ้าลูกค้า ตลาดเรา ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ เราจะออกแบบยังไง ให้เค้าค่อยๆเข้าใจ รับในสารที่เราอยากจะสื่อในงาน ไปพร้อมๆกับออกแบบให้ตอบโจทย์หลักได้ด้วย บางทีเราอาจจะใส่สิ่งที่เราอยากจะสื่อ (Expression) ไปไม่ได้เต็มที่ 100% แต่บางที เราอาจจะใส่ได้ 10% และมันอาจจะเข้าถึงง่ายกว่าก็ได้ เช่น สมมติเราต้องการออกแบบงานให้ดูทันสมัย ลูกค้าของเราบอกว่าของเค้ารุ่นใหม่ต้องทันสมัยแต่ยังคงความงามแบบที่เค้าชอบ แต่พอเราทำงานModern ไปไม่สนใจ บอกว่าขอแบบนี้ๆ ที่มันดูเก่าๆ (ในใจเราคิดแล้วว่า นี่มันเชยระเบิด) ไปทางนี้หน่อย หน้าที่ของนักออกแบบ คือ บาลานซ์ให้สิ่งที่ดีที่เหมาะกับการนำเสนอ ให้สมดุลย์กับโจทย์หรือความต้องการลูกค้า ถ้าเค้าไม่เข้าใจ บางทีเราต้อง Educate เค้าทีละนิดๆ

ถามตัวเองให้แน่ใจว่า จริงๆคือเราไม่พอใจ หรือ หยุดแค่นี้เพราะงานดีแล้วจริงๆ หรือ เพราะเราคิดว่าเราทำดีแล้วกันแน่ คอยตรวจเช็คอย่างใจเป็นกลาง

5. ตามอารมณ์ ไม่ฟัง ไม่มีเหตุผล | Emotional focused over Purpose

Problem : Emotional focused over Purpose

บางทีปัญกาคือ เราให้ความสำคัญกับอารมณ์มากเกินไป มากเกินกว่าวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของงาน

ปัญหามีมาได้มากจากการ … ไม่รับฟังความเห็นภายนอก ไม่เข้าใจเทรนด์ และไม่เข้าใจโลก

งานออกแบบ เป็นงานที่ถูกสร้างมาอย่างมีที่มา เพื่อตอบโจทย์บางอย่างมันเลยเรียกว่า “ออกแบบ”  ไม่ใช่สร้างมาเพื่อ “ความพอใจของคนสร้าง” แม้ว่างานนั้นจะเป็นงานกราฟิก ภาพสวยงามก็ตาม

มันก็ต้องมีเป้าหมายในการสื่อสารไอเดีย ข้อมูลบางอย่าง

ถ้าทำงานตามใจคนทำ เพื่อแสดงออก(Express) ถึงอารมณ์ ความหมายในเชิงจิตวิญญาณ (Spirital meaning) ล้วนๆ ถ้าเช่นนั้น ต้องเรียกว่า “งานศิลปะ”

Solution : Be knowledgeable, Make Art useful

ทำความเข้าใจ และใช้งานศิลปะให้เป็นให้ถูกทาง

งานออกแบบ ไม่ใช่งานศิลปะ แม้จะใช้พื้นฐานหลายส่วนร่วมกัน ทำงานร่วมกันได้ แต่ที่มาที่ไปแตกต่างกัน การที่เราเป็นนักออกแบบ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เข้าใจความแตกต่างระหว่าง ศิลปะ กับ การออกแบ การทำงานออกแบบตามใจตัวเอง โดยมองข้ามโจทย์ ว่าเราสร้างงานออกแบบนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ทำให้ไม่มีทางสร้างงานที่ประสบความสำเร็จออกมาได้ ได้แต่ทำงานไปอีกทาง

แต่ถ้าเราสามารถเอา ศิลปะ มาใช้ประกอบ เพื่อทำให้งานออกแบบเราถึงเป้าหมาย และสื่อสารได้ดีขึ้น นั่นแหละ คือ ความสำเร็จของงานออกแบบ ที่มีความเป็นศิลปะอยู่ในนั้น

สรุป | Conclusion

ลองพิจารณ์ 10 ข้อนี้แล้วเริ่มต้นสังเกตตัวเอง ในสถานการณ์ต่างๆ ว่าเรามีอะไรตรงกับในข้อเหล่านี้ไหม แล้วถ้าเรามีก็หมั่นพัฒนา และข้อเสียเหล่านี้เจือจางลง เพื่อที่จะทำให้งานของเราพัฒนาดียิ่งขึ้น ทั้งในงานวาดภาพ และ งานกราฟิก

สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในการเป็นพื้นฐานของนักออกแบบ นักวาด ที่ประสบความสำเร็จ!

ถ้าอยากรู้ เข้าใจในหลักการสำคัญตั้งแต่พื้นฐานในด้านการออกแบบกราฟิก และวาดภาพประกอบ เพื่อนำไปใช้ได้จริงในการสร้างงานจริงด้วยตัวเอง ไปจนถึงการรู้จักวิเคราะห์งานออกแบบให้เป็น คอร์สที่จะตอบโจทย์คุณคือ คอร์ส “เรียนลัดตัดตอนครบวงจร Graphic & illust”  ที่เพียง 10 สัปดาห์ของการเรียนการสอนออนไลน์ จะทำให้คุณทำงานออกแบบ และงานวาดได้ดีขึ้น ไปจนสามารถวิเคราะห์อ่านงานได้ดีขึ้น ทำให้ปลดล๊อคศักยภาพของคุณ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างไม่สิ้นสุด สนใจสมัครคอร์สนี้ ไปดู รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย