We learn…
สิ่งที่โรงเรียนสอน มันต้องใช้จริงในการงาน เรื่องที่สอนในเวลาจำกัดแค่ 5 ปี จริงๆมันมีเรื่องต้องเรียนเยอะมาก แต่เวลาเรียน และทำงานมันมีแค่ 5 ปีเท่านั้น (มีคนบอกว่า 5ปี นานจัง..แต่นั่นแค่เพียงพอ ให้เราได้พื้นฐานออกไปทำงานจริง มันไม่สามารถน้อยกว่านั้นได้จริงๆ)
พอเริ่มทำงานพบว่า ได้ใช้ความรู้ที่เรียน พัฒนา ต่อยอดจากพื้นฐานนั้น และยังเป็นการเบิกทางให้เราเรียนรู้ส่ิงใหม่ๆอีกด้วย การเรียนรู้ที่ได้จากการทำงานจริง มันเป็นสิ่งสำคัญมาก
องค์ความรู้พื้นฐานยังเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้อย่างขาดไม่ได้ ที่สถาบันการศึกษาก็ช่วยสอนออกมาอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
แต่เมื่อ ยุคสมัยเปลี่ยนไป วิธีการทำงาน การติดต่อ การบริหารมีผล ที่ทำให้การทำงานในวงการออกแบบ เปลี่ยนไปเช่นกัน สิ่งใหม่ๆ
We also should…
หลังจากเริ่มทำงานที่ได้ใช้เรื่องของการออกแบบ ก่อสร้างมา รูปแบบของการทำงานในปีที่ 1 ของการทำงาน มันแตกต่างจาก ปีที่ 4-5 และ 10 องค์ความรู้ที่จะทำให้เราอยู่รอดในวงการ เติบโตในวิชาชีพ กลับไม่ใช่แค่องค์ความรู้ส่วนนั้น องค์ความรู้บางอย่างที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนสถาปัตยกรรม กลับถูกนำมาใช้ในการทำงานจริง อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญ หากแต่ไม่ได้รับการสอนมากในโรงเรียนออกแบบส่วนใหญ่
มันคือ 6 ประเด็นนี้
1. การหางาน | How to get work (not a job)
ไม่ใช่แค่หาตำแหน่งในบริษัท แต่หาโปรเจค หาลูกค้า
เพราะแน่นอน.. สิ่งที่เราได้เรียนมา คือการสร้างงานออกแบบให้ดี ซึ่งแน่นอนเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นแก่นของวิชาชีพ แต่เราก็มองข้ามไม่ได้เช่นกันว่า…
แต่ว่า..อันดับแรกของการเริ่มโปรเจคเลยคือ… “การหางาน” เพราะถ้าไม่มีงานเข้ามา.. ไม่มีคุณลูกค้าที่น่ารัก ไม่มีโครงการต่างๆ เรา..ก็ไม่มีงานทำเช่นกัน
ประเด็นที่เราไม่ได้พูดถึง แต่น่าสนใจในการจับมากแลกเปลี่ยน จุดประกายตั้งแต่เรียน คือ Business Development และ การ Marketing เบื้องต้น เพื่อหางาน
ที่จะนำพาไปสู่การเรียนรู้ หาคำตอบว่า…
พวกเค้าสามารถรักษางานได้ด้วยอะไร นอกจากการออกแบบงานดีดี?
พวกเค้าสามารถสร้างเครือข่ายลูกค้า และ หางานดีดีเข้ามาได้ยังไง ในขณะที่ต้องทำงานออกแบบไปด้วย?
ถ้าเราไม่ตอบคำถามนี้อย่างจริงจัง…ว่าใครล่ะ? ทำหน้าที่หางานเข้ามาในบริษัท?
โดยปกติ เราก็ตอบไปเลยว่า หัวหน้า หรือ Marketing team? เดี๋ยวทำงานไป..ก็รู้เอง? ใช่ไหมคะ?
แต่ในความจริง กี่องค์กรณ์ที่จะมี วัฒนธรรมแบบนั้นเสมอไป ที่ยอมแยกให้ แต่ละคนทำงานตามที่แต่ละบุคคลมีความสามารถ หรือจุดแข็ง
“นายออกแบบเก่ง นายทำไปเลย ชั้นจะหางานเข้ามาให้นายเอง” สิ่งนี้เป็นส่วนน้อยเหลือเกิน ในโลกแห่งความจริง
การประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ในสาย Design Consultants / Design Service มันก็มีหน้าที่ในเรื่องของ “Business” เป็นองค์ประกอบ ที่มันมีอยู่ “ชัดเจน… แต่ไม่มีใครพูดถึง”ในวงการสถาปัตยกรรม แต่มันช่างเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ในวงการธุรกิจ
ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลกที่หมุนบนพื้นฐานของระบบ เศรษฐกิจ.. เราหนีคำว่า ธุรกิจไม่พ้น
แล้วการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยทำให้องค์กรณ์ในปัจจุบัน ให้นักออกแบบหางานเข้ามาด้วย เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ เพื่อที่จะเติบโตได้ในองค์กรณ์
ถามว่า.. ประสบการณ์ทำงานในองค์กรณ์ก็จะช่วยสอนเราเองไหม? ตอบว่า.. ใช่ และ ไม่ใช่
ประสบการณ์ในองค์กรณ์ สอนให้เราต้องหาทางออก หาคำตอบ ไขว่คว้าเรียนรู้เรื่องดังกล่าว แต่ไม่ได้มีระบบการสอนชัดเจนแต่อย่างใด แต่ใครทำได้ก่อน มีสิทธิก้าวหน้าในอาชีพก่อน
ในระยะแรก เราทำงานแน่นอน เราใช้เรื่องการออกแบบ แต่หลังจากทำงานในองค์กรณ์ได้สักระยะหนึ่ง พัฒนางานออกแบบ บริหารคน คุมงานก่อสร้างได้ แต่จะมีอีกskill ที่เป็นเพดานที่เราไม่เคยนึกมาก่อน มันคือเพดานของการก้าวหน้าในองค์กรณ์ ไม่ใช่ ความสามารถในการออกแบบ การประสานงาน หรือ การบริหารงาน แต่เป็น “ความสามารถในเชิงธุรกิจ”
ฟังดู อาจจะโหดร้าย ต่อนักออกแบบสายบริสุทธิ์ แต่ว่า เมื่อเริ่มทำงานไปได้ 2-3 ปี สิ่งเหล่านี้ มีผลต่อความก้าวหน้ามากทีเดียว
ความรู้ในเรื่องของ Business Development, Entrepreneurship และ Marketing เป็นสิ่งที่หากได้รับการปูพื้นฐานความเข้าใจ จะส่งผลประโยชน์อย่างมากในการเติบโตแล้วก้าวหน้าทางธุรกิจ ไม่ใช่แค่เพียง การออกแบบ
การทำงานในสายรัฐ การเริ่มต้นโครงการมันเริ่มมาจากวิสัยทัศน์ แบบตอนที่เราทำ Thesis
แต่การทำงานสายเอกชน การมีวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่แน่นอน ขาดไม่ได้ การออกแบบ เป็นคุณค่าที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างงานที่ดี มีคุณค่าต่อสังคม
แต่ความเข้าใจในเรื่องการหางานเข้ามาก็เป็นสิ่งสำคัญ ต่อการเติบโต ที่จะทำให้นักออกแบบแต่ละคน สามารถก้าวหน้าในวิชาชีพไปได้ไกลยิ่งกว่าเดิม
ประกอบไปกับการสร้างสรรงานออกแบบที่ดี
2. การขายงาน เล่างาน | How to Pitch your Design Idea? / Public speaking / Story-telling
การพูด เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบที่สำคัญมาก ในการสื่อสารงานออกแบบ ให้โลกได้รับรู้
เราเรียนรู้การออกแบบ เราฝึกฝนมัน และ เราได้มีโอกาสเล่างานให้อาจารย์ฟังทุกครั้งที่ตรวจแบบ จริงๆ สิ่งเหล่านี้คือ กระบวนการฝึกเรื่อง Story-telling แต่ทั้งที่จริงๆ มันเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ชัดอยู่แล้ว การที่จะมีวิชา หรือ หัวข้อ ศึกษา ช่วงเวลาให้เตรียมตัวพัฒนาการพูด การเล่าเรื่อง น่าจะเป็นอีกประเด็น ที่เป็นวิชาเลือกที่ดี
หากเรามองสถาปนิก ภูมิสถาปนิก ในวงการที่โด่งดัง.. มีใครบ้าง ที่เป็น Bad stoy-teller? แต่หากว่าเค้าพูดมาก พูดน้อย แต่สิ่งที่สื่อ และที่พูดมา สามารถทำให้คนเข้าใจ และ Buy in งานออกแบบของเขา
Art speaks for itself แต่ สถาปัตยกรรมไม่ใช่แบบนั้นตลอดเวลา
บทบาทหน้าที่ของสถาปนิก ภูมิสถาปนิก ต้องมีการอธิบายแนวความคิด เล่าเรื่อง และ สื่อสาร เพื่อให้บุคคลภายนอกเข้าใจถึงที่มา ที่ไป และความคิดในการออกแบบ การจะพูดในที่ชุมชน หรือ การพูดเพื่อขายงาน จึงเป็นอีก Skill ที่สำคัญ แต่ไม่ได้มีการเรียนการสอน เป็นวิชาอย่างจริงจังเท่าไหร่นัก
จริงอยู่ เรามีโอกาสพูด ในช่วงเวลา Final Presentation แต่มีกี่คนที่รู้จักการเตรียมตัว เพื่อพูดในที่ชุมชม เพื่อพูดงานตัวเอง แต่..อะไร..ที่เป็นหลักการ หรือวิธีในการรวบรวมความคิด และ เล่าเรื่อง?
ตัวอย่าง ตอนที่จอมได้มีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครในโครงการ ACE mentorship (Architecture – Construction – Engineering) ที่สอนนักเรียน Highschool ที่นี่ให้เข้าใจเรื่องของการออกแบบ และได้ลองลงมือทำโปรเจคจริงๆ หนึ่งในวิชาหนึ่งที่สอน ครั้งท้ายๆ คือ Public Speaking & Presentation คนที่มาสอน เป็นภูมิสถาปนิก ที่ต่อ Master ด้าน Public speaking มา
เค้าได้เล่าเรื่อง ของหลักการเตรียมตัวเบื้องต้น สิ่งที่ควรระวัง และ ท้ายบทเรียน ให้ออกมาลองพูดสด ใช้เวลา 5 นาที ให้ชัดเจน บทเรียนครั้งนั้น ทำให้เห็นว่า ทักษะการเล่าเรื่อง นั้นฝึกกันได้ และควรจะเป็นสิ่งที่มีการแนะนำ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะพูดเก่ง จะรู้วิธีเตรียมตัว และ คิดว่า “ต้องเตรียมด้วยเหรอ?”
ในวัน Presentationจริง หลังจากผ่านคำแนะนำ คำสอนจากแค่ Class สั้นๆ ครั้งเดียว เด็กมัธยมเหล่านั้น สามารถเล่าเรื่องได้ กระชับ ชัดเจน ตรงประเด็น และ มีลีลาในการเล่าที่แตกต่างไป เพราะได้เรียนรู้ว่า เราจะใส่ความเป็นเราไปในสิ่งที่เราจะพูดอย่างไร
นอกจากนั้น ในการทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คำที่ได้ยินบ่อยแทบทุกวันของการออกแบบคือ What’s the story? หากเราออกแบบได้ แต่เราไม่สามารถขายงาน ไม่สามารถ Pitch idea ของเราได้ในระยะเวลาอันสั้น อันจำกัด คุณค่าของงานออกแบบที่เราสร้างมา มันอาจจะไม่ได้ถูกดึงออกมาให้คนภายนอกเห็นอย่างเต็มที่
หัวหน้าองค์กรณ์ที่เป็นผู้นำ เป็นหน้าตาขององค์กรณ์ คือ คนที่เป็น Great Story-teller
ดังนั้น การพูด จึงเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะทำให้นักออกแบบ ก้าวหน้าไปวิชาชีพ และทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับ
จอมมีภูมิสถาปนิกไทย ที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากมาก เรื่อง Story-teller คือ พี่ ป๊อก คบคงสันติ ภูมิสถาปนิก จาก TROP (ที่หลายๆคนต้องรู้จักกันดี) ที่ไม่ว่าจะเล่าอะไรมันน่าฟัง มันเจ๋งไปหมด คืองานที่ดีอยู่แล้ว ยิ่งได้รับการสื่อสาร ถ่ายทอดที่ดี มันทำให้เราดึงพลังของมัน ออกมาหมดจริงๆ
Todd Johnson (FASLA), เป็น เจ้านายจอม อีกคน ที่เป็นสุดยอด Stroy-telling และ Leader ที่จอมว่าสุดตั้งแต่จอมมาอเมริกา และหาไม่ได้ง่ายๆ ก็ออกไปสอนที่ Utah State University
จอมได้มีโอกาสไปเจอกับท๊อดอีกครั้งตอนไปบรรยายที่งาน CELA จึงได้รู้ว่า นอกจากเค้าสอน Studio ยังเปิดวิชา Entrepreneurship in Design ! ที่สอนเรื่องของการขายงาน และเชื่อมโยงงานออกแบบไปสู่ระบบธุรกิจอย่างไร โอโห! คือ ถูกคนจริงๆ มองขาด!
มันน่าจะถึงเวลาแล้ว.. ที่เราจะส่งเสริมจุดนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ ให้มันเป็น “พรสวรรค์” แต่ ว่าส่งเสริม ผลักดันให้เค้าเก่งเรื่องนี้มากขึ้น
3.คุณค่าทางเศรษฐกิจ | Economic value of design
การเล่าคุณค่าของงานออกแบบ หากยกตัวอย่าง Sustainable Rings นี้ที่เจาะประเด็นเรื่องของ Environment, Social และ Economics
สิ่งที่เราสามารถเล่าเรื่องงานเราได้อย่างง่ายดายเลย คือ
ด้าน Environment ว่าเราทำให้สิ่งแวดล้อมดีอย่างไร หรือ ทำให้มันน่าอยู่ได้อย่างไร ประหยัดพลังงานไหม พูดได้ยาวแทบจะไม่จบสิ้น
หรือแม้แต่ เรื่องของ Social เกี่ยวกับสังคม ที่งานของเราเป็นประโยชน์ ต่อคน ต่อชุมชน ต่อระบบสังคมนั้นๆ อย่างไร
แต่พอมาถึงเรื่อง Economics ล่ะ?…. เงียบ ขอคิดสัก สองนาที กว่าจะคัดสรร กรองข้อมูล กรองความคิดออกมาได้ มันยากเย็นกว่า 2 ข้อแรกมากนัก หรือ พอออกมา ก็ไม่มีจำนวนข้อพรั่งพรู ออกมาแบบ 2 ข้อแรก…
ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าสำคัญอีกเช่นกัน
หากการเรียน การสอนจุดประกาย หรือลองมีโจทย์ที่ให้ทำการศึกษา และคิดถึงว่า ..งานออกแบบของเรา
มันสามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร?
มันช่วย Maximize และ ส่งเสริมการเกิดรายได้ให้กับโครงการอย่างไร? มันช่วยลดต้นทุนตรงไหนได้? มันช่วยสร้าง Branding ได้ไหม?
เราสามารถเล่าคุณค่าออกแบบ ในเชิงธุรกิจได้อย่างไร?
เพราะการที่เราสามารถแสดงคุณค่าทางเศรษฐกิจจากตัวงานออกแบบ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการที่เราจะไปคุยกับ ลูกค้า นักการเงิน และ องค์กรณ์ของรัฐ
นักออกแบบ ไม่ควรละเลยเรื่องนี้ เพราะจริงอยู่ มีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องเงิน แต่เนื่องจากเค้าไม่ใช่นักออกแบบ ไม่มีทางที่เค้าจะเข้าใจคุณค่างานของเราไปได้ดีกว่า หรือ ก่อนตัวนักออกแบบเอง หากเราไม่สามารถแสดง หรือ ตอกย้ำคุณค่าเหล่านั้นได้ เราก็ขาดพลังในการที่จะสนับสนุนงานออกแบบของเราอย่างสมบูรณ์
4.Management : Time & Team (staffing), how to get along
สิ่งเหล่านี้แทรกในงานกลุ่มที่ทำตอนเรียนอยู่แล้ว แต่ว่าระบบการเรียนการสอนมีส่วนในการช่วยส่งเสริมได้ ยิ่งขึ้นไปอีก การเรียนรู้โดยการทำเอง เป็นสิ่งที่ดี แต่การได้รับคำแนะนำในการทำอย่างถูกต้อง หรือมีหลักการตัวอย่างจะช่วยทำให้นักเรียนต่อยอด เอาไปพัฒนาเองได้
เพราะ การจัดการ บริหารเวลามีความสำคัญมาก ต่อการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องส่งงานนั้น และทุกคนต้องใช้การจัดการไม่มากก็น้อยในการที่จะ วางแผนและทำงานให้เสร็จตามเวลา
การที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารเวลา และบริหารทีมงาน(กลุ่ม)จึงเป็นส่วนสำคัญมาก ที่ควรแสดงให้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ และการผลิตผลงาน ได้ตามเป้าและมีประสิทธิภาพ
ตั้งแต่…
การจัดการเวลา (Time-Management)การเลือกคนทำงาน และแบ่งงานตามความถนัดและเหมาะสม (Staffing, Resource-Management) ที่เลือกแบ่งงานเพื่อใช้ศักยภาพของแต่ละคนให้ได้ประโยชน์สูงสุดการทำงานร่วมกับคนอื่น (Teamworking) การดูแลความสัมพันธ์คนในทีมการเลือกวิธีการทำงาน แนวทางผลิตงาน (Strategy, Technology, Method)การควบคุมคุณภาพงาน (Quality Control)
สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นรอง เมื่อเทียบกับพื้นฐานในการออกแบบ แต่เมื่อเข้ามาสู่องค์กรณ์ การทำงานจริง สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะในมหาลัย ก็เหมือนการจำลองสังคมเล็กๆ ก่อนจะออกไปสู่สังคมใหญ่ในการทำงานจริง
5.Business & Money : เข้าใจสุนทรียภาพของธุรกิจ และความสำคัญของการเงิน
เราจะเชื่อมโยงบทบาทหน้าที่ของงานออกแบบ กับ เป้าหมายทางธุรกิจ อย่างไร? คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามพื้นฐาน ในการประกอบวิชาชีพ ในโครงการจริงที่ต้องติดต่อกับลูกค้า นักลงทุน
จริงอยู่ ที่วิชาชีพนั้นกว้าง หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวกับองค์กรณ์ที่ต้องยุ่งกับการเงินเสมอไป แต่ว่า ในความจริงปัจจัยใหญ่ที่หมุนโครงการมากมาย ก็มีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยว
หากเราได้รับการปูพื้นฐานความเข้าใจเรื่องของการเงิน และระบบธุรกิจเบื้องต้น จะดีต่อการขยายวิสัยทัศน์ และ ลดขีดจำกัดในความก้าวหน้าทางวิชาชีพอีกด้วย
ที่ University of Colorado at Denver ได้มีการเชิญภูมิสถาปนิกระดับ Principal มาสอนนักเรียนสถาปัตย์/ภูมิสถาปัตย์/ผังเมือง ถึงระบบให้ฟังว่า การจะเป็นองค์กรณ์ได้ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง และ เรื่องของการเงินหน้าตาเป็นอย่างไร และ แบบฝึกหัดคือ ถ้าเป็นธุรกิจของคุณล่ะ? คุณจะวางมันอย่างไร?
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป.. และยิ่งเราหลีกเลี่ยง เราก็ยิ่งตามโลกยุคปัจจุบันไม่ทันทุกมุม
การเตรียมความพร้อมให้ครบมุม จึงเป็นสิ่งสำคัญ
6.Leadership / initiative
ความเป็นผู้นำ นั้นเป็นskillที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
การหาทางออก การตัดสินใจ ทำอย่างไรให้เพื่อนร่วมงานเชื่อมั่นในตัวเรา?
การริเริ่ม การแสดงออก และ การเป็นผู้นำ เริ่มมาจากตัวนักเรียน แต่ละบุคคลเอง แต่จะมีกลไก หรือวิชาใดที่ช่วยผลักดันให้เขาเหล่านั้น เป็นนักริเริ่ม และกล้านำหรือไหม?
การสร้างสิ่งแวดล้อม ที่ไม่มีผิด ถูกในการแสดงความคิดเห็น และ การเป็นผู้นำ จึงเป็นอีกกลไกที่ช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออก และสร้างผลงาน ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่จุดประกายความคิด แต่ยังเป็นผลงานใน Resume อีกด้วย
ทิ้งท้าย
เรื่องการออกแบบ ความรู้ทางการก่อสร้าง มันสำคัญเป็นสิ่งที่ต้องมีขาดไม่ได้ แต่ 6 ข้อที่ยกมานี้ ก็เป็นองค์ประกอบที่มีผลต่อการทำงานสาย Corporate หรือ Design Service / consultants เยอะมากเช่นกัน
ส่วนมากเพื่อน หรือ รุ่นน้องที่รู้จัก นับได้ 90% จะไม่สนใจเรื่องธุรกิจ (รวมจอมไปด้วยเลย) แต่เพราะแบบนี้แหละค่ะ จอมเลยอยากบอกว่า มันสำคัญนะ แม้เราจะไม่สน แม้เราจะไม่ชอบ แต่ถึงจุดหนึ่งมันจะต้องใช้ค่ะ ทางที่ดี ก็เตรียมตัวแต่เนิ่นๆค่ะ เพราะสุดท้ายเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ I’m with you, but you gotta do it. นะคะ
หวังว่าบทความนี้ อาจจะช่วยชี้ให้เห็นประเด็นที่ช่วยในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการออกมาทำงาน และ ทำให้เห็นคุณค่าของการใส่ใจในประเด็นเหล่านี้มากขึ้นนะคะ