9 ข้อดีในการใช้ VR และ AR พัฒนาการออกแบบในสายสถาปัตย์

หลายๆคนรู้จัก VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) ที่รู้จักกันดีคือ การใช้งานในการเล่นเกมส์ แต่แท้จริงแล้ว ในหลายปีที่ผ่านมา VR-AR ยังได้ถูกใช้ในวงการสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมอย่างแพร่หลายอีกด้วย โดยเฉพาะสายสถาปัตยกรรม, ภูมิสถาปัตยกรรม, ตกแต่งภายใน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้นรับเข้าไปใช้ในออฟฟิศออกแบบชื่อดังมากมาย ทั้ง Gensler, CarrierJohnson + CULTURE, Design WorkShop, Livable cities studio และ อีกมากมาย ที่จอมเองก็เคยได้ลองใช้มาแล้ว ก็เลยอยากมาเล่าต่อ เพราะไม่ใช่แค่เพราะความต้องการของนักออกแบบอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่ลูกค้าที่ได้ลองก็ต้องยอมรับในศักยภาพของมัน แถมทำให้แบบผ่าน ถูกใจคุณลูกค้าได้ง่ายขึ้นในหลายกรณี

โอ้ย ! ประโยชน์มันสารพัด !

หากเราจะหลีกเลี่ยงตีเนียน ทำเป็นไม่รู้ว่ากระแสนี้กำลังมา ก็ไม่ได้แล้ว วันนี้จอมเลยจะมาเล่าเรื่องของการใช้งานเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆตัวนี้ เพื่อมาพัฒนางานออกแบบ กระบวนการออกแบบของเราให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยในด้านการสื่อสารไอเดียในสายสถาปัตยกรรมและใกล้เคียงค่ะ

VR หรือ AR?

VR กับ AR มีความแตกต่างกัน แต่ก็คล้ายกันในเชิงการจำลองภาพแต่ในขอบเขตที่ต่างกัน

Virtual Reality (VR)

คือ เราเอาตัวเราเองเข้าไปในโลกสร้าง โลกDigital สิ่งแวดล้อมจำลอง เพียงแค่เราสวมเจ้า VR headset เข้าไปเท่านั้น เราสามารถเดิน และเข้าไปสัมผัสโลกที่เราเพิ่งเขียนโมเดลสามมิติ และสำรวจมันได้เลย แต่ในขณะที่ …VR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรม

Augmented reality (AR)

คือ การที่เรายังเห็นภาพของโลกจริงจากตาของเรา แต่เราสามารถเอาข้อมูลDigital (เช่น พวก BIM, CAD) มาประกอบ และแสดงร่วมกันพร้อมๆกับสิ่งที่ตาเห็นเหล่านั้น

พวกข้อมูลที่ว่า ก็อย่างเช่น BIM, CAD, โมเดล 3มิติ ของอาคารที่เราอาจจะเพิ่งขึ้นเสร็จเมื่อคืน(อดนอนมาใช่ไหม? ;D) หรือแม้แต่ SketchUp file ของ Furniture ที่ใช้ในงาน Interior

เมื่อมี AR ลองนึกว่าเราหยิบมือถือมาเปิดกล้อง แล้วเราสามารถนำ Object เหล่านี้แสดงแบบ Real-time ไปพร้อมๆกับการเห็นภาพจริงๆของสถานที่จริงในกล้องมือถือได้เลย มุมมองเหล่านี้เค้าเรียก augmented viewVR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมImage Courtesy of wear studio http://wear-studio.com/en/arproperty

จริงๆแล้วมีอีกสิ่ง…ที่จอมจะไม่พูดถึงวันนี้ เพราะจะจุกอกกันมากไป คือ MR หรือ Mixed Reality ที่รวมเอาทั้ง VR+AR คือสวม headset แต่เห็นแบบโลกจริง ปนโลกดิจิตอล เอ้า!งงอ่ะดิ ไม่ต้องห่วง ยังไม่เข้าเรื่องนี้วันนี้ กลับมาโลก VR+AR เพื่องานสถาปัตย์กันต่อ ;P

จากนี้ไปจะขอเรียกสั้นๆแค่ว่า VR และ AR แล้วกันเนอะ

ประโยชน์ที่เราจะได้

ปรากฏการณ์ที่ VR / AR สร้างประโยชน์ให้วงการสถาปัตยกรรม จริงๆมีหลากหลายแต่สิ่งหลักๆที่กำลังเปลี่ยนวงการออกแบบของเราไปคือ การนำเสนอ “Work flow” ใหม่ให้กับกระบวนการออกแบบ (Design Process) ที่ไม่ใช่แค่ทำให้เรามีทางเลือกในการพัฒนางานออกแบบเพิ่มขึ้น แต่ปลดล็อคข้อจำกัดเดิมๆ ทำให้เราพัฒนางานเราไปได้ไกลกว่าเดิม ในเวลาที่สั้นลง เค้าทำยังไงกันน่ะเหรอ? ไปดู 9 ข้อที่น่าสนใจกันเลย

1.Immersive Experience with less sweat | เดินในงานก่อนสร้างจริง แบบไม่ต้องเสียเหงื่อ

สัมผัสประสบการณ์ในงานออกแบบ แบบเดินเข้าไปจริง ก่อนจะสร้างอาคาร หรืองานภูมิทัศน์ออกมา เราต้องทำโมเดล 3 มิติด้วยโปรแกรมต่างๆ ไม่ว่าจะ 3DsMax, SketchUp, Rhino, Revit หรืออะไรก็ตาม

แน่นอนเราคุ้นชินกันกับหมุนๆในจอกันดี แต่การที่เราเข้าไปดื่มด่ำกับที่ว่างในสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเลยล่ะ? เราจะทำมันยังไง นอกจาก จินตนาการเพิ่มเติม (ที่เอาเข้าจริงๆ คนทุกคนมีความสามารถในการแปรข้อมูล นึกภาพในหัว และจินตนาการไม่เท่ากัน) แต่เมื่อมี VR เข้ามาช่วย มันไม่ใช่แค่เราเห็นในจอ แต่จำลองว่าเรารายล้อมด้วยสิ่งแวดล้อมนั้น เหมือนเอาตัวหย่อนเข้าไปอยู่ในโมเดล คือ เราสามารถเดินเข้าไปในตัวโมเดลของเราได้ (วิ่งก็ยังได้เลย จอมเคยลองวิ่งกระโดดจากชั้น 4 ลงมาบนพลาซ่าที่ออกแบบแล้ว สะเทือนใจดีเหมือนกัน)

มันคือประสบการณ์การเดินเข้าไปสัมผัสงานเรา ก่อนที่มันจะสร้าง มันช่วยให้เราเห็นงานออกแบบของเรา จุดอ่อน และสิ่งที่ต้องพัฒนาที่บางทีเราไม่เห็นใน model ตอนเราขึ้นมันด้วยซ้ำ เช่น

“เฮ้ย ตรงนี้มันไม่ดู Grand ขนาดที่เราคิดว่ะ”

“เฮ้ย ไอ้ตัวนี้มันมาแย่งซีน ไม่ใช่อย่างที่คิด”

“เฮ้ย อันนี้เตี้ยไปว่ะ สูงได้อีกนะ”

อะไรอย่างนี้เป็นต้น VR ช่วยเปิดมุมมองหลายๆอย่างให้เราได้ดีทีเดียว ไม่ใช่ตอนงานเสร็จ แต่ตอนกำลังออกแบบนี้แหละ VR ช่วยเป็นเครื่องมือในการคิดแบบที่ดีมากมาก

2.Better Design Communication to Clients | อธิบายแบบ ขายงานให้ลูกค้าง่ายขึ้นเป็นกอง

การสื่อสารให้ลูกค้า เจ้าของงานเข้าใจในงานออกแบบของเราเป็นสิ่งที่เราต้องทำเป็นปกติ เราจึงสร้างภาพแบบต่างๆ ตั้งแต่ ทัศนียภาพหลากมุม ไดอะแกรมแผนภาพอธิบายเรื่องจ่างๆ, ไปจน Aerial Perspectives หรือในบางครั้งต้องทำ Animation VDO เพื่อเล่า“แบบ”หรือสื่อสารแนวคิดของเราให้เข้าถึงลูกค้าได้ ทีนี้หลายๆครั้งข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพียงไม่พอ แต่บางทีการ “พาลูกค้าไปสัมผัสประสบการณ์ การเดินในงานออกแบบจริงๆ (ทั้งที่มันยังไม่สร้างน่ะแหละ)” ก็ช่วยสนับสนุนแบบเราได้ดียิ่งขึ้นยกตัวอย่างที่ Gensler Design คุณ Hao Ko สถาปนิกอาวุโสของบริษัทยังกล่าวไว้ หลังจากเริ่มนำ VR มาใช้ในการแสดงงานออกแบบผ่าน VR ให้ลูกค้าเล่นดู ทันทีที่ลูกค้าใส่ หน้ากากVRเข้าไปเดินในงาน ลูกค้าบอกว่า “โอ้ เยี่ยม สร้างแบบนี้แหละ เอาเลย ผมอยากได้อย่างนี้แหละ!”
ไม่เว้นแม้แต่บริษัท ที่จอมเคยร่วมงานด้วยอย่าง Design Workshop ก็จะชอบเชิญลูกค้ามาที่ห้อง VR เพราะทำให้ลูกค้าสามารถมาทดลองเดินในงานได้จริงๆ เพราะโดยปกติ ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่ได้มี VR setเป็นของตัวเองเท่าไหร่นัก (นอกจากเป็น developer ชื่อดังขนาดใหญ่ยักษ์) แต่การได้สัมผัสเทคโนโลยีนี้เป็นความสนุก ตื่นตาอีกแบบ ที่พบว่าลูกค้ามีความตื่นเต้นกับการมาเยี่ยมออฟฟิศมากขึ้นทีเดียว 555

 

3.Better Collaboration | พัฒนางานออกแบบร่วมกับคนอื่นง่ายขึ้น

VR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรม

ไม่ใช่แค่อธิบายลูกค้า แต่เพราะมันช่วยเราตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ที่ไม่ใช่เราเข้าใจของเราคนเดียว ทำคนเดียว แต่ร่วมกันคนอื่นในทีมด้วย เจ้านายที่เคยปวดหัวกับการต้องหมุนโมเดล เลยไปเรียกลูกน้องมาหมุนให้หน่อย…ก็หมดปัญหา เพราะมาเดินเล่นในนี้ได้เองจริงๆเพื่อนร่วมทีม ไปจนคนที่เราชวนมารีวิวงานออกแบบของเรา (ในหลายๆออฟฟิศที่อเมริกา จะมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า Design Review ที่ให้คนนอกทีมมาดูงาน แล้วรีวิว พร้อมให้คอมเม้นท์เพื่อไปพัฒนาต่อ ทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ) สามารถสัมผัสงานอีกมุมนอกจากดูในกระดาษ และส่งต่อไอเดียได้อย่างรวดเร็ว

ที่วิธีนี้ไม่ใช่แค่ทำได้ใน VR แต่ใน AR ด้วยVR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมImage Courtesy of Windows Store

 

4.Better Remote Reviewing | ตรวจงานแบบทางไกล แต่เข้าใจกันมากขึ้น

VR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมImage Courtesy of Fuzor Video from youtube https://www.youtube.com/watch?v=DUwBQjjeVsQ

ในกรณีที่บริษัทที่ทำงานร่วมกัน อย่างสถาปนิก ภูมิสถาปนิก หรือ นักออกแบบตกแต่งภายใน ไปจนลูกค้า ที่ไม่สามารถมาพบเจอกันตัวต่อตัวได้ เนื่องจากอยู่ห่างไกลคนละเมือง คนละรัฐ หรือ คนละประเทศ ก็สามารถเข้าไปรีวิวงานทั้งๆที่เราไม่ต้องเจอกันก็ได้ เหมือนจะธรรมดา ก็เหมือนส่งไฟล์ทั่วไปนี่นา?! ใช่ แต่ลองคิดว่า แม้เรากับทีมสถาปนิกอีกทีมอยู่คนละซีกโลก แต่ถ้าเราสามารถเดินเข้าไปใน Digital Built Environment นี้พร้อมกัน เพียงแค่เราใส่ headset ล่ะ (หรือแม้ไม่มีก็ยังทำได้เช่นกัน เพียงแต่จะไม่ใช่ Immersive Experience)ขีดจำกัดมันเปลี่ยนไปจากโลกยุคเดิมแล้ว เรากับทีมใกล้กันมากขึ้น ส่งต่อข้อมูลกันได้ง่ายขึ้น

อย่าง Fuzor ก็เป็นหนึ่งใน Platform for VR collaboration

 

5.Save Time & Faster Iteration | ประหยัดเวลา

VR ช่วยเราพัฒนางานได้เร็วขึ้น ด้วยการเปิดมุมมองใหม่ๆให้เข้าถึงได้ง่ายกว่าแค่การต้องหมุนโมเดล หรือ Export ทีละรูป
แต่ก่อนอื่นต้องเน้นย้ำว่า จุดประสงค์ของ VR คือ การให้เราเข้าใจที่ว่าง ขนาดของปริมาตรที่ว่าง(Volume) ได้ดี แต่ไม่ได้ลงดีเทลละเอียด VR นั้นไม่ได้มาทดแทนการสร้างทัศนียภาพสวยๆ เพื่อการ Marketing ตอนหลัง แต่เป็นการแสดงไอเดียหลักๆเบื้องต้นในช่วงพัฒนาแบบ (ในกรณีอยากทำเพื่อการ Marketing ก็ทำได้ แต่ใช้เวลา)

เราสามารถใช้ VR ในการทำ Study Model เดียว แล้วเดินดู แทนที่จะต้องมานั่งเรนเดอร์ export 20 วิว ต้องทำหลายๆมุมมองให้ครบ เพื่อส่งให้คุณลูกค้า หรือผู้ร่วมงานอีกบริษัท เข้าใจงานเราได้ง่าย ในช่วงระยะเวลาสื่อสาร พัฒนางานออกแบบ การใช้ VR ช่วยในการสื่อสารทำให้หลายสิ่งง่ายขึ้น เพราะเราเห็นภาพตรงกัน และมีเวลากลับมาแก้ มาพัฒนางานออกแบบ

 

6.Gesture control | สร้างงานด้วยมือเรา

VR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมVR เทคโนโลยีทำให้เราสามารถ “ใช้มือ” สร้าง ปั้น ขยับ ตัวโมเดลของเราได้
ใครที่บอกว่างานdigital ทำให้เราใช้มือน้อยลงอาจจะต้องถอนคำพูดนี้ไป เมื่อได้มาเจอเทคโนโลยีนี้

ลองดูวีดีที่ CarrierJohnson + CULTURE ใช้ VR ในการทำโมเดลสามมิติดู

เห็นไหม VR ไม่ได้มีคุณค่าแค่เรื่องการสื่อสารงานออกแบบ หรือ การปรับพัฒนางานออกแบบ แต่ไปถึงกระบวนการผลิตสร้างโมเดลสามมิติด้วย

ทีนี้มาเข้าถึงประโยชน์ของ AR กันบ้างดีกว่า ที่ไม่ได้น้อยหน้า VR แต่ช่วยในจุดประสงค์ และสถานการณ์ที่แตกต่างไปทั้งในการไปเดินในไซท์งาน จนถึงวิธีการนำเสนองานออกแบบ เพื่อสร้างความประทับใจ

7.Your Design in Real world | เดินดูไซท์จริง พร้อมทดลองใส่ 3D model

VR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมAR ได้ถูกนำไปใช้ในวงการก่อสร้างด้วย อย่างที่New Zealand ใช้ App ที่ชื่อ CityView AR เพื่อช่วยในการฟื้นฟูเมืองหลังจากเจอความเสียหายจากแผ่นดินไหว ที่ทำให้เมืองทรุดโทรม เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง โดยนักออกแบบเมืองและสถาปนิกก็มารวมตัวเพื่อการสร้างเมืองใหม่ โดยใช้ AR เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ทดลองเอา โมเดล3มิติ ของอาคารไปลองวางในเมืองจริงๆ เพื่อช่วยในการประเมิณเรื่องการออกแบบ

แต่ถ้าเรื่องของตัวอย่างข้างต้นดูไกลตัวไปนิด ลองคิดว่าเราเดินเข้าไปในพื้นที่โครงการที่เราออกแบบไม่ว่าจะเป็นที่โล่งๆรอสร้าง หรือ อาคารที่สร้างแล้วกำลังรอทำการตกแต่งให้เสร็จ เราหยิบมือถือขึ้นมา สามารถโยนโมเดล3มิติของ เก้าอี้ ม้านั่ง และ Furniture ต่างๆลองใส่ลงไปในนั้นได้จริงๆ ในกรณีนี้เหมาะมากที่สุดกับนักออกแบบตกแต่งภายใน หรืองานสาย Renovate ที่สามารถลองเอา Object และวัสดุต่างๆมาทดลองตกแต่ง จับคู่กันในหน้าจอมือถือ หรือ Ipad ได้เลย ไม่ต้องรอกลับไปเปิดคอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศ มีหลาย Application ในปัจจุบันที่สามารถเล่น AR แบบนี้ได้ เช่น

ARki (https://www.darfdesign.com/arki.html)
Pair (https://www.pair3d.com/)

 

8.Measuring things up quickly | วัดความยาวหน้างาน โดยไม่ใช่สายวัด

VR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมImage Courtesy of Tapmeasure.io

วิธีนี้เป็นการใช้ AR แบบอ้อมๆ แต่ว่ามีประโยชน์ต่อการไปเดินหน้าไซท์งาน หรือเดินสำรวจที่ต่างๆแล้วเราเกิดอยากจะรู้ขนาดกว้างยาวของพื้นที่นั้นๆขึ้นมา แค่หยิบมือถือมา ยิงแอปไป ได้เลขมาเลย!

App ที่ทำได้ก็เช่น Tapmeasure https://tapmeasure.io/

9.Smarter way for presentation | นำเสนองานแบบขั้นมหาเทพ

VR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมImage Courtesy of Augment

มาถึงข้อสุดท้าย ที่ AR ระเบิดศักยภาพการนำเสนองานออกแบบได้ถึงขีดสุด ที่สามารถใช้ได้ในหลากหลายขั้นแต่ที่เห็นชัดๆเลย คือการทำ Pop-up model จากกระดาษ หรือจากวัตถุต่างๆที่เราเลือก

ลองนึกนะลองนึก… เราส่งลูกค้าเป็นเล่ม เปิดถึงหน้าผัง พอเอามือถือฉายไปที่ตรงแปลนชั้น 1 เราจะเห็นโมเดล 3 มิติของอาคารนั้นพุ่งขึ้นมา ! Image Courtesy from https://www.youtube.com/watch?v=oGLb1cxGm-c

หรือ แม้แต่ เราส่งแปลนแค่แผ่นเดียว แต่แท้จริงมันแอบมีข้อมูลซ่อนอยู่ เพียงแค่เอามือถือไปส่องVR Virtual Reality และ AR Augmented Reality ใน การออกแบบ สายสถาปัตย์ สถาปัตยกรรมImage Courtesy of Augment

Augment ก็เป็นหนึ่งใน App ที่ทำสิ่งนี้ได้ (http://www.augment.com/)

 

หรือจะทำแทน Physical Model ก็ยังได้เลยนะ!อย่างวีดีโอข้างล่าง เป็นของ SketchUp ที่ใช้ Hololens ของ Microsoft

เป็นไงล่ะ ตอนนี้เราได้วิธีการนำเสนองานรูปแบบใหม่ ที่ Surprise ลูกค้าได้อีกเลเยอร์หนึ่ง(หรือมากกว่านั้น)แล้วนะ

จริงๆเรื่องนี้ไม่ใหม่เลย เพราะ 9 ปีที่แล้ว BIG ก็เคยใช้แนวทางคล้ายๆกันในการอธิบายโมเดล(physical model)งานของเค้า ผ่านการ Overlay พวก Diagram ต่างๆลงไปในวีดีโอ ที่อยู่ในสภาวะของ Augmented View เช่นกัน

8H – The 8-House from BIG on Vimeo.

แต่ ณ วันนี้เราสามารถทำผ่านระบบ AR แล้วเลเยอร์ลงบน Physical Model ได้ไม่ต้องมานั่งตัดต่อทำวีดีโอให้เมื่อยแล้ว

AR นี่ก็ไม่ธรรมดาจริงๆ

 

โอกาสใหม่ในการเล่น…กับกระบวนการออกแบบ

โลกของการนำเสนองาน และวิธีการพัฒนางานออกแบบ มันไม่ได้หยุดอยู่เท่าเดิมอีกแล้ว มันช่างน่าตื่นตา และมีโอกาสให้เราเล่นขึ้นอีกเยอะ ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา VR/AR นั้นได้นำมาใช้ในการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นทุกทีๆอย่าหยุดอยู่กับแค่เทคโนโลยีที่เรารู้จัก แต่ลองนำสิ่งใหม่ๆมาใช้พัฒนาเราในวันนี้ ให้ดีและล้ำยิ่งขึ้นไปอีก

มีใครใช้ VR / AR ในงานออกแบบกันแล้วบ้าง? มาเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ

หากใครเคยแอบแบน แอบแอนตี้ หรือไม่อินกับสาย Digital ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร อยากให้ลองเปิดใจมารู้จักข้อดีของมันก่อน ลองไปสัมผัสมันจริง เพราะเทคโนโลยีนี้สร้างโอกาสใหม่ๆให้เราเยอะจริงๆ จอมนำมาเล่าให้ฟังเพราะเห็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานในวงการออกแบบ และได้รับการยอมรับมากขึ้น ที่ทางอเมริกาก็ใช้กันอย่างมากขึ้นทุกวันๆ เลยไม่อยากให้พลาดกันเนอะ

ใครสนใจในประเด็น VR และ AR เพื่องานออกแบบในสายภูมิสถาปัตยกรรม หรือสายใกล้เคียง ก็ส่ง feedbackกันมานะคะ เพราะจอมมีผู้เชี่ยวชาญสายนี้รอบตัวเพียบที่อเมริกา ที่สามารถมาส่งต่อความรู้ให้ชาว Dream Action ได้ สำหรับวันนี้ฝากไว้เท่านี้ก่อน แล้วเจอกันใหม่โอกาสหน้าค่าา

Reference Information