ฝึกภาษายังไง ? 4 เทคนิคของจอมในการฝึกภาษา

“พี่จอมฝึกภาษายังไง? เห็นพี่ไปทำงานเมืองนอกด้วย ต้องเตรียมตัวยังไงเรื่องภาษาบ้าง”มีน้องถามคำถามนี้หลายครั้ง ไม่เคยได้จัดให้ แต่ยังไงวันนี้คิดว่าจะเล่าให้ฟังนะคะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กัน ลองดูเลย

ตอบแบบจอมจอมนะ

เอาจริงๆเราต้องจากว่าจะฝึกไปเพื่ออะไร แล้วเราจะได้ วาง GamePlan แล้วค่อยออกแบบ Action ที่จะเราทำ เพื่อให้เราทำมันให้ได้

ปล. ที่บอกให้ออกแบบ Action ออกแบบแล้วต้องทำนะ ไม่ใช่แค่เขียนสวยๆฝึกภาษายังไง ? 4 เทคนิคของจอมในการฝึกภาษาจอมขอแบ่งประเด็นเทคนิคการฝึกออกเป็น 4 ส่วน ไม่ได้แยกตาม 4 ทักษะนะ แต่เราต้องไปแยกย่อยในนี้กันต่อเองค่ะ ทักษะที่ว่าก็

  • การอ่าน (Reading)
  • การฟัง (Listening)
  • การเขียน (Writing)
  • การพูด (Speaking)

สี่อย่างนี้ ต่างกัน แต่ก็ฝึกด้วยกันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ต้องใส่ใจแยก แต่ถ้าเราค่อยๆเริ่มไป ส่วนหนึ่งมันจะพาเราไปอีกส่วนหนึ่งเอง แนะนำว่าเริ่มสักอย่าง แล้วค่อยๆต่อไปอีกอย่าง พอคล่องค่อยเอามันมาสมาส มาใช้พร้อมๆกัน

4 สิ่งที่ต้องทำในการฝึกภาษา

 

1.ฝึกให้ตรงจุด | Straight to the Point

ถามว่าตัวเองฝึกไปทำอะไร จะได้เน้นให้ถูกจุด ฝึกเพื่อไปสอบ หรือไปใช้งาน ถ้าไปสอบเราก็จะเตรียมเผื่อไปสอบ แต่ถ้ายกตัวอย่างจอม ฝึกเพื่อสื่อสารในสายงาน เพื่อประโยชน์ต่อสายที่เรียน มันก็ไม่ใช่ว่าไปเรียนสนทนาภาษาอังกฤษประจำวันอย่างเดียวแล้วจะได้เลย ก็ต้องเจาะหน่อย ตัวอย่าง จอมตั้งเป้าไว้คร่าวๆประมาณนี้ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยนะ

Goal 1 : ลดขีดจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องสามารถอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเพื่อเสพย์เองได้

Goal 2 : สามารถสื่อสารแนวความคิดในการออกแบบ ที่เราคิด ออกมาให้คนฟังๆแล้วเข้าใจ หรือคนอ่านๆแล้วเข้าใจ

Action : สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องฝึก 2 ส่วนแยกกัน คือ Reading และ Speaking แปลว่า….

Action For Goal 1 : Reading Improvement

Tactic : ฝึกอ่านให้ชิน เพื่อให้คุ้นเคยกับระบบภาษาและศัพท์โดยที่มีการอ่านที่ตรงกับสิ่งที่ต้องการจะพัฒนา (เช่น Design) และสามารถปนเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องไปได้ (เช่น ข่าวสารบันเทิง กาตูน) สัดส่วน เริ่มจากส่วนที่ง่ายเยอะกว่า แล้วยากน้อยกว่า แล้วค่อยๆลดเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องที่ง่ายกว่าลงไปทีละนิด

  • อ่านเรื่องเฉพาะทางที่อยากเก่ง เช่น เรื่องการออกแบบ การเอาหนังสืออ้างอิงที่อาจารย์สอนมาไล่อ่าน เป็นเบสิคที่อย่างน้อยทำให้เรามีพื้นเดียวกับที่ที่เราศึกษา อย่างน้อยเราใช้ศัพท์ชุดนั้น เนื้อหาตรงนั้น เรารอด และเกินกว่านั้น แบ่งเวลาไปอ่านเพิ่มในหัวข้อ ต่อยอดออกมา เพื่อเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ทีนี้พอเราทำบ่อยๆ ศัพท์ในการสื่อสารเรื่องเฉพาะทางของเราก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เรื่องในชีวิตประจำวัน
  • ศัพท์ชีวิตประจำวัน การสื่อสาร เหมาะสำหรับวันเบาๆ ง่ายๆ ใช้เวลาอ่านพวกสื่อออนไลน์ ข่าวสารต่างๆ จะไม่ต้องคิดเยอะมาก เอาส่วนที่ง่ายๆแบบนี้ปะปนไป จะทำให้เรามีกำลังใจ และมันก็มีประโยชน์เช่นกัน

Action For Goal 2 : Communication Improvement

Tactic : สื่อสารโดยการพูดได้ (Speaking) และก็ต้องฟังได้ (Listening) ไม่ใช่พูดฝ่ายเดียว เราจะใช้วิธีการเรียบเรียงความคิดในการสื่อสารโดยการ “จดความคิด” ทำให้ ต้องฝึกเรื่องของ การเขียนประเด็นลงไปด้วย ที่จะช่วยในการฝึกการเขียนภาษาอังกฤษ (Writing) ได้ในอนาคตด้วย

  • เขียนประเด็นที่เราต้องการจะสื่อ เอาแค่ Outline หรือกรอบไอเดียคร่าวๆก่อน เริ่มจัดกลุ่มข้อมูล ว่าจะพูดอะไรพร้อมกัน อะไรก่อนหลัง ห้ามเขียนเป็นประโยคตอนนี้
  • เริ่มลองเอาข้างต้นมาเรียบเรียงเป็นประโยค
  • คิดว่าเค้าจะถามอะไร คนดูจะสงสัยอะไร เตรียมคำตอบไว้ก่อน ตอนโดนจะได้ไม่งง คิดไม่ออกว่าจะใช้คำว่าอะไร
  • ฝึกฟังบ่อยๆ เช่น ฟัง Ted Talk, Podcast หรือ ฟัง Audio Book ในเรื่องที่เกี่ยวกับสายงาน หรือดูจะมีขุมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

2.คุ้น + สนุก | Enjoy it

ทำตัวเองให้คุ้นเคย ให้ชอบมัน ถ้าวันแรกไม่ชอบ ก็หาส่วนที่เราชอบมันให้ได้ แล้วใช้เวลากับตรงนั้นด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อฝึกตามข้อแรกอย่างเดียว คือ ตามเป้าแล้วจบ เพราะมันช่วยเหลือกันทางอ้อม การทำอะไรที่เรามีใจให้มันบ้าง มันดีกว่าฝืนๆทำไปอยู่แล้ว

Goal : ทำตัวเองให้สนุกกับภาษา และให้เวลาตัวเองกับภาษามากขึ้น

Action list

  • ดูหนัง ดูคลิปไม่เปิด Subtitle ภาษาไทย ถ้าจะเปิดให้ลองเปิด Subtitle ภาษาอังกฤษแทน จะช่วยให้หัดอ่านพร้อมฟังไปพร้อมๆกัน แล้วปล่อยให้มันแปลในหัวเราให้ได้
  • ฟังเพลง แปลเพลงที่ชอบ
  • สำหรับใครที่ชอบดูแค่กาตูนญี่ปุ่น ก็ไม่เป็นปัญหา ไปหารุ่นที่มี English Subtitle แล้วจะพบว่า เราต้องเอาตัวรอดดูตอนนี้ให้จบ โดยการอ่าน Subtitle มันให้ทัน หรือถ้าเป็นกาตูน Manga ก็ไปหาที่เป็นภาษาอังกฤษซะ แม้อรรถรสมันจะไม่เหมือนเดิม แบบที่เราเคยอ่าน แต่เชื่อเหอะ มันช่วยเราเยอะมาก จริงๆมันอยู่ที่ความเคยชินที่เราสร้างทั้งนั้น ตอนนี้จอมอ่าน one piece ก็อ่านแต่เวอชั่นอังกฤษ เพราะศัพท์ในหัวเราผูกไว้กับภาษาอังกฤษ พอไปอ่านภาษาไทยก็จะไม่คุ้น แต่อ่านได้ ถ้าใครอยากอ่านสองแบบเลยก็ได้ แต่บอกเลยว่าวิธีนี้ก็เวิร์ค มันเพิ่มบทเรียนให้เราใช้ภาษาในการอ่าน แล้วเรายังบันเทิงอยู่
  • หาสิ่งที่ชอบ แล้วลองมันเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ หรือ ลองหาอะไรที่เป็นภาษาอังกฤษ แล้วเราสนใจ ให้โอกาสตัวเองเยอะๆ ที่สำคัญ ทำให้มันสนุก

3.ฝึกฝน อย่าอาย | Practice Out Loud

หาโอกาสฝึก ไม่มีก็สร้าง อย่ากลัวดูตลก อย่ากลัวคนแซว

Goal : ฝึกเสมอ และฝึกหลากหลาย

Action list (แค่ตัวอย่าง)

  • หาคนต่างชาติคุย ไปลง Online session ที่ให้คุยกับฝรั่งอาทิตย์ละ 30 นาทีก็ช่วยได้มาก หรือจะไปเรียนภาษาอาทิตย์ละ 2 ชม. ที่ AUA, British Councils อะไรแบบนี้ก็ได้ แต่ข้อนี้ จอมจัดว่าเป็นตัวช่วย ไม่ใช่ตัวที่ทำให้เราเก่งที่สุด แต่ช่วยเราได้เยอะมาก แปลว่าสองข้อก่อนหน้า สำคัญที่สุดที่ทำให้เราเก่งแบบทางของเรา ไม่ใช่แค่ Average หรือที่ใครๆก็ต้องทำเป็นพื้นฐาน
  • ถ้าไม่สามารถไปลงคอร์สได้ ไม่อยากเสียเงิน ก็ฝึกเองที่บ้าน กับพวก Youtube video ที่สำคัญคือ อย่าอายเวลามีคนแซว เพราะพอเราพูดเก่ง คนแซวมันหายไปเอง

“คนมันต้องซ้อม ให้ทำไงวะ!” คิดไว้แค่นี้ แล้วก็ซ้อมของเราต่อไป

ถ้าอายมาก ไปซ้อมในห้องน้ำ อย่างน้อยเวลาอาบน้ำ ไม่มีใครบ้าตามมาแซวเรา

เราต้องสร้างพื้นที่ส่วนตัวเพื่อให้เราพัฒนาตัวเอง มีเพื่อนที่รู้จักหลายคนฝึกภาษาตอนอาบน้ำ ไม่แปลก พวกนั้นสำเนียงดีด้วยนะ

  • อัพเดทเพลงใหม่ๆ หัดร้อง แต่เริ่มจากอ่านเนื้อเพลง อ่านเนื้อให้ลิ้นคุ้น สมองคุ้นก่อน แปลสิว่ามันหมายความว่าไง นี่จะทำให้เราอิน และเข้าใจเพลงมากขึ้น ที่เราชอบแค่จังหวะ เราอาจจะชอบส่วนอื่นมากกว่าเดิมอีก สนุกจะตาย
  • อ่านหนังสือหลากหลาย พัฒนาศัพท์หลายๆด้าน เอาหนังสือง่ายๆก็ได้
  • อ่านบทความออนไลน์อาทิตย์ละ 3 อัน ในเวบที่ชอบ ที่สนใจ พอเริ่มชิน ก็เพิ่มปริมาณต่ออาทิตย์เข้าไป

4.เมื่อต้องแปล จงไม่แปล | Feel it, Don’t Tranlate it

เทคนิคการแปลอังกฤษเป็นไทย ของ จอม ที่ส่วนตัวมากคือ “อย่าพยายามแปลตรงตัว” จง Feel-it คือ รู้สึกถึงความหมายของมัน คือถึงเวลาแปล อย่าพยายามแปลทุกคำ แต่พยายามเข้าใจสารมัน

Goal : เข้าใจความหมาย แต่ไม่ได้แปลคำต่อคำ

เวลาแปล ให้แปลด้วยบริบท อย่าพยายามถอดทุกคำ เพราะมันจะไม่ทัน และมันจะไม่ตรงด้วย ให้เอาความหมายของสิ่งที่ดูเป็นสิ่งใหญ่ที่เราเข้าใจก่อน มันไม่มีแปลถูกเป๊ะ เพราะมันใช้การตีความช่วยด้วย อันนี้อาจจะ ฟังดูงงๆ และทำโคตรยากตอนแรก แต่ในระยะยาว มันจะทำให้เราเข้าใจภาษา จด พูดคุย และคิดเป็นภาษาชาวบ้านได้ และถึงเวลาก็ปรับModeมาเป็นภาษาไทยได้เช่นกัน

อย่าคิดว่า เราเป็นคนไทยต้องคิดเป็นภาษาไทย เราพูดภาษาอะไร ก็คิดแบบนั้นจะทำให้สื่อสารเร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด สำหรับจอม จอมว่ามันเหมือนเราสร้าง”ภาษากลาง”ในสมองตัวเอง ระหว่าง ไทย อังกฤษ และ มันจะไปต่อภาษาอื่นๆได้อีกเยอะ

ถ้าทุกครั้งเราต้องกลับมาบ้านเรา มาแปลที่ platform ภาษาไทยในสมอง มันช้า และคนละสไตล์การใช้อีก แปลแล้วแปลกๆเหอะ สำหรับจอม วิธีนี้ไม่เวิร์คกับสมองจอม แต่ถ้าเวิร์คกับคนอื่นก็แล้วไปนะ

จะเล่าอีกเรื่อง…อาทิตย์ที่แล้ว จอมไปหาหมอฟัน

แล้วเตรียมคำถามเรื่องฟันนี่แหละไว้ประมาณ 10 ข้อ เพื่อไปถามหมอ คือ มันเยอะไง กลัวลืมป่ะ ก็จดไปใส่กระดาษแค่ประเด็นแหละ เหลือที่เผื่อคำตอบ แล้วพอหมออธิบายเราก็จดจดลงไป

หมอทัก “โอ้ คุณจดเป็นภาษาอังกฤษเหรอ นี่เค้ามีเพื่อนจีน เห็นคนจีนจดเป็นภาษาจีน”

จอมก็ตอบไปว่า “อ้อ จอมคิดเป็นภาษาอังกฤษ มันเสียเวลาแปลอังกฤษเป็นไทย จดแบบนี้เร็วกว่า”

หมอก็บอกว่า เออ เป็นวิธีที่ดีมาก

ในที่นี้คือ จะบอกว่าก็ปกติ คนเราจดเป็นภาษาที่เราคุ้นก่อน ภาษาฝั่งเรา แต่ถ้าเราคิดเป็นภาษาที่เราสื่อสาร ณ ตอนนั้น สิ่งที่เราคิด จะจำ เราเข้าใจ มันก็เป็นภาษานั้น

แรกๆมันก็ยากแหละ แต่ทำไปนานๆมันก็ชิน แล้วอย่าได้กลัวลืมภาษาตัวเอง เราไม่ลืมง่ายๆหรอก ตราบใดที่เราไม่ได้พยายามจะพูดอังกฤษคำไทยคำ เอาทุกคำมาแทนที่กัน จอมกลับมองว่า การปรับ Mode แบบ Bilingual ไปมาได้ เป็นการทำให้เราใช้ภาษาแต่ละภาษาได้อย่างเต็มที่ในแบบของมันซะอีก

สรุป

ก็ขอบอกว่า นี่เป็นวิธีในแบบของจอม ที่จอมทำเป็นหลัก จอมไม่หวงเทคนิค และมันก็ใช้ได้จริง แต่มันก็อาจจะมีเทคนิคที่คนอื่นใช้มากกว่านี้อีกเยอะ แต่ส่วน 4 ประเด็นที่บอกไป ก็ลองไปปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองและเป้าหมายนะคะ