ไม่ใช่แค่ทางเดินริมน้ำ แต่คือจุด Start ในการพัฒนาเมือง!!
เพราะน้ำสำคัญกับชีวิต เมืองใหญ่หลายๆเมืองในโลกก็เลยมีที่ตั้งริมน้ำ หรือมีน้ำไหลผ่านตัวเมือง แล้วคนในเมืองต่างๆก็จะมีความสัมพันธ์กับน้ำในรูปแบบที่พิเศษแตกต่างกันไปในแต่ละที่ ตั้งแต่ตอนที่เริ่มตั้งเมืองจนถึงปัจจุบันเมืองแต่ละเมืองก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์ของเค้ากับพื้นที่ริมน้ำในรูปแบบต่างๆกันไป บางที่เมืองกับน้ำก็อยู่ร่วมกันได้ดีมีความสุข บางที่ก็เอาแต่ทำกำแพงกั้นเมืองกับน้ำตัดขาดกันเลย บางที่ก็อยากจะทำทางเลียบแม่น้ำ
วันนี้เราเอาตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำที่ไม่ได้มองเฉพาะพื้นที่ขอบน้ำที่เป็นเส้นๆเลียบไปกับทางน้ำเท่านั้น แต่มองไปถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ของเมืองกับน้ำผ่าน ก้อน ของพื้นที่ๆอยุู่ริมน้ำแทน ตัวอย่างที่จะพูดถึงวันนี้ก็คือ Suzhou Creek ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ออกแบบโดย SASAKI ค่ะ
Project : Suzhou Creek
Design Team : SASAKI
ภามรวมโครงการพัฒนา Suzhou Creek, Courtesy from SASAKI
ก่อนจะไปพูดถึงการออกแบบ เราขอเล่าถึงคลอง Suzhou Creek ก่อน คลองนี้เป็นคลองที่ผ่านเขตเมืองของเซี่ยงไฮ้มีความยาว 12.5 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อก่อนเนี่ยถือว่าเป็นทางน้ำที่ทันสมัยและเป็นที่นิยมที่สุดอันนึงในมหานครนี้เลยทีเดียว โดยที่ช่วงนึงก็ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากก็มาตั้งริมคลองนี้ ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่ได้มีการควบคุมไม่ให้ปล่อยน้ำเสียลงคลอง ทำให้น้ำเน่าเสียเหม็นจนคนอยู่ไม่ได้ และด้วยความที่คลองมีลักษณะเส้นทางรัฐบาลก็เลยใช้เส้นนี้เป็นตัวแบ่งเขตการปกครอง (อารมณ์แบบแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งพระนครกับฝั่งธนฯ) ซึ่งเขตข้างบนเส้นคลองก็ได้พัฒนาเป็นย่านรวยๆ เมืองๆ แล้วข้างล่างก็เป็นย่านที่มีความพัฒนาน้อยกว่า คลอง Suzhou Creek ในยุคต่างๆ, Courtesy from SASAKI
จนกระทั่งปีค.ศ. 1996 ทางการจีนได้รับทุนจาก Asian Development Bank มาปรับปรุงคุณภาพน้ำ ทำให้น้ำในคลองก็คุณภาพดีขึ้นจนมีปลามาอยู่ได้ นอกจากนี้ ในปี 2015 เขตการปกครอง 2 เขตที่มีคลองแบ่งไว้ก็ได้มารวมเป็นเขตเดียว และมีการจัดประกวดแบบระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมน้ำขึ้น โดยผู้ชนะก็คือ SASAKI ที่เห็นความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาคลองและพื้นที่รอบๆ Suzhou Creek ทั้งสองฝั่งให้กลับมา เฟื่องฟูเป็นที่นิยม อีกครั้ง โดยที่ความเหลื่อมล้ำของทั้งสองฝั่งคลองจะลดลงได้ด้วย ซึ่งเค้าไม่ได้มองแค่การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ แต่มองว่าโครงการนี้จะกระตุ้นให้เมืองเซี่ยงไฮ้ดีขึ้นได้เลยทีเดียว
Masterplan โครงการ แสดงถึงการพัฒนาพื้นที่เมืองที่ไม่ใช่แค่พื้นที่ริมน้ำ, Courtesy from SASAKI
อย่างที่บอกไปก่อนหน้าแล้วว่าผู้ออกแบบไม่ได้มองการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำแค่ตรงขอบน้ำ แต่มองไกลออกมาถึงศักยภาพของพื้นที่ๆเป็นก้อนรอบๆน้ำ เช่นการเพิ่มพื้นที่ Mixed-use ลงไปในชุมชนที่ดูตัดขาดจากการพัฒนา และการเชื่อมคลองนี้เข้ากับพื้นที่สำคัญอื่นๆของเซี่ยงไฮ้ได้เช่น สถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ (อารมณ์หัวลำโพงในกรุงเทพ) กับย่านศิลปะ M50 Arts District
พื้นที่ Node ริมน้ำ และทางเดินเชื่อม Node ในเมือง, Courtesy from SASAKI
โดยในการออกแบบนั้นทีม SAsAKI ได้ศึกษาศักยภาพของพื้นที่ริมน้ำ เพื่อกำหนดจุด Node สำหรับกิจกรรมพิเศษหรือสวนสาธารณะ ซึ่งจะมีระยะห่างกันไม่เกิน 500 เมตรตลอดแนวคลอง และยังได้ศึกษาชุมชนต่างๆริมน้ำ ที่มีความพิเศษในแต่ละชุมชน เช่นรูปแบบของสถาปัตยกรรม หรือการมีอาคารโบราณอยู่ในชุมชนเหล่านั้น เพื่อกำหนดแนวทางการออกแบบที่ทำน้อยๆ แต่ได้ผลมาก และคงความพิเศษของชุมชนต่างๆเอาไว้ ส่วนอาคารโบราณต่างๆก็ได้มีการปรับการใช้งานให้ทันสมัยมากขึ้น โดยเน้นให้เป็นการใช้งานทางวัฒนธรรม (ลองนึกภาพ Lhong1919 ดูนะ)พื้นที่ชุ่มน้ำ , Source: SASAKI
ในมิติของการออกแบบด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ออกแบบได้เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นขั้นๆลดระดับจากเมืองสู่น้ำ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ แก้ปัญหาน้ำท่วม และเป็นที่ๆคนจะได้ลงไปสัมผัสน้ำแบบธรรมชาติเพื่อสร้างจิตสำนึกรักน้ำ รักปลา รักธรรมชาติได้อีกด้วย ส่วนขอบน้ำที่ไม่ได้เป็น wetland ก็มีการออกแบบให้หลากหลาย ตอบสนองการใช้งานพื้นที่แบบต่างๆ แต่การทำ Wetland หรือขอบน้ำหลายๆแบบจะต้องใช้พื้นที่มาก ในส่วนที่พื้นที่จำกัดที่ต้องใช้เขื่อนแบบกำแพงสูง กำแพงเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นแค่กำแพงแต่กลายเป็นผ้าใบสำหรับงานศิลปะ และเปลี่ยนตึกตรงนั้นให้เป็นแกลเลอรี่ไปด้วยเลย
ขอบน้ำแบบต่างๆ และเขื่อนที่เป็นงานศิลปะได้ด้วย , Courtesy from SASAKI
โครงการออกแบบพื้นที่ริมน้ำ Suzhou Creek ของ Sasaki ทำให้เราเห็นว่าจริงๆแล้วการพิัฒนาพื้นที่ริมน้ำไม่จำเป็นที่จะต้องทำแค่ “ริม” น้ำ ไม่จำเป็นต้องทำแค่ทางเดิน การป้องกันน้ำท่วมไม่จะเป็นที่จะต้องเป็นกำแพงสูงกันคนออกจากน้ำตลอดทาง แต่การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำด้วยการมองเห็นศักยภาพของพื้นที่เหล่านั้นสัมพันธ์กับเมือง และการใช้องค์ประกอบต่างๆให้มีหน้าที่มากกว่าหนึ่งอย่างนั้น ทำให้เมืองมีความหลากหลาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้รับการแก้ไข ความมีชีวิตชีวาของพื้นที่เกิดขึ้นได้ และคนในเมืองที่ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ริมน้ำก็มีความสัมพันธ์กับน้ำที่ดีได้
Meet the landscape architect & designer
แล้วก็ๆๆๆ ใครอยากมาฟังและพูดคุยสอบถามผู้นำทีมออกแบบโครงการนี้ และโครงการพัฒนาเมืองดีดีของ Sasaki มาเข้าร่วมฟังได้ที่ Special Public Lecture “Ripple Effect: Activating Urban Waterfronts” วันที่ 18 ธันวาคม 2560 เวลา 18.00-19.30น. ที่ ห้อง Do Visual Lab ชั้น 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพราะทาง พี่จอม DreamAction ได้เรียนเชิญ Principal ที่นำทีมโครงการนี้ และ จากบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง GGN ก็มาใน Lecture Series นี้ ที่ทั้งสองบริษัทบินตรงจากประเทศ สหรัฐอเมริกา มาเพื่อบรรยายให้เราฟังถึงที่ โอกาสดีดีแบบนี้ ไม่ได้มีบ่อยๆ เปิดให้สาธารณชน คนที่สนใจเข้าชมได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่ะแล้วเจอกันนะคะ
Author | ประวัติผู้เขียน
พิณ อุดมเจริญชัยกิจ จบปริญญาตรีจาก ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม จาก Erasmus Mundus Masters course in Environmental Sciences, Policy and Management ที่ได้ไปหลายๆประเทศในยุโรป