Lurie Garden โดย GGN | สวนพฤกษศาสตร์แนวUrban หนึ่งในสุดยอดตำนานของยุคโมเดิร์น

Legendary Urban Botanics garden : Lurie Garden by GGN

จากหลังคาที่จอดรถ สู่สวนพฤกษศาสตร์ชั้นครู สวยเป็นตำนานของยุค Modern

ลองจินตนาการกันดูสิ…ว่าเรามีพื้นที่หลังคามากแค่ไหนในเมือง??

จะดีขนาดไหนถ้าพื้นที่หลังคาเหล่านั้นได้รับการนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อคนเมือง สิ่งแวดล้อมเมือง เศรษฐกิจเมือง และสัตว์ต่างๆในเมืองได้ Lurie Garden ผลงานการออกแบบของ GGN (Gustafson Guthrie Nichol Ltd.) และ Piet Oudolf คืองานสวนหลังคาในตำนานที่เมือง Chicago รัฐ Illinois เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพื้นที่ Millenium Park ที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างมาเป็นจุดชนวนในการพัฒนาเมืองและแถมยังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เมืองอย่างมหาศาล งาน Lurie Garden นี้เป็นสวนที่ใครอาจจะคิดว่าธรรมดา แต่จริงๆไม่ธรรมดาเลยนะ สวนนี้แสดงให้เห็นว่าการออกแบบและการจัดการที่ดีทำให้พื้นที่หลังคาที่จอดรถแห้งๆ กลายเป็นพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ฉ่ำๆที่ตอบโจทย์เมืองแน่นๆอย่างเมือง Chicago ได้รอบด้าน

Lurie Garden งานนี้ถูกออกแบบมาในปี 2000 สร้างเสร็จในปี 2004 และได้รับรางวัล GENERAL DESIGN AWARD OF EXCELLENCE จาก ASLA ในปี 2008 วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังว่างานภูมิสถาปัตยกรรมชั้นครูนี้นอกจากจะเป็นหนึ่งในสวนหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในโลก สวย ดูน่าใช้งานแล้ว ยังมีความคิดอะไรซ่อนอยู่ในกระบวนการออกแบบอีกบ้าง

Lurie Garden Millenium Park GGN มิลเลเนียม พาร์ค จีจีเอ็น ลูรี่การ์เด้น

ภาพมุมสูงของ Lurie Garden, Courtesy of Gustafson Guthrie Nichol Ltd

1. CONTEXT & BACKGROUND

การตีความบริบทและประวัติศาสตร์ของเมือง สู่ element ในการออกแบบ 4 อย่างก่อนจะออกแบบพื้นที่หลังคากว่า 6 ไร่นี้ ทาง GGN ได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ย้อนไปตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีเมืองเกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำริมชายฝั่งของทะเลสาบมิชิแกน ที่ค่อยๆถูกพัฒนามาเป็นพื้นที่ชุมทางรถไฟ อันเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการลำเลียงสินค้าต่างๆ และกลายมาเป็นที่จอดรถใต้ดินใจกลางเมือง ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ๆมีความแตกต่างกันนี้ รวมไปถึงการใช้งานของบริเวณโดยรอบ เป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบให้ความสนใจและตีความออกมาเป็น 4 องค์ประกอบหลักในการออกแบบสวน

Lurie Garden Millenium Park GGN มิลเลเนียม พาร์ค จีจีเอ็น ลูรี่การ์เด้น

ผังแสดงองค์ประกอบหลัก 4 ส่วนของสวน Lurie Garden, Courtesy of Gustafson Guthrie Nichol Ltd., Edited

  • Shoulder Hedge : พื้นที่ไม้ตัดแต่งขนาดใหญ่ที่โอบล้อมสวนไว้สร้างขอบเขตที่ชัดเจน และกันความวุ่นวายของเมืองออกจากพื้นที่ด้านในของสวน
  • The dark plate : ภายใน Shoulder hedge มีพื้นที่ หลัก 2 อัน ซึ่งผู้ออกแบบเรียกว่า Plate Plate ทั้งสองอันถูกออกแบบให้โค้งนูนขึ้นเหมือนกับว่าถูกยกขึ้นโดยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาของเมืองชิคาโก โดยตัว Dark plate มีที่มาจากพื้นที่ธรรมชาติดั้งเดิมที่เป็นหนองน้ำ มีความลึกลับ ประกอบไปด้วยต้นไม้และ landform ที่หลากหลาย การเดินชมพืชพรรณในส่วนนี้ ทางเดินจะถูกธรรมชาติโอบล้อมไว้ เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้สึกเป็นส่วนนึงกับธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่
  • The light plate : เป็นพื้นที่โล่ง ปลูกพืชพรรณจากทุ่งหญ้า ซึ่งความโล่งและสว่างนั้นตั้งใจสื่อถึงความสมัยใหม่ ความรุ่งเรือง และความสามารถในการควบคุมธรรมชาติของชาวเมือง โดยการเดินชมพืชพรรณในส่วนนี้จะเดินบนทางที่ให้ผู้ชมเหมือนเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มองลงมายังพื้นที่พุ่มไม้ ที่ดูได้รับการควบคุมดูแล
  • The seam : เส้นทางเดินไม้และบ่อน้ำที่แบ่ง Plate ทั้งสองออกจากกันนี้ มีที่มาจากองศาของกำแพงกันดินโบราณ ที่ถูกฝังอยู่ใต้ลานจอดรถอีกที ซึ่งเป็นโครงสร้างกันดินชายฝั่ง และวัสดุที่เป็นไม้ ก็สื่อถึงทางเดินไม้ ซึ่งเป็นความพยายามแรกๆในการยกพื้นที่ของคนให้สูงจากพื้นที่ธรรมชาติของหนองน้ำในอดีต จนพัฒนามาเป็นเมืองชิคาโกในปัจจุบัน

Lurie Garden Millenium Park GGN มิลเลเนียม พาร์ค จีจีเอ็น ลูรี่การ์เด้นรูปแสดงองค์ประกอบหลัก 4 ส่วนของสวน Lurie Garden, Courtesy of Gustafson Guthrie Nichol Ltd., Edited

นอกจากองค์ประกอบหลัก 4 อย่างนี้แล้ว เส้นสายอื่นๆที่ใช้ในการออกแบบยังได้ถูกอ้างอิงมาจาก Grid ของเมืองหรือเส้นสายของถนนอีกด้วย การที่ทาง GGN ได้ออกแบบ Lurie Park ให้มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับบริบทของเมือง ทำให้สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้แตกต่างจากสวนพฤกษศาสตร์อื่นๆ และมีความพิเศษเฉพาะพื้นที่

2.MATERIALS | การเลือกใช้วัสดุ

Lurie Garden Millenium Park GGN มิลเลเนียม พาร์ค จีจีเอ็น ลูรี่การ์เด้น

รูปแสดงวัสดุและต้นไม้ที่ใช้ในงาน โดยดีเทลในรูปบนที่มีการยกพื้นไม้สูงขึ้นมานิดนึงช่วยป้องกันไม่ให้รถเข็นตกลงไป โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งราวกันตก, Courtesy of Gustafson Guthrie Nichol Ltd

เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญในการสร้างสวนหลังคาคือเรื่องการรับน้ำหนักของโครงสร้าง ทำให้สวนหลังคาหลายๆอันในสมัยนั้นไม่สามารถสร้างเนินดินใหญ่ๆได้ แต่ GGN แก้ปัญหานี้โดยการใช้ Geofoam ที่มีน้ำหนักเบาเป็นโครงของเนินทำให้ฟอร์มของเนินที่ออกแบบมาสามารถสร้างได้จริง ส่วนวัสดุอื่นๆก็ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่นำความงามตามธรรมชาติของวัสดุออกมาโดยไม่ต้องปรุงแต่งมาก ไม่ว่าจะเป็นไม้ หิน หรือโลหะต่างๆ การเลือกใช้พื้นไม้ในโครงการนอกจากจะมีความหมายทางประวิติศาตร์อย่างที่บอกไปแล้ว ไม้ในโครงการยังเป็นไม้จากป่าปลูกที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) และหินส่วนใหญ่ในโครงการก็เป็นหินที่มาจากเหมืองในท้องถิ่นด้วย

การออกแบบและเลือกใช้วัสดุพืชพรรณเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งทาง GGN ได้ให้ Piet Oudolf สุดยอดนักออกแบบพืชพรรณชาวดัชต์มาช่วยในเรื่องนี้ ซึ่งเค้าก็ได้ออกไปศึกษาวัสดุพืขพรรณในทุ่งหญ้าธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่บริเวณนอกเมือง เพื่อนำมาใช้ในสวน ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นที่ง่ายต่อการดูแลรักษาแทนที่จะเลือกพืชพรรณสำหรับจัดสวนทั่วๆไป

3.SUSTAINABILITY | การจัดการที่ยั่งยืน

Lurie Garden Millenium Park GGN มิลเลเนียม พาร์ค จีจีเอ็น ลูรี่การ์เด้นการดูแลสวนแบบ”ทำมือ”โดยอาสาสมัครท้องถิ่นPhoto by: Megan Wade, Source: https://www.luriegarden.org/2016/07/31/breaking-ground-the-influence-of-piet-oudolfs-perennial-gardens/

นอกจากการเลือกวัสดุต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพืชพรรณที่ดูแลรักษาง่ายแล้ว สิ่งสำคัญในงานภูมิสถาปัตยกรรมที่ต้องคำนึงเพื่อให้งานยั่งยืนคือการดูแลรักษา เพราะต้นไม้หรือองค์ประกอบทางธรรมชาติอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา สิ่งที่ทำให้ Lurie Garden คงความสวยงามมาเป็นเวลามากกว่าสิบปีคือการจัดการเรื่องการดูแลรักษาที่มีการร่วมมือกับคนท้องที่ๆมีความสนใจด้านพรรณไม้ หรืออยากใช้เวลาว่างในการทำสวนมาดูแลพื้นที่โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำวิธีการดูแล ทำให้สวนมีความสวยงามในทุกฤดู โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งการดูแลรักษาสวนนี้ไม่ได้เน้นการใช้เทคโนโลยี และไม่ใช้สารเคมีในการดูแลเลย และยังมีการจัดกิจกรรมหรือเวิคชอปต่างๆให้คนในพื้นที่ได้ทำ ทำให้คนเมืองรู้สึกผูกพันกับสวนนี้มากกว่าแค่เป็นที่พักผ่อนเงียบๆ ใจกลางเมือง

4.ECONOMIC & ENVIRONMENT | มิติด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

Lurie Garden Millenium Park GGN มิลเลเนียม พาร์ค จีจีเอ็น ลูรี่การ์เด้นแมลงผสมเกสรที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์เมืองที่พบในสวน

Photo by: Megan Wade, Source: https://www.luriegarden.org/2016/07/31/breaking-ground-the-influence-of-piet-oudolfs-perennial-gardens/

การเปลี่ยนพื้นที่หลังคาที่จอดรถคอนกรีตให้เป็นสวน

นอกจากเป็นการสร้างพื้นที่เขียวๆ สวยๆ เอาไว้พักผ่อนในเมืองแล้ว การทำสวนที่มีพืชพรรณท้องถิ่นจำนวนมากโดยไม่ใช้สารเคมีในการดูแลรักษา ได้สร้างที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ต่างๆที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์เมือง ทั้งแมลงที่มีหน้าที่ผสมเกสรหรือนกที่ย้ายเข้ามาอยู่ในสวนมากกว่า 27 สายพันธ์ุ นอกจากนี้พื้นที่ปลูกต้นไม้ยังทำให้สวนนี้มีพื้นที่ซึมน้ำมากถึง ⅔ ของพื้นที่ ซึ่งช่วยในการจัดการน้ำฝน ส่วนการเลือกใช้พืชพรรณท้องถิ่นทำให้ลดภาระในการรดน้ำได้ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 177,000 USD ต่อปี (5.8 ล้านบาท กินบุฟเฟ่ต์ 299 บาท ได้เกือบสองหมื่นครั้ง!!)นอกจากนี้ กิจกรรมและการออกแบบที่น่าสนใจ ไปจนถึงที่ตั้งที่อยู่ใจกลางเมืองของ Lurie Park ทำให้สวนนี้มีผู้คนมาใช้งานจำนวนมาก การจับจ่ายของผู้คนเหล่านี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ และตัวสวนก็ทำให้มูลค่าของพื้นที่รอบๆเพิ่มขึ้นด้วย

Lurie Garden Millenium Park GGN มิลเลเนียม พาร์ค จีจีเอ็น ลูรี่การ์เด้น

จากหลังคาที่จอดรถแห้งๆ กลายเป็นมากกว่าที่พักผ่อนของคนเมือง,Courtesy of Gustafson Guthrie Nichol Ltd

สรุป 🙂

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วใครจะไปนึกว่าการออกแบบที่ดี จะสามารถเปลี่ยนพื้นที่หลังคาที่จอดรถใต้ดินขนาด 6 ไร่นิดๆ ให้กลายเป็นสวนพฤกษศาสตร์ใจกลางเมืองที่รวบรวมต้นไม้กว่า 220 สายพันธุ์ สามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองได้อย่างเฉียบคม เป็นที่พักผ่อนสบายๆใจกลางเมือง และสร้างประโยชน์อื่นๆให้เมืองได้อีกมากมายขนาดนี้ จะดีแค่ไหนถ้าสิบกว่าปีต่อมาเราจะเรียนรู้ และได้ลองให้พื้นที่หลังคาแข็งๆจำนวนมากที่เมืองที่เราอยู่จะสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมเมืองแบบนี้ได้บ้าง

มาร่วมกันเรียนรู้และพูดคุยสอบถามผู้นำทีมออกแบบโครงการนี้ และโครงการพัฒนาเมืองดีดีของ GGN ได้ที่ Special Public Lecture วันที่ 18 ธันวาคม 2560 เวลา 18.00น. ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเจอกันนะคะ

Reference:

http://www.ggnltd.com/the-lurie-garden-at-millennium-park/
https://www.luriegarden.org/category/lurie-gardens-story/
https://www.asla.org/awards/2008/08winners/441.html
https://landscapeperformance.org/case-study-briefs/the-lurie-garden-at-millennium-park#/project-team

 

Author | ประวัติผู้เขียน

พิณ อุดมเจริญชัยกิจ จบปริญญาตรีจาก ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม จาก Erasmus Mundus Masters course in Environmental Sciences, Policy and Management ที่ได้ไปหลายๆประเทศในยุโรปปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนลียีพระจอมเจ้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง