การออกแบบมีส่วนทำให้เมืองน่าอยู่ได้อย่างไร? เมืองน่าอยู่ได้เพราะอะไรบ้าง?
วันนี้ พิณ จะมาเล่า 6 ข้อจากการดีไซน์ ที่ทำให้เมืองเล็กๆน่าอยู่ได้มหาศาล โดยเล่าผ่านเมือง Lund ประเทศ Swedenพิณเคยเป็นภูมิสถาปนิกมาก่อนค่ะ ตอนนี้เพิ่งเรียนจบด้านการจัดการและนโยบายสิ่งแวดล้อม โปรแกรม Erasmus ของยุโรปที่ต้องเปลี่ยนเมืองไปเรื่อยๆตอนนี้เพิ่งเรียนจบเลยอยากจะมาเล่าเกี่ยวกับเมืองเล็กๆเมืองสุดท้ายที่ได้ไปเรียนมา คือเมืองลุนด์ ประเทศสวีเดน ที่อยากจะมาเล่าเกี่ยวกับเมืองนี้เพราะว่าการที่ได้มาอยู่ที่นี่หนึ่งปี ทำให้รู้ว่าชีวิตดีๆในเมืองที่ออกแบบมาอย่างดีเป็นยังไงค่ะ
ลุนด์เป็นเมืองเก่าแก่เล็กๆอยู่ทางตอนใต้ของสวีเดน เล็กพอที่จะปั่นจักรยานแม่บ้านชิวๆจากฝั่งนึงของเมืองไปอีกฝั่งได้ในครึ่งชั่วโมง ไม่มีห้างสรรพสินค้า เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ จะเรียกว่าเป็นเมืองมหาวิทยาลัยเลยก็ได้ เพราะฟังชั่นต่างๆของมหาวิทยาลัยมีอยู่ทั่วเมือง ชีวิตที่นี่ดีตรงที่ไปไหนมาไหนสะดวก มีกิจกรรมให้เลือกทำเยอะ เมืองสะอาดสวยงามปลอดภัย อากาศดี มีกระต่ายมีเม่นวิ่งไปมา
สิ่งที่ได้รับการออกแบบ 6 อย่างที่ทำให้ลุนด์น่าอยู่
1.เมืองสเกลมนุษย์ Human-scale town
อย่างที่บอกไปแล้วว่าลุนด์เป็นเมืองเก่าขนาดเล็ก อาคาร หรือถนนต่างๆในเมืองก็เป็นเสกลเล็กๆ น่ารักๆ ใจกลางเมืองเป็นถนนปูหิน cobble stone ขนาดไม่เกิน 2 เลน อาคารเล็กๆสองชั้น มีคอร์ทเล็กๆซ่อนอยู่หลังอาคาร ความเล็ก ความกุ๊กกิ๊กแบบนี้ ทำให้ลุนด์น่าอยู่ แม้แต่ในหน้าหนาวที่ไม่มีแสงแดด ก็อบอุ่นน่ารักได้ ความเล็กของเมืองยังทำให้เวลาไปไหนมาไหนก็เจอเพื่อนๆ ทำให้เมืองเล็กๆ ไกลบ้านของเราเกือบครึ่งโลกไม่เหงามากเท่าไหร่
2.ระบบขนส่งสาธารณะ Public transportation
จริงๆแล้วระบบขนส่งสาธารณะในยุโรปที่เคยไปมาก็ดีทุกที่เลยนะ แต่การที่เราได้อยู่เมืองนี้นานๆทำให้รู้ว่าระบบมันถูกออกแบบมาให้ตอบรับกับขนาดของเมือง แล้วก็สามารถเชื่อมเมืองเล็ก เมืองใหญ่ทั้งหมดเข้าด้วยกันยังไง เริ่มจากสถานีรถไฟที่เชื่อมกับเมืองใหญ่อย่าง Gothenberg Stockholm หรือจะข้ามไปประเทศอื่นๆก็ได้ สถานีรถไฟตามเมืองพวกนี้ก็จะเชื่อมกับป้ายรถเมล์ ที่พาเราไปตามจุดต่างๆในเมือง หรือหมู่บ้านใกล้ๆ มีที่จอดรถ กับที่จอดจักรยานที่ขนาดพอๆกันอยู่ติดกับสถานี ความเชื่อมต่อเหล่านี้ถูกออกแบบให้เนียนเข้าด้วยกันไปหมด บวกกับตารางเวลาของรถที่แน่นอน ทำให้การเดินทางง่าย ไปเที่ยวที่อื่นก็ง่าย พอเรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิตง่าย เราก็ไม่ต้องกังวลกับการเดินทาง ชีวิตก็มีความสุข มีเวลาไปทำอย่างอื่น นอกจากนี้ที่ลุนด์ยังมีโครงข่ายของเลนจักรยานเชื่อมไปเมืองอื่นๆได้ด้วย เลนจักรยานนี้ก็ไม่ได้ขนานไปกับถนนใหญ่เท่านั้น แต่บางทีก็ตัดเข้าไปในทุ่ง ในป่า ให้ปั่นจักรยานได้แบบเพลินๆไม่ต้องกลัวรถใหญ่ด้วยค่ะ
3.พื้นที่สาธารณะ Public space
ลุนด์มีพื้นทีสาธารณะเยอะมากก มีสวนสาธารณะกับลานหลายสเกล มีมุมที่นั่งกับสวนเล็กๆ กระจายอยู่ในเมือง มีสนามเด็กเล่นของทั้งคนและสัตว์เลี้ยง พื้นที่เหล่านี้ได้รับการออกแบบให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่จำกัดอายุ เพศ ฐานะ คนพิการสามารถไปได้ทุกที่โดยแทบจะไม่ต้องมีคนช่วยเหลือ การที่พื้นที่เหล่านี้มีการเข้าถึงที่เท่าเทียม ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมน้อยลง ใครๆก็มีความสุขได้ พื้นที่สาธารณะพวกนี้ยังได้รับการออกแบบมาอย่างตั้งใจ และมีเอกลักษณ์ เช่นลานข้างโบสถ์เก่าแก่ของเมือง ที่มี element สมัยใหม่อยู่ข้างๆโบสถ์อายุเกือบพันปีได้แบบไม่เขิน หรือพื้นที่อาบแดดในลานคนเมือง
การที่พื้นที่เหล่านี้มีการเข้าถึงที่เท่าเทียม ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมน้อยลง ใครๆก็มีความสุขได้ พื้นที่สารธารณะพวกนี้ยังได้รับการออกแบบมาอย่างตั้งใจ และมีเอกลักษณ์ เช่นลานข้างโบสถ์เก่าแก่ของเมือง ที่มี element สมัยใหม่อยู่ข้างๆโบสถ์อายุเกือบพันปีได้แบบไม่เขิน หรือพื้นที่อาบแดดในลานคนเมือง
4.ต้นไม้ในเมือง Urban flora
เคยเห็นพวกต้นไม้ใน photoshop ที่ทรงดีๆมั้ยคะ? ต้นไม้ถนน หรือต้นไม้ในสวนสาธารณะที่ลุนด์ได้รับการตัดแต่ง ดูแลดี หน้าตาเหมือนถูกจับใส่ photoshop มาวางเลย ด้วยความที่เป็นเมืองเก่า ต้นไม้ที่อายุมากก็ได้รับการอนุรักษ์ดูแลอย่างดี ไม่ตัดต้นไม้ทิ้งกันง่ายๆ ในรูปด้านล่างเป็นแก๊งค์ต้นไม้ที่เราชอบมาก เพราะเห็นกันมาตั้งแต่เขียวๆในปลายฤดูร้อน จนถึงตอนที่ไม่มีใบเหลือเลยในช่วงฤดูหนาว แต่ตอนที่ไม่มีใบเลยนี่แหละ ที่ได้เห็นการตัดแต่งแบบในหนังสือเรียน นอกจากนี้ยังมีไม้เลื้อยปกลุุมอาคารที่เปลี่ยนสีตามฤดูกาล ตามอาคารต่างๆก็จะมีสวนเล็กๆน่ารักอยู่ด้านหน้าที่เหมือนออกมาจากหนังสือ kinfolk แบบนั้นเลยหละค่ะ
5.จุดปลายตา Vista
นอกจากอาคารและถนน กุ๊กกิ๊ก น่ารัก เสกลมนุษย์แล้ว สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเมืองน่าอยู่คือจุดปลายตาตามถนนต่างๆ จุดปลายตาที่เห็นส่วนใหญ่ในเมืองจะเป็นอาคารสำคัญๆ เช่นโบสถ์ พวกอาคารเก่า แต่บางทีก็มีการใช้น้ำพุเล็กๆ เป็นจุดปลายตาด้วย จุดปลายตาสวยๆ ที่ถูกเฟรมด้วยอาคารน่ารักๆ หรือต้นไม้ถนนที่ได้รับการดูแลอย่างดี ทำให้รู้สึกว่าเมืองนี้สวยจังตลอดการเดินทางไปตามที่ต่างๆไม่ว่าจะเดินหรือปั้นจักรยาน นอกจากความสวยงามแล้วจุดปลายตาพวกนี้ทำให้เราไม่หลงทางอีกด้วย
6.ที่ทำงานเพื่อเมืองที่ดี Townhall
เราคิดว่าเมืองจะน่าอยู่ได้ ส่วนนึงมาจากการออกแบบ วางแผน ดูแลรักษาที่ดี เทศบาลเมืองเป็นที่ๆทำใ้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ช่วงที่เรียนอยู่ที่นี่เราได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาการทำงานของเทศบาลเมืองแถบนี้ 3 ที่ สิ่งที่เหมือนๆกันก็คือบรรยากาศออฟฟิศที่น่าอยู่ ทันสมัย หน้าตาดีพอๆกับออฟฟิศสถาปนิก มีพื้นที่เปิดเพื่อการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างหน่วยงาน ในโซนของงานผังเมืองก็มีห้องสมุดที่มีหนังสือ และนิตยสาร Design ดีๆ ให้พนักงานได้อัพเดทตลอดเวลา ออฟฟิศที่บรรยากาศดี ก็น่าจะมีส่วนที่ทำให้คนทำงานเพื่อเมืองทำให้เมืองออกมาน่าอยู่ได้ด้วย
สรุป 🙂
ตัวอย่างหกอันที่พูดถึง เป็นเรื่องหลักๆที่ทำให้เราเข้าใจว่าคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นยังไง ถึงจะมีปัจจัยอีกหลายอย่างมากเลยที่ทำให้เมืองเล็กๆเมืองนึงน่าอยู่ ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด เราอยากจะบอกว่าเมืองที่น่าอยู่เป็นอะไรที่ออกแบบได้ เป็นจริงได้ ถึงแม้ว่าตัวอย่างที่เอามาเล่าให้ฟังก็เป็นตัวอย่างจากเมืองสเกลเล็ก ในแสกนดิเนเวีย ซึ่งมีบริบทต่างจากบ้านของเรามากๆ แต่เราคิดว่ามันน่าจะเอามาปรับให้เข้ากับบริบทของเราได้ จากการตั้งโจทย์ที่คล้ายๆกัน เช่นเมืองที่เป็นมิตรต่อมนุษย์ เมืองที่เดินทางได้สะดวก หรือเมืองที่สภาพแวดล้อมดี คำตอบที่ได้อาจจะมีหน้าตาหลากหลายกว่าหกสิ่งนี้ แล้วก็น่าตื่นเต้นมากๆด้วย
ประวัติผู้เขียน
พิณ เพิ่งเรียนจบจาก Erasmus Mundus Masters course in Environmental Sciences, Policy and Management เป็นโปรแกรมปริญญาโทที่จะได้เข้าเรียนในอย่างน้อย 3 มหาลัยใน 3 เมืองของยุโรป ซึ่งในโปรแกรมนี้จะได้ไป Budapest, Hungary; Lesvos island, Greece; Manchester, United Kingdom และ Lund, Sweden ค่ะ ตอนปริญญาตรีเรียนจบสาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานเป็นภูมิสถาปนิกที่ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก ตอนนี้ทำ freelance อยู่ค่ะ