7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer | ฟาร์ ภคมน

นักออกแบบแสง หรือ Lighting Designer เป็นอาชีพที่หลายคนอาจจะคุ้นหู เพราะมีนักออกแบบ และ สถาปนิกที่ไปต่อยอดจากสายตรงของตัวเอง ไปโตเฉพาะทางสายนี้อยู่ และก็รุ่งทีเดียว ซึ่งมีใครหลายๆคนอยากรู้ (ก็แอบถามจอมมา) ว่าจะเป็น Lighting Designer ต้องทำยังไงบ้าง…?

วันนี้ ใครอยากเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะเข้าสู่สายนี้ หรือ เพิ่มพื้นฐานความเข้าใจในการออกแบบแสง ไม่ควรพลาดจ้ะ!!

เพราะจอมและ Dream Action จะพามาเจอกับตัวจริง เสียงจริง ของสถาปนิกนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่ทำงานเป็น Lighting Designer ขอแนะนำให้รู้จักกับ สถาปนิกสาว ฟาร์ ภคมน ภานุจิรุตถ์ ที่วันนี้ ฟาร์จะมาเล่าว่า

อาชีพนี้จริงๆคืออะไร? Lighting Designer คือ ใคร? เค้าทำงานยังไง?


7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

แนะนำตัว | Speedy Introduction

  • ชื่อ ภคมน ภานุจิรุตถ์ ชื่อเล่น ฟาร์ ที่บ้านเรียก ฮูก เพื่อนที่ลาดกระบังเรียก ไข่ เพื่อนที่เยอรมันเรียก โปเกม่อน
  • จบปริญญาตรี สถาปัตย์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. (ลาดกระบัง)
  • เคยทำงาน ที่ 49 Lighting Design Consultants ltd (LD49) ในเครือ 49 Group เมืองไทย ประมาณ 2-3 ปี
  • จบปริญญาโท (เกียรตินิยม) ด้านการออกแบบแสงสถาปัตยกรรม Architectural Lighting Design จาก Hochschule Wismar ประเทศ Germany
  • ปัจจุบันทำงานเป็น Lighting Designer ที่ L-Plan Lighting Design GmbH ในกรุง Berlin

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

1. WHAT? Lighting design คืออะไรกันนะ ?

การออกแบบแสงสว่างเป็นศาสตร์เฉพาะด้านเลยละ ฟาร์ว่ามันผสมผสาน ระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ (ศิลปะของการใช้แสง) โดยที่ต้องประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีในหลายๆด้านมาประกอบกันด้วย สรุปคือเราเป็นลูกครึ่ง แบบครึ่งๆกลางๆ รักทั้งดาวินชี แวนโก๊ะ เอดิสัน และไอน์สไตน์ค่ะ : )

การออกแบบแสงมีหลายจุดประสงค์ หลายมิติ และหลายระดับนะในความคิดของฟาร์ บางสถานที่ต้องการแค่แสงสว่างที่เพียงพอในการใช้งานและดูเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ อันนี้เป็นพื้นฐานเลย ซึ่งสมัยก่อนส่วนใหญ่เป็นงานของวิศวกรงานระบบ หรือสถาปนิก แต่เดี๋ยวนี้เรามองเห็นความสำคัญของแสงมากกว่านั้น ว่าแสงช่วยส่งเสริมคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมได้ สามารถสร้างความอภิรมย์ กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ บทบาทของการออกแบบแสงในปัจจุบันเลยเพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย เช่น ให้แสงช่วยสนับสนุนงานออกแบบตึกโน้น ห้องนี้ให้ดูสวยหล่อมากขึ้น หรือ อย่างในสำนักงาน แสงถูกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน หรือ แสงในการออกแบบร้านค้า ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ การตัดสินใจในการเลือกสินค้าและสร้าง brand identity หรือ บางสถานที่อาจจะเน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้งาน ว่าเราต้องการให้คนที่เข้ามาในพื้นที่นี้รู้สึกอย่างไรโดยใช้แสงเป็นสื่อกลาง พอมันมีรายละเอียดมากขึ้นก็เลยเกิดงานด้านนี้เฉพาะทางขึ้นมา

ซึ่งถ้าจะให้พูดถึงว่าในสายงานออกแบบแสง ทำอะไรกันบ้าง มันค่อนข้างมีความหลากหลายนะ ด้วยความที่เกี่ยวพันกับทั้งวิทยาศาตร์และศิลปะนี่หละ หลักๆในสายออกแบบแสงเลยคือ ในงานสถาปัตยกรรม (architectural lighting design) ซึ่งก็แยกย่อยได้อีก ทั้ง interior, exterior, landscape, facade แนวอื่นก็มีแนวอาร์ทิสอย่าง Light art installation, มีงานออกแบบดวงโคม lighting object / luminaries ถ้าแยกไปย่อยๆอื่นๆ ก็มีการทำงานกับบริษัทผลิตและจำหน่ายดวงโคม, งานข้อมูล research นักวิจัย หรือทำงานด้าน lighting control โดยเฉพาะ

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting designรูป : “Ibaraki Kasugaoka Church light cross” ถ่ายโดย Bergmann is licensed under CC BY-SA 3.0

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

รูป : Siam Kempinski Hotel โดย FOS Lighting Design Studio, ออกแบบโดย คุณ ฐะนียา ยุกตะทัต / Lighting Designer บริษัท ฟอส ไลท ติ้ง ดีไซน สตูดิโอ

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

2. Education ควรมีพื้นฐานอะไร เรียนจบอะไรมา

อย่างที่เกริ่นไปว่า วงการการออกแบบแสงนี้ช่างแตกแขนงได้มากมายละเกิน ที่เราเลือกทำได้ตามความถนัดและความสนใจ ฟาร์เองมีพื้นฐานจากงานสถาปัตย์ เริ่มมารู้จักงานออกแบบแสงจากการทำงานที่ LD49 ซึ่งถือได้ว่าพี่กริช (กริช มโนภิโมกข์) เป็นครูแสงคนแรกที่พาเข้าสู่วงการ และมาเรียนต่อยอดอีกหน่อยด้านนี้ เลยถนัดไปทาง architectural lighting ที่เน้นคนและงานสถาปัตย์ แต่จริงๆแล้วฟาร์ว่า การทำงานด้านนี้สามารถเป็นใครก็ตามที่รักการออกแบบ มองเห็นความงามและความสำคัญของแสงที่ส่งผลต่อคนและสถาปัตยกรรม อย่างเพื่อนที่เรียนและทำงานด้วยกันที่เยอรมัน ก็มาจาก background ที่หลากหลาย เช่น architect, interior designer, landscape designer, graphic designer, product / industrial designer, electrical engineer etc. แต่ละคนก็จะมีแนวทางของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆในการทำงานด้วยกัน มีเรื่องสนุกใหม่ๆมาแลกเปลี่ยนกันตลอด เช่น graphic designer จะเด่นเรื่อง องค์ประกอบ visualization , วิศวกร ก็ถนัดเรื่องงานระบบวงจร control system , ส่วนสถาปนิกและมัณฑนากร ส่วนตัวคิดว่าจะได้เปรียบในเรื่องการมองภาพรวม ขั้นตอนในการทำงานร่วมกันกับผู้ออกแบบหลักและความเข้าใจ space มากกว่านิดหน่อยค่ะ สำคัญที่สุดคือ มี passion มีใจรักเลย เด๋วอย่างอื่นมันจะตามมาเอง อาจจะใช้เวลา การฝึกฝน การเรียนรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญที่เพิ่มขึ้นค่ะ

ตัวฟาร์เองเห็นผลงานของพี่ๆครูอาจารย์ เราก็ได้เรียนรู้ และก็รู้สึกว่าตัวเองยังต้องผ่านการอัพเลเวลอีกเยอะเลย ชอบที่คุณโทมัส อัลวา เอดิสัน บอกหลังจากทำการทดลองมากกว่า 2,000 ครั้งเพื่อประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าว่า “ผมไม่เคยล้มเหลวเลยสักครั้ง ผมกำลังประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า แต่บังเอิญต้องใช้กระบวนการทั้งหมด 2,000 ขั้นตอนเท่านั้นเอง” ขอบคุณที่เค้าไม่ล้มเลิกความมุ่งมั่นตั้งใจไปในการทดลองครั้งที่ 1,985 ทำให้เรามีหลอดไฟใช้งานกันทุกวันนี้ : )

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

3. Process เราทำอะไรบ้าง?

ขอพูดถึงเฉพาะการออกแบบแสงในงานสถาปัตย์นะคะ Architectural lighting design เป็นการทำงานร่วมกัน และสนับสนุนผู้ออกแบบหลัก* ในแต่ละพื้นที่ ขั้นตอนการทำงานก็ขนานไปกับเค้าด้วย เพียงแต่ช่วงเวลาจะสั้นกว่าเล็กน้อยค่ะ

* ผู้ออกแบบหลัก อันนี้ฟาร์หมายถึง ผู้ออกแบบพื้นที่หลัก เช่น สถาปนิก ผู้ออกแบบภายใน ผู้ออกแบบภูมิสถาปัตย์ ผู้ออกแบบเปลือกอาคาร ที่เราต้องออกแบบแสงเพื่อพื้นที่นั้น หรือสนับสนุนชิ้นงานนั้น รวมถึงต้องมีการ integrate และติดตั้งดวงโคมไปในพื้นที่นั้นๆ จึงต้องมีการพูดคุย ทำความเข้าใจกันให้ดี ประสานงาน ร่วมมือกันเป็นทีม อาจพูดได้ว่าการที่งานของ lighting designer จะสำเร็จลุล่วง ประสบผลสำเร็จดีงามหรือไม่นั้น ผู้ออกแบบหลักมีส่วนสำคัญมากๆเลยค่ะ

 

Conceptual design

การที่ lighting designer เริ่มงานช้าหรือเร็วนี่แล้วแต่โครงการเลยค่ะ บางโครงการเราก็เข้าไปฟังรายละเอียดพร้อมกันกับผู้ออกแบบหลัก ถ้าเริ่มงานเร็ว มีการพูดคุยกันแต่เนิ่นๆ ก็มีโอกาสสูงที่งานจะออกมาดี ถูกใจทุกฝ่าย โดยส่วนใหญ่ lighting designer จะเข้าไปนำเสนอแนวคิดในการออกแบบแสง หลังจากที่ผู้ออกแบบหลักเสนอแนวคิดของเค้าแล้ว เพื่อให้ทราบทิศทางโดยคร่าวของโครงการ เราก็เข้าไปเป็นทีมสนับสนุนให้แนวคิดนั้นๆชัดเจนหรือเน้นให้โดดเด่นขึ้น การนำเสนอจะใช้ภาพ perspective หรือ model ที่ผู้ออกแบบหลักส่งต่อมา ตัดต่อให้เห็นภาพ แสดงแนวคิดของเราว่ามีการให้แสงอย่างไร จะมีดวงโคมประเภทไหนบ้าง การติดตั้งและราคาโดยคร่าวเพื่อให้ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจหรือปรึกษาหารือร่วมกันได้ค่ะรูป : “Hotel Adlon Kempinski Berlin” Design & Images Courtesy from L-Plan Lighting Design , Berlin, Germany

Interior Designer: jagdfeld design
รูป : งานแนว lighting masterplan : concept presentation. Schiffbauergasse Potsdam, Potsdam, Germany

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting designรูป งานแนว exterior lighting : Calculation with Relux : Diablos Rojos del México Ballpark, Mexico City. Mexico” Design & Images Courtesy from L-Plan Lighting Design , Berlin, GermanyArchitect: Murphy/Jahn Architects (German-American architect)

 

Schematic design

หลังจากสรุปแนวคิดหลักแล้ว ก็เริ่มวางตำแหน่งและรายละเอียดดวงโคม โดยคร่าว ส่งออกไปเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้ทีมผู้ออกแบบหลักดำเนินงานต่อ ขั้นตอนนี้แบบอาจจะปรับเปลี่ยนกันได้บ่อยๆส่งแบบไปมาเพื่อคุย ทำความเข้าใจและแก้ปัญหากันค่ะ เช่น เพื่อนๆทีทำอินทิเรียหรือสถาปัตย์มักถามว่า พวกเราเป็นอริกับวัสดุดำมันแววหรืออย่างไร ช่ายค่ะ! เราขอเทใจให้ขาวด้านชนะเลิศ :

 

Design development

หลังจากได้ข้อเสนอแนะหรือข้อตกลงร่วมกัน เราก็พัฒนาแบบต่อโดยประสานงานกับกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ออกแบบหลัก วิศวกรงานระบบ ทีมช่างติดตั้งดวงโคม บริษัทผู้ผลิตดวงโคม เพื่อเขียนแบบโดยละเอียด ทั้งแบบขยายการติดตั้ง, circuit, รูปแบบดวงโคม, switch, ระบบควบคุม, ตาราง scene setting รวมถึง specification sheet และ cost estimate

 

Mock up (prototype / on site)

งานเราเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วค่ะ อาจจะมีบางจุดบางโครงการที่ต้องการความมั่นใจว่าจะออกมาอย่างที่มองไว้คิดไว้ หรือมีการเปลี่ยนแบบภายหลัง เลยต้องมีการทำแบบจำลองขนาด วัสดุ สี และดวงโคมที่จะใช้จริงๆ หรือใช้พื้นที่จริงในการทดสอบ ซึ่งจริงๆเรามีการทำ test เล็กๆตลอดช่วงการคิดแบบนะคะ แต่แสงค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ คือ นางมีความอ่อนไหวง่ายเปลี่ยนแปลงง่ายไปตามบริบท เช่น สีหรือลักษณะพื้นผิวที่ต่างไป ตำแหน่งหรือระยะห่างต่างๆบางครั้งเรียกได้ว่าเป็นหน่วยมิลลิเมตร กำลังวัตต์หรือค่าลูเมนของหลอด อุณหภูมิสีของแสง แต่ละบริษัทผู้ผลิตก็มีรายละเอียดพวกนี้แตกต่างกันไปอีก ซี่งก็ได้ผลลัพท์ที่ต่างกันเยอะเลย เราเลยต้องมีการทำแบบจำลอง รวมถึงการเข้าไปตรวจสอบหลังการติดตั้งดวงโคมแล้วด้วยค่ะ

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting designรูป : “Hotel Adlon Kempinski Berlin” Design & Images Courtesy from L-Plan Lighting Design , Berlin, Germany

Interior Designer: jagdfeld design

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

4. Program เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือ

เริ่มแรก คือการเสนอแนวความคิดในการออกแบบ ขั้นตอนนี้ใช้อุปกรณ์และโปรแกรมทุกรูปแบบที่สามารถสื่อสารความคิดของเรา อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ หลักๆก็จะเป็น Hand sketch, Conceptual Model, Photoshop, Illustrator, Sketch up, 3D Max, Power point etc. เมื่อถึงขั้นพัฒนาแบบ ต้องมีการประสานงานร่วมกันกับผู้ออกแบบหลัก จึงต้องทำงานบนโปรแกรมพื้นฐานที่เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย สามารถรับช่วงต่อมา และส่งต่อให้ผู้เกี่ยวข้องทำงานต่อได้ เช่น Auto CAD และ Autodesk Revit มีการใช้โปรแกรมคำนวณแสงเพื่อตรวจสอบแอฟเฟคและความสว่าง เช่น Relux หรือ Dialux เป็นต้น บางครั้งใช้เป็นตัวอย่างในการอธิบายแบบกับผู้เกี่ยวข้องในโครงการด้วย และสุดท้ายคือ โปรแกรมสร้างรูปเล่มต่างๆ เช่น Microsoft office หรือ InDesign ใช้ในการจัดทำรายละเอียดดวงโคม (specification) และรายละเอียดการประมาณราคา (cost estimate) ในบางโครงการใช้ในการสรุปรวบรวมข้อมูลแบบทั้งหมดของโครงการเป็นรูปเล่ม เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลที่ย้อนดูสรุปได้ง่าย ให้เข้าใจกันในสำนักงาน และ สำหรับส่งออกเป็นแบบประสานงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละโครงการค่ะ

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

5. Vocabulary คำศัพท์ที่ใช้บ่อย (และอาจมีความมึนงงตอนแรก)

ฟาร์แบ่งเป็นหมวดคร่าวๆ ไว้ และขอเลือกเฉพาะพระเอกแต่ละหมวดมาเล่าให้ฟังนะคะ ส่วนคำอื่นๆให้เป็นชื่อไว้ ลองหากันดูสนุกๆ หรือสอบถามเพิ่มเติมมาได้ค่ะ

หมวดทั่วไป

  • RCP = Reflective Ceiling Plan คือผังฝ้าเพดาน เป็นผังที่ lighting designer มักจะถามหาเสมอ เพราะส่วนใหญ่เราจะติดตั้งดวงโคมไว้ที่ฝ้าเพดานนั่นเองค่ะ คำอื่นๆในหมวดนี้ เช่น scene schedule เป็นต้น

หมวดอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลอดและดวงโคม

  • Dimmer = ตัวหรี่แสง ปัจจุบันนี้มีหลายแบบเลย ทั้งแบบกด แบบหมุน หรือแบบควบคุมรวมเป็นแผง ใช้ควบคุมปริมาณแสงและความสว่างที่ต้องการ ตามลักษณะการใช้งานและสร้างบรรยากาศ คำอื่นๆในหมวดนี้ เช่น transformer, driver, louver, spite, lens และ ขั้วหลอดต่างๆ เช่น PAR, MR16, GU10 เป็นต้น

หมวดค่าระดับต่างๆ ของหลอดและดวงโคม

  • IP rating = Ingress Protection Ratings คือ ค่ามาตรฐานแสดงระดับการป้องกันของกล่อง แผงไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า โดยที่ค่า IP นั้นจะแสดงด้วยตัวเลข 2 หลัก คือรูปแบบการแสดงมาตรฐานจะเป็น IPXX โดยที่ตัวเลขหลักแรกจะหมายถึงการป้องกันจากฝุ่นและของแข็ง ซึ่งจะมีตั้งแต่ 0-6 ส่วนตัวเลขหลักที่ 2 จะหมายถึงการป้องกันจากน้ำและของเหลว ซึ่งจะมีตั้งแต่ 0-8 ประมาณนี้ค่ะ ส่วนคำอื่นๆในหมวดนี้ เช่น CRI, CCR และ IK

หมวดศัพท์แสง

ขอยกตัวอย่างที่เห็นและทำให้งงได้บ่อยๆบนกล่องหลอดไฟนะคะ

  • Lumens (lm) = หน่วยที่ใช้วัดความส่องสว่าง ซึ่งความส่องสว่าง (Luminous flux) หมายถึง ปริมาณแสงทั้งหมดที่ส่องออกจากแหล่งกำเนิดแสง เช่น หลอดไฟ ในการเลือกซื้อหลอดไฟ เราสามารถดูค่าความสว่างของหลอดไฟได้จากค่า ลูเมน (Lumen) ซึ่งจะมีระบุอยู่ข้างกล่อง ยิ่งค่าลูเมนมาก ความสว่างก็จะมากขึ้นด้วย ส่วนจำนวน Watt จะเป็นการบอกถึงกำลังไฟฟ้าในการกินไฟค่ะ คำอื่นๆในหมวดนี้ เช่น Lux, Candela, Lux meter, ลักษณะแสงแบบต่างๆ เช่น flood, ambient, accent เป็นต้น

 

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

6. Imagination จินตนาการ..สำคัญ!

ฟาร์สนใจที่คุณอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “Logic will get you from A to B. Imagination will take you everywhere” ฟาร์ว่าจินตนาการเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะ เริ่มคล้ายๆกับการออกแบบอื่นๆเลย ขอเรียกว่าเป็น artistic part นะ คือก็จะจินตนาการ มโน นิมิตเต็มที่ เรียกว่าสร้างภาพวิมานในอวกาศก็ว่าได้ ตอนคิดงานจะถามตัวเองอยู่ตลอดว่า WHAT / WHY / HOW ยิ่งไปกว่านั้นที่นี่จะให้ความสำคัญกับ concept ค่อนข้างมาก สร้างความแตกต่างและความเหมาะสมให้งานแต่ละงานเกิดขึ้นเพื่อสิ่งนั้น ผู้คน บริบทและสถานที่นั้นๆ เหมือนราตั้งคำถามปลายเปิดแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และคำตอบที่ได้ก็มักเกินความคาดหมายเสมอ โดยเฉพาะแสงเป็นสิ่งที่เราไม่ได้มองเห็นหรือจับต้องได้อย่างจริงจัง จินตนาการภาพ 3มิติของแสงได้ว่าเป็นแบบไหน ก่อนอื่นฟาร์ว่าก็ต้องเข้าใจแสงก่อนนี่แหละว่าธรรมชาติของแสงเป็นยังไง เราจะสื่อออกมายังไง สร้างบรรยากาศให้คนอื่นรู้สึกอะไร ได้อย่างไร ส่วนตัวฟาร์ชอบธรรมชาติ สายลมแสงแดด เลยกลายเป็นชอบสังเกตแสงและเงาในธรรมชาติแล้วเอามาปรับใช้ค่ะ แรงบันดาลใจก็มาจากอะไรรอบตัว นั่งชมวิว ดูผู้คน เที่ยวบ่อยๆ หรือไม่สะดวกไปไหนก็ท่องโลกอินเตอร์เน็ตนี่หละ ชิลๆที่บ้าน แนะนำเว็บไซต์

อาจจะไม่ใช้ขุมทรัพย์ของแนวคิดในการออกแบบโดยตรง แต่คิดว่าน่าจะช่วยเห็นภาพเกี่ยวกับวิชาชีพนี้มากขึ้นค่ะ

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

รูป : ถ่ายโดย ภคมน ภานุจิรุตถ์

 

7 สิ่งที่ต้องรู้ กับการเป็น Lighting Designer การออกแบบแสง สถาปัตยกรรมแสง lighting design

7. Knowledge ความรู้…ก็สำคัญไม่น้อยกว่าจิตนาการ

หลังจากเราจินตนาการทะลุเพดาน ไปถึงดวงจันทร์แล้ว ก็ต้องใช้พื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หลักจิตวิทยาและเทคโนโลยีต่างๆนี่หละ ช่วยดึงเราลงมาอยู่บนโลกแห่งความจริง นั่นคือต้องหาความเป็นไปได้และเปรียบเทียบหลายๆอย่างทั้งเรื่อง technology, material, technique, requirement, equipment, project budget, energy, operation cost, etc. เหมือนต้องหาความรู้ตลอดเวลานะ เพราะวิวัฒนาการต่างๆมันวิ่งเร็ว เราก็มองหาว่ามีอะไรบ้างที่สามารถช่วยลดข้อจำกัดหรือเข้ามาช่วยสนับสนุนแนวคิดของเราให้เป็นไปได้มากขึ้น หรือดีขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ออกแบบว่าจะซ่อนไฟตรงนี้ ต้องใช้หลอดไฟที่เล็กมากและให้แสงสว่างมากด้วย ก็ต้องไปดูว่าความเป็นไปได้เล็กที่สุดได้แค่ไหน สว่างได้แค่ไหน มีผลิตขายในท้องตลาดหรือยัง หรือสามารถติดต่อสั่งทำพิเศษ(Custom)ได้มั้ย การมีความรู้แน่นระดับนึงก็ช่วยให้งานออกแบบของเราไปได้ไกลขึ้น และทำงานเร็วขึ้นด้วยค่ะ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อจำกัดเหล่านี่ จะกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์งานนะ เหมือนมันต้องมีหนทาง ฟาร์ว่านักออกแบบรู้ดีว่า บ่อยครั้งที่เราอดทน พยายาม และใช้เวลานานมาก เพื่อที่จะหาสิ่งที่ดีที่สุด ภายในข้อจำกัดที่มี ตอนงานเสร็จเลยเหมือนเห็นลูกเติบโตก็ว่าได้

ถ้าถามถึงแหล่งข้อมูล ฟาร์ชอบอ่านบทความในนิตยสาร, catalog ดวงโคม (ซึ่งบางครั้งยอมรับว่าดู catalog แทนหนังสืออ่านเล่น เพลินๆ) และเข้าร่วมงานสัมมนาบ้าง ได้เรียนรู้จากกูรูด้วยและ ได้ไปคุยแลกเปลี่ยนกับพี่ๆเพื่อนๆในสายงานเดียวกันด้วย สำหรับการออกแบบแสงในประเทศไทยเท่าที่ทราบ มีการรวมกลุ่มจัดตั้ง LDT (Lighting Designer Thailand) เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกัน และมี ISA โครงการพัฒนาวิชาชีพ (แสงสัมมนา) มีการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับแสงและหัวข้อที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ลองเข้าไปเช็คกันดูค่ะ สำหรับบุคคลทั่วไปและสถาปนิกก็เข้าฟังได้นะคะ น่าจะช่วยเข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้ออกแบบแสงและแนวทางในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้นค่ะ ส่วนในต่างประเทศ ฟาร์ติดตามของ PLDC http://www.pld-c.com/ และ IALD https://www.iald.org/ ถ้าเพื่อนๆพี่ๆในวงการมีข้อมูลใหม่ๆหรือน่าสนใจเพิ่มเติมจากนี้ มาแชร์กันได้นะคะ :))

 

สุดท้าย

ขอฝากแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้กับคนที่ส่งคำถามเข้ามา รวมถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มทำงานด้านนี้หรือกำลังคิดจะเปลี่ยนสายงานทุกท่านค่ะ ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้เนาะ บางทีงานในฝันอาจรอคุณอยู่ Dream and Action : )

Author’s Bio :

ภคมน ภานุจิรุตถ์ภคมน ภานุจิรุตถ์ ชื่อเล่น ฟาร์ จบปริญญาตรี สถาปัตย์ ลาดกระบัง, จบปริญญาโท ด้าน Architectural Lighting Design จาก Hochschule Wismar ประเทศ Germany

ฟาร์ เป็นคนใต้ หาเช้ากินค่ำอยู่ที่เบอลิน นอนไว ตื่นเช้า ค้นหาสิ่งใหม่ๆเพื่อชมและชิม อยู่บ้านชอบเล่นโยคะกะทำความสะอาด แต่ก็ชอบเดินทาง ชอบเอาตัวเองเข้าไปแอบอยู่ในธรรมชาติ หลงรักสัตว์ทุกชนิดยกเว้นแมว ชอบวิทยาศาตร์ หนังไซไฟ ชอบศิลปะ ชอบการ์ตูนติงต๊องและหนังแฟนตาซี พลังขับเคลื่อนมาจากความสงบเรียบง่ายในธรรมชาติ ความสุขในสิ่งที่ทำ ความรักจากคนรอบข้างและการได้ส่งต่อพลังบวกให้คนอื่น เชื่อว่าคนเราไม่ควรทำงานเกินวันละ 6 ชั่วโมง