5 เทรนด์โลก + การออกแบบ (รู้ไว้จะได้ไม่เชย) | Trending Topics 2016 to 2017

5 Design Trending Topics you should already know by 2017

เป็นนักออกแบบก็ต้องหมั่นอัพเดทใช่มั้ยคะ นอกจากจะต้องรู้ว่าปีนี้ Pantone of the year สีอะไร Design Trend แบบไหนจะมา ฝึก Rhino เรนเดอร์ แต่งภาพ ตีแคดให้เทพ แล้ว นักออกแบบอย่างเราๆน่าจะต้องรู้ด้วยว่าคนอื่นเค้าสนใจเรื่องอะไรกันอยู่โดยเฉพาะเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งการที่เรารู้จักเรื่องเหล่านี้ จะทำให้งานออกแบบของเรามีความลึกซึ้งขึ้น ในแง่ของกระบวนการ มีความสวยจากข้างใน เป็นงานออกแบบที่สวย ฉลาด ดี ครบเครื่องทันโลก วันนี้เราเลือก 5 หัวข้อที่ได้รับการพูดถึงมากๆตั้งแต่ในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมา และน่าจะมาแรงอย่างต่อเนื่องมาเล่าให้ฟัง รู้จักกันไว้ จะได้ไม่เชยนะคะ

Design Trends เทรนด์การออกแบบ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม

1. Resilience Design

Resilience Design คือการออกแบบให้งานของเราสามารถปรับตัวพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติต่างๆเช่นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือเหตุการณ์อื่นๆทางสังคม เช่นการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ผู้อพยพ ความมั่นคงทางอาหาร ไปจนถึงการแก้ปัญหารถติด!

จริงๆแล้ว Resilience Design ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เรายกให้มันเป็นเรื่องที่มาแรง เพราะตอนนี้ที่อากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วพอๆกับเหตุการณ์ในสังคม การคิดถึง Sustainable Design ที่ตามหาจุดตรงกลางของความดีงามทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเดียว มันไม่พอที่จะรับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ ยกตัวอย่างตอนที่เฮอริเคน Sandy ถล่ม Manhattan ตึกที่ได้มาตรฐาน LEEDS หรือย่านที่ว่าถูกออกแบบให้ “ยั่งยืน” เนี่ย ไม่สามารถรับมือกับพายุนี้ได้เลย หลายๆคนพูดถึงขนาดว่า Sustainable น่ะ มัน “out” ไปแล้ว และ Resilience Design จะมาแทนที่ แต่จริงๆแล้วทั้งสองอย่างควรจะต้องคิดควบคู่กันไปนะ เหมือนกับว่าเราคิดถึงทั้งเรื่องที่ดี กับเรื่องที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับงานออกแบบของเราเพื่อที่จะให้มันรับมือกับเรื่องแย่ๆ แล้วก็สามารถดีอย่างที่เราอยากให้ดีได้ ซึ่งงานในทุกๆเสกลที่คิดเรื่องพวกนี้มา ก็จะมีผลให้เมืองนั้นๆมีความ Resilience มากขึ้นด้วย

5 Design Trends you should already know by 2017 เทรนด์การออกแบบ ที่ควรรู้ไว้จะได้ไม่เชยตัวอย่าง: พื้นที่สีเขียวเพื่อรับมือพายุฝนรุนแรงที่โคเปนเฮเกน เปรียบเทียบวันธรรมดากับวันฝนตกหนัก จาก http://tredjenatur.dk/portfolio/enghaveparken-her-og-nu/

แล้วต้องทำยังไง งานออกแบบเราถึงจะ resilience?

การตั้งโจทย์ของ resilience design เริ่มต้นที่ปัญหา ตอนที่เราทำประกวดแบบของ AECOM ในหัวข้อนี้ เค้าให้เลือกเมืองมาเมืองนึง แล้วดูว่าเมืองนั้นมีปัญหาอะไร เปราะบางตรงไหน แล้วเราในฐานะนักออกแบบจะทำให้มันปรับตัวในเรื่องพวกนั้นได้ยังไง ยกตัวอย่างงานที่ขนะประกวดแบบอันนี้ ทีมจาก University of Pennsylvania เค้าทำ urban farming ที่สิงคโปร์เพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารของชาวเกาะ พร้อมให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องการผลิตอาหารเพื่อสร้างจิตสำนึกด้วย (ทีมเราได้รางวัลที่ 3 เดี๋ยววันหลังจะมาเล่าให้ฟัง #ฝากร้านด้วยนะคะ)

อยากรู้เรื่อง Resilience design เพิ่มเติมพร้อมตัวอย่างงานออกแบบที่ ASLA เพิ่งรวบรวมมา ดูได้ที่ https://www.asla.org/resilientdesign.aspx

Design Trends เทรนด์การออกแบบ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม

2. Design and Politics | Design justice

เป็นนักออกแบบ อาจะดูไม่ค่อย(อยากจะ)เกี่ยวกับการเมือง แต่จริงๆแล้วงานออกแบบหลายๆอย่างก็มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วก็สามารถสร้างและทำลายความเท่าเทียมของคนในสังคมได้เช่นเดียวกัน เรื่องของการออกแบบกับการเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกน่ะแหละ แต่เรายกให้เป็น Matters of the year เพราะเป็นหัวข้อที่โรงเรียนออกแบบเด่นๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา (e.g. TU Delft, GSD, UPenn) ต่างให้ความสนใจ แล้วก็ยังไม่เป็นที่ถูกพูดถึงมากเท่าไหร่ในบ้านเรา ซึ่งหัวข้อ Designs as poltics นี้จริงๆแล้วกว้างมาก ครอบคลุมหัวข้อซึ่งเป็นที่ถกเถียงทางสังคมมากมาย ตั้งแต่เรื่องของความเท่าเทียม ประชาธิปไตย ไปจนถึงเรื่องของผู้อพยพลี้ภัยสงคราม ซึ่งคนที่พูดเรื่องพวกนี้จะมองเห็นว่าการออกแบบมีผลกระทบต่อสังคม และการเมืองได้ แต่วันนี้เราเลือกเรื่อง “design justice” หรือการออกแบบเพื่อความเท่าเทียม ความเป็นธรรม มาพูดถึง เพราะความเท่าเทียม เป็นเรื่องพื้นฐานทางสังคม(ประชาธิปไตย) ค่ะ

คนที่ทำเรื่องนี้เชื่อว่างานออกแบบที่บอกว่าออกแบบ“เพื่อ”สังคมจริงๆแล้วอาจทำให้คนบางกลุ่มในสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆเสียผลประโยชน์ได้ ผลประโยชน์ที่พูดถึงไม่ใช่แค่เรื่องรายได้แต่รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ หรือการใช้งานพื้นที่เหล่านั้นอย่างสบายใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถกระจายกันให้อย่างทั่วถึงได้ ถ้านักออกแบบทำงานออกแบบร่วมกับผู้ใช้งาน/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกเพศ วัย ฐานะ เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา ด้วยความเข้าใจและยอมรับ เป็นคนประสานงาน คอยผลักดันความคิดดีๆ แล้วทำให้ความคิดเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่ได้จากกระบวนการออกแบบแบบนี้ไม่ได้มีแค่ผลงานออกแบบ แต่ชุมชนก็จะเข้มแข็ง และยอมรับในความหลากหลายได้มากขึ้นด้วย

5 Design Trends you should already know by 2017 เทรนด์การออกแบบ ที่ควรรู้ไว้จะได้ไม่เชยการลิสต์คนที่จะได้รับผลกระทบจากงานออกแบบ จาก http://designjustice.info/blog/2016/generating-shared-principles

ถ้าอยากเห็นตัวอย่างงาน/กระบวนการของ design justice ดูได้ที่ http://designjustice.info/blog/ส่วนงาน design as politics เท่ๆ ดูได้ที่ https://designaspolitics.nl/

Design Trends เทรนด์การออกแบบ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม

3. Public “engagement”

ต่อด้วยเรื่องของคนอีกนิดละกันนะคะ Public “engagement” ถูกเราเลือกให้เป็นเรื่องที่มาแรงสุดๆอีกเรื่อง แยกออกมาจาก design justice เพื่อตอกย้ำว่าเรื่องของการออกแบบที่ชุมชนมีส่วนร่วมมีความสำคัญมากๆในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งมันต่างจาก Public “participation” หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบที่เวลาเราต้องทำ EIA แล้วไปเสนอแบบให้ชุมชนดูตรงที่ นอกจากงานของเราจะต้องให้เค้ามามีส่วนร่วมแล้ว เรายังต้องให้เค้ามีส่วนร่วมจนคนในชุมชนรู้สึกผูกพัน เป็นเจ้าของ อยากจะดูแล หรือมีหน้าที่ต้องดูแลสิ่งที่เราออกแบบมาด้วย ซึ่งต้องผ่านกระบวนการที่ให้เค้ามีส่วนร่วมออกแบบไปด้วยกัน ทำให้เค้ารู้สึกว่าเค้าจะได้ประโยชน์ ซึ่งต้องคิดไปจนถึงว่าพอหมดหน้าที่ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง/การผลิตของผู้ออกแบบแล้ว คนตรงนั้นเค้าจะรับช่วงดูแลงานออกแบบของเราต่อไปได้

5 Design Trends you should already know by 2017 เทรนด์การออกแบบ ที่ควรรู้ไว้จะได้ไม่เชย

“Prismatic People Thumbs Up” by GDJ / CC BY

ตอนเราไปเรียนสวีเดนถึงแล้วทำทีสิสเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวในเมือง เราได้สัมภาษณ์อาจารย์ภูมิสถาปัตย์ ไปจนถึงนักออกแบบเมืองที่เมืองมัลเมอ แล้วเมืองโคเปนเฮเกน นอกจากที่เค้าพยายามทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะงานออกแบบในระดับย่านแล้ว ยังมีงานออกแบบงานนึงที่ได้รับการพูดถึงเยอะมากในเรื่องของ Public “engagement” คืองาน Queen Elizabeth Olmpic Park, London ซึ่งได้คำนึงถึงการใช้สอยของประชากรหลากหลายฐานะ และเชื้อชาติ ที่อาศัยอยู่ตรงนั้น ไปจนถึงการใช้งานและมีสวนร่วมในการดูแลรักษาหลังจบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2012 ทำให้การสร้าง Olympic Parkไม่ได้จบแค่งานกีฬา แต่ได้การพัฒนาย่าน East London ที่ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้มาด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.queenelizabetholympicpark.co.uk/our-story/transforming-east-london/design-excellence

Design Trends เทรนด์การออกแบบ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม

4. Cradle to cradle design

กลับมาที่เรื่องการออกแบบเน้นๆกันบ้าง ปกติแล้วสิ่งของ หรืออาคารที่เราใช้ พอหมดอายุการใช้งานก็จะถูกทิ้ง กลายเป็นขยะ แต่ cradle to cradle design (ไปลองหามา ภาษาไทยเรียกว่า “จากอู่สู่อู่”) บอกว่าการคิดตรงๆแบบนี้จะทำให้ขยะล้นโลก แล้วบอกว่าจริงๆของที่หมดอายุการใช้งานควรจะได้กลับมาเป็นวัตถุดิบสำหรับของชิ้นใหม่ เหมือนใบไม้ที่ร่วงจากต้น แล้วกลายเป็นปุ๋ยได้ต่อไป ถ้าคิดแบบนี้ทุกอย่างก็จะหมุนวนกลับมาเป็นทรัพยากร เป็นสารอาหารให้กับระบบนิเวศน์และระบบการผลิตของมนุษย์ได้ คนที่คิดเรื่องนี้คือคุณ William McDonough สถาปนิก และคุณ Michael Braungart นักเคมี เค้าร่วมมือกันทำบริษัทให้คำปรึกษาสำหรับอุตสาหกรรมที่อยากเปลี่ยนให้ผลิตภัณฑ์ตัวเองสามารถหมุมเวียนกลับมาเป็นทรัพยากรได้ คุณ William McDonough ก็ยังมีบริษัทสถาปนิกที่ออกแบบอาคาร-ชุมชนด้วยแนวความคิดนี้ด้วย จริงๆแล้วเค้าสองคนนี้ออกหนังสือชื่อ Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things ซึ่งอธิบายเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2002 แต่เราก็ยังยกให้เป็นเรื่องของปีที่ใครๆก็ควรจะต้องรู้จักอยู่ดี เพราะตอนนี้บริษัทใหญ่ๆอย่าง H&M, IKEA, P&G, Nike หรือกระทั่งองค์กระดับโลกอย่าง NASA ต่างก็ให้ความสนใจ เราจะหลุดจากเทรนต์นี้ไปไม่ได้นะ

5 Design Trends you should already know by 2017 เทรนด์การออกแบบ ที่ควรรู้ไว้จะได้ไม่เชยตัวอย่างอาคารแนวคิด cradle to cradle design จาก http://www.mcdonoughpartners.com/projects/agro-food-park/

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแล้วมันต่างกับ Recycle ยังไง คือว่ามันกว้างกว่าแล้วก็ครอบคลุมไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ไม่ให้เกิดของเสียออกมาเป็นขยะ เช่นตัวอย่างของ Designtex อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ใช้สารเคมีที่ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตกลับออกไปสู่ธรรมชาติแบบที่สะอาดกว่าตอนเข้ามา เศษผ้าเหลือเอาไปคลุมดินปลูกสตอเบอรี่ไร่ข้างๆได้ เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าของเค้าพอหมดสภาพความเป็นผ้าแล้วก็สามารถกลับสู่ธรรมชาติได้ ไม่ต้องไปเป็นขยะ ในส่วนของการออกแบบอาคารเค้าจะคิดถึงเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน แสงธรรมชาติ ระบบหมุนเวียนน้ำ หรือชื้นส่วนอาคารที่เอามาใช้ใหม่ได้

ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mcdonoughpartners.com/design-approach/ภาษาไทย http://www.web.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/1117

Design Trends เทรนด์การออกแบบ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม

5. Sharing Economy

UBER, AirBNB เป็นตัวอย่างของ Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปันค่ะ แนวความคิดนี้พูดง่ายๆคือเอาของที่เรามีอยู่มา”แบ่งกัน”ใช้ ในช่วงเวลาที่เราไม่ได้ใช้ แถมได้เงินหรือสิ่งตอบแทนอื่นๆด้วย โดยมีเทคโนโลยีหรืออินเตอเนตเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการแชร์นี้ขึ้น เราเลือกเรื่องนี้มาพูดถึงเพราะแนวคิดนี้สามารถทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ซึ่งนักออกแบบต้องตามให้ทัน แล้วเรื่องนี้ยังเป็นหัวข้อในการประกวดแบบ Urban SOS ของ AECOM ปีที่แล้วด้วยนะ

Trend ของเศรษฐกิจแบ่งปัน ทำให้รูปแบบของการบริโภคเปลี่ยนไป จากที่เราจะต้องเป็นเจ้าของ ของสินค้าบางอย่าง เราจะกลายเป็นผู้ใช้ และอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ แล้วคนก็จะเคยชินกับการใช้ของมือสองมากขึ้น ซึ่งการบริโภคแบบนี้จะทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตใหม่ลดน้อยลง รวมไปถึงการ share space ซึ่งทำให้การบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติ หรือ Urban Sprawl เกิดขึ้นน้อยลงได้เช่นกัน

5 Design Trends you should already know by 2017 เทรนด์การออกแบบ ที่ควรรู้ไว้จะได้ไม่เชย

ตัวอย่าง sharing economy แบบเข้าใจง่ายๆจาก https://www.justpark.com/creative/sharing-economy-index/

เอาตัวอย่างสนุกๆจากการประกวดแบบของ AECOM ในหัวข้อ Fair Share มาเล่าให้ฟังดีกว่า เค้าเพิ่งตัดสินรางวัลไปกันเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมาเลย ทีมที่ชนะคือทีมจาก Washington University in St. Louis ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเรียนออกแบบกับนักเรียนด้านสาธารณะสุข ทีมนี้เค้าส่งผลงาน First Class Meal ที่เสนอให้ใช้ระบบไปรษณีย์ของอเมริกา ในการจัดส่งอาหารส่วนเกินจากชุมชนที่มีเยอะไปให้ชุมชนที่ขาดแคลน งานนี้เจ๋งตรงที่เค้าใช้ระบบพื้นฐานที่มีอยู่แล้วและยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ (ระบบไปรษณีย์) ในการแก้ปัญหาเรื่องขยะอาหาร และอาหารขาดแคลน ผ่านการแบ่งปัน สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆที่ แล้วก็ยังทำให้ระบบไปรษณีย์ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย เราคิดว่าแนวคิดแบบนี้นี่แหละที่นักออกแบบควรจะรู้จัก เพื่อที่จะได้ออกแบบงานที่ตอบโจทย์หลายๆอย่างของสังคมได้ในเวลาเดียวกัน

สามารถดูงานประกวดนี้เต็มๆได้ที่ http://www.aecom.com/urban-sos-finalists/

สรุป 🙂

จริงๆแล้วมันก็มีอีกหลายเรื่องแหละ ที่นักออกแบบคนอื่นๆเค้าพูดถึงกัน แต่เราคิดว่า 5 เรื่องที่เอามาเล่าให้ฟังตอนนี้ จะสามารถเป็นพื้นฐานให้ไปเข้าใจในเรื่องอื่นๆได้ไม่ยาก แล้วก็จะเห็นว่าหลายๆเรื่องที่พูดถึง มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นแนวความคิดทีต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของคนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไปจนถึงรูปแบบการใช้ชีวิต การใช้พื้นที่ที่แตกต่างจากปัจจุบัน แล้วก็จะต้องการการออกแบบทั้งหน้าตาและการใช้งานของสิ่งของ และสเปซที่สดใหม่ เป็นโอากาสที่นักออกแบบอย่างเราๆจะได้คิด ได้ทำอะไรสนุกๆ ในปีนี้แล้วก็ปีต่อๆไปค่ะ

 

ประวัติผู้เขียน

5 Design Trends you should already know by 2017 เทรนด์การออกแบบ ที่ควรรู้ไว้จะได้ไม่เชย

พิณ อุดมเจริญชัยกิจ จบปริญญาตรีจาก ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม จาก Erasmus Mundus Masters course in Environmental Sciences, Policy and Management ที่ได้ไปหลายๆประเทศในยุโรป

ทำงานรับจ้างทั่วไป เช่น เป็นอาจารย์พิเศษที่ภูมิสถาปัตย์ ลาดกระบัง ภูมิสถาปนิกพาร์ทไทม์ที่ Soen รับจ๊อบนู่นนี่เท่าที่มีคนจ้างกับงานที่ดูน่าสนุก ว่างๆก็ไปช่วยเพื่อนเสิร์ฟที่คาเฟ่ ไม่ก็หางานประกวดแบบทำเชื่อว่าทุกคนเริ่มใหม่ได้ เก่งและดีได้เท่าที่ใจอยาก เชื่อว่างานออกแบบสามารถทำให้ชีวิตคน สังคม สิ่งแวดล้อม อะไรๆดีขึ้นได้ ชอบงานที่สวย ดี ดูมีความคิด ชอบเที่ยวเล่น ชอบกินไก่ทอด ชอบอยู่กับต้นไม้และหมาแมว