Portfolio Design & Strategy : มาออกแบบพอร์ตฟอลิโอกันเถอะ!!
พอร์ตฟอลิโอ นั้น จริงๆแล้วไม่ใช่แค่..แฟ้มสะสมผลงานค่ะ แต่พอร์ตฟอลิโอ มีไว้เพื่อเล่าเรื่องงานออกแบบของเรา ความสามารถของเรา ผ่านในรูปหนังสือ แฟ้มแบบดิจิตอลเล่มนี้ และเป็นส่วนหนึ่งและส่วนที่สำคัญที่สุดในการ Self-Promotion หรือการแสดงตัวตนเราให้สังคมเห็นค่ะ
สะสม มันแปลว่า…รวมทั้งหมด แต่จริงๆแล้วพอร์ตฟอลิโอควรจะต้อง “เลือก”ผลงาน เพื่อจะแสดงงาน และแสดงฝีมือของเราออกไป
ไม่ใช่แค่เอางานออกแบบของเรามาซ้อนต่อๆกัน แล้วจะเป็นพอร์ต แต่ เรายังต้องออกแบบ พอร์ตฟอลิโอ ด้วยค่ะ เพราะงานดีดี จะยิ่งดูดีขึ้นไปอีกถ้าเรานำเสนอมันอย่างถูกวิธีค่ะจะทำออกมาได้ อาศัยการออกแบบ และวางแผนมันนิดหน่อยค่ะ ก่อนจะลุยจริง
การวางแผน และ ออกแบบ Portfolio สำคัญมากไหม?
มากนะ! รู้ป่าว…ว่าเทคนิคการทำ Portfolio ให้เจ๋งอ่ะ คือ..มันเริ่มมาจาก…ต้องมี Strategy ! หรือ ยุทธศาสตร์น่ะแหละ!!
เอาจากประสบการณ์ตรง..
ครั้งแรกที่เริ่มทำ Portfolio บอกเลยว่า ทำไปเรื่อย ไม่ได้คิดอะไร จัดหน้าแบบที่คิดว่าดี เอามาวางๆ จบ
ตอนนี้กลับมาดูใหม่ แทบอยากจะเผาทิ้ง! อายจัง
ครั้งต่อต่อมา ก็ทำจนรู้สึกกับตัวเองตอนนั้น ว่านี่แหละ เอาไปโชว์ได้แล้ว ตอนนั้นคิดว่า ต้องดีขนาด…. “เอาไปวางขายที่ร้านหนังสือแล้วมีคนซื้ออ่ะ”
ตอนนั้น มีเป้าหมาย แต่ยังไม่มียุทธศาสตร์ กลับมาดูอีกทีก็ยังแบบ..เฮ้อ
ครั้งต่อมา ทางเริ่มมา…เราจะบอกว่า “เราคือคนที่มีความสามารถหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่อง นี้ (เลือกมาเรื่องนึง)”
ครั้งต่อๆมา … ยิ่งชัดขึ้น..ชั้นนี่แหละ..คือ”คนที่เชี่ยวชาญ และสนใจในเรื่องการออกแบบโครงการแบบนี้” และใช้แต่ละงานเล่าเรื่องประกอบกันจนเป็น “เรา”
พอเรื่องที่ต้องการจะบอกชัดเจน การที่จะจัดวาง เลือกงาน และสร้างมันออกมาทำให้ลื่นไหล และดูมีเหตุมีผลอย่างมาก ที่ผ่านไปหลายปี เอากลับมาดู ก็ไม่ได้รู้สึกว่าขี้เหร่อะไร ค่อนข้างมั่นใจ และพอใจ และคิดว่ายังปรับได้อีก แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอายตัวเองอีกต่อไป
มาถึงจุดนี้ได้… เพราะ..Portfolio นั้น มัน “คิด”มา มันสร้าง “ยุทธศาสตร์”มา มันมีเหตุผลของมัน ว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้
Portfolio ทำไปเรื่อยๆ บางทีก็เหนื่อยวนไปวนมา เพราะทำไปแบบไม่มีทิศทาง ทำทำไปก็….เอ๊ะทำจะทำแบบนี้ดี หรือ ทำแบบนั้นดี เอ๊ะ คิดไรมากมาย..ทำทำไปเหอะ!
แต่เอ…ทำไมมันไม่ดีขึ้นสักที ทำไมไม่ถูกใจเอาซะเลย…แล้วไงต่อ..? ก็เวลาสมัครงานที่การแข่งขัน สูงๆ บางทีมันเลยไม่ได้ไง..
ถ้าอยากทำสบายๆก็ทำไปเรื่อยๆ แก้แล้วแก้อีก ไม่ต้องคิดมา ก็ทำไป แต่นานเท่าไหร่จะเจ๋ง เข้าที่เข้าทาง อันนี้ก็ไม่รู้สินะ..
แต่ที่แน่ๆที่จอมรู้คือ.. หลังจากทำ Portfolio ของตัวเองมาหลายเวอชั่นจนค้นพบว่า มันมีขั้นมีตอนที่ถ้าทำก่อน จะทำให้มันออกมา”ดี” กว่ากันมากกกก เพราะมันไม่ได้เป็นแค่สมุดรวมงานธรรมดา แต่เป็นสิ่งที่ดึงเอาเรื่องของเรามาขาย มาเล่าได้อย่างน่าสนใจ
วันนี้เลยอยากจะเอาเรื่องนี้มาแนะนำ บอกต่อค่ะ เพราะมันสำคัญว่าแล้วก็ มาเข้าเรื่องวิธีการวางแผน และออกแบบพอร์ตฟอลิโอของเรากันเลยค่ะ
1. Set Direction
เลือกจุดหมาย เอาไปสมัครงาน หรือ สมัครเรียน และสมัครที่ไหน
จากนั้น ลองดูว่าออฟฟิสที่เราจะไปสมัครนั้น เค้าทำงานแนวไหน และเน้นอะไรเป็นพิเศษ หรือถ้าเค้ามีประกาศรับสมัครงานอยู่ ก็ดูว่าคุณสมบัติ (Qualification) ที่เค้ามองหา มีอะไรบ้าง และมีประสบการณ์งานชนิดไหนเป็นพิเศษไหม ถ้าไม่มีก็ต้องไปทำการบ้านและศึกษาเอง ว่าเค้าเน้นงานแนวไหน
2. Self-Positioning
เมื่อเรารู้ว่าตลาดงานต้องการอะไร ทีนี้เรามาดูว่าเรามีอะไร มีคุณสมบัติแบบไหน(จากชนิดของงานที่ทำมา) เพื่อที่จะได้วาง Strategy ว่า เราจะ Position ตัวเรายังไง หรือสร้างจุดยืนของเรานั่นแหละ
แต่การ Positioning ไม่ใช่เพียงการสร้างจุดยืนของเรา เพื่อแค่บอกบอกเค้าไปว่าเราคือใครเท่านั้น แต่มันมีประโยชน์ที่สำคัญมาก คือ เพื่อเชื่อมตัวเรา เพื่อ Connect กับองค์กรณ์ที่เราจะส่งผลงานไป ได้อีกด้วย!!
เราเป็นตรงนี้ เค้าเป็นตรงนั้น ถ้าเราไม่ตรงกัน ไม่พอดี เค้าก็อาจจะไม่สนใจเราค่ะ
แต่ถ้าเราไม่ตรงกับเค้า แต่เราอยากทำกับเค้า ก็ต้องเน้นและชี้ให้เค้าเห็นว่าทำไมเราจึงควรจะมาทำกับเค้าค่ะ
คนส่วนใหญ่ มองหาคนที่คล้ายๆกัน คนที่มีวิสัยทัศน์ที่จะไปในทิศทางเดียวกันกับเค้า เพื่อสร้างสิ่งเดียวกันขึ้นมา
ทีนี้เราอยากจะวางตัวเราเป็นยังไง สร้างจุดขายหลักของเรา เช่น
..เป็นคนทำได้ทุกอย่างอย่างล่ะหน่อย
..เป็นคนมีความถนัดด้านในด้านหนึ่ง
เช่น เราถนัดออกแบบงานบ้าน คอนโด และพื้นที่เชิงพาณิชย์เราอาจจะตั้งเป้า สร้างประเด็นไปเลยว่า เราคือ สถาปนิกที่ถนัดในงานบ้านและโรงแรม เพื่อสร้างพื้นที่ให้ประสบการณ์ที่ดีกับผู้อยู่อาศัย เป็นต้น
3. Strategize : ยิงให้แม่น
รู้เป้าละ ทีนี้เตรียมยิง!!
ยิงให้แม่น เลือกงานที่ยิงออกไปให้ดี
ถูกงาน ยิงถูกคน โดนใจ!!
ตั้งใจเลือกสิ่งที่จะเล่า และเล่าให้เหมาะสมพอทีนี้เราเริ่มเห็นชัดแล้ว ว่าจะส่งไปที่ไหน และต้องการบอกว่าเราคือใคร ก็มาเริ่มวางโครง กำหนดยุทธศาสตร์! เหมือนไปรบเลยวิธีคิด ก็ง่ายๆค่ะ เริ่มจากการ เลือกงาน และ Storyboard ควบคู่กัน
3.1 เลือก Best Selection : อยากเอางานแบบไหน เท่าไหร่ เพื่อที่จะได้ตรงกับ Goal ให้คนที่เค้าอ่านพอร์ตเราอยู่ตรงนั้นรู้ว่า เออเรามีอะไรจะไปทำให้เค้าได้ และจะสื่อยังไงให้โดนใจคนดู
3.2. วาง Storyboard : จากนั้น มันต้องเริ่มมี Story และเราต้องคิดว่า แล้ว Story ของความเป็นสถาปนิกที่ถนัดในงานแบบต่างๆ ตั้งแต่ขนาดบ้านที่พักอาศัย ไปจนเชิงmixed-use คนนี้ มันพิเศษยังไง และควรจะเรียงลำดับเล่าเรื่องไหนก่อน หลังดี
ยกตัวอย่าง เวลาเราวางโครงเราต้องมองเป็นภาพรวมก่อนว่า โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นได้ 3 ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อหา และ ส่วนลงท้ายที่เป็นส่วนที่ความสำคัญน้อยลง หรือเป็นส่วนเสริม
จากนั้นค่อยๆคิดว่า เราต้องการให้เค้าเห็นเราเรื่องไหนก่อน ที่น่าจะตรงใจ หรือ ประทับใจที่สุด
สมมติว่ามีงานหลายชิ้นในชนิดโครงการแบบหนึ่ง ก็ไม่ต้องเอาทั้งหมด เลือก เอาชิ้นที่น่าแสดง น่าสนใจ และ The Best! จริงๆ และเอาขึ้นก่อน และตามด้วยส่วนอื่นที่นำเสนอรองลงมา
จริงอยู่เราทำได้มากกว่านั้น และต่อให้เราบอกว่าเราทำได้หลายอย่าง ต้องมีสักแนวนี่แหละที่เราอยากจะเน้น อยากจะขายจะขายอะไร ลองมองย้อนไปข้อแรก ว่าเราจะไปที่ไหน ถ้าเรามีงาน งานเชิงพาณิชย์ Mixed-use เยอะ และงานโรงแรมก็เยอะ แต่จะไปสมัคร บริษัทที่เน้นงานเมือง ก็ควรจะเลือกหัวข้อให้ไปทางแนวที่ที่เราจะส่ง
มองมันในรูปแบบ Storyboard ว่าเราจะเริ่มจากอันไหนต่ออันไหน
เลือกงาน เอาแต่ของจริง ไม่ใส่ของแถมเราควรจะเลือกงานที่เด็ดสุด จุดขาย ขึ้นก่อน ให้ตรงกับเป้าหมายแรกของเราเวลาเลือกงาน เลือกงานที่เจ๋งสุด อันไหนงั้นๆ อย่าเอาไปใส่ถมที่ อย่าใส่ของแถม เอาแต่อันที่เน้นเน้น เจ๋งๆ และมีเรื่องจะเล่าไม่ต้องเยอะ เค้าไม่ได้อยากเห็นทุกอย่างของเรา เอาไฮไลท์ของเรา เอาแก่นของเราออกไปแสดง
ได้โครงละ ทีนี้ เราเริ่ม
4. Make it ! จัดหน้า ทำกราฟฟิค
Layout , Graphics, Typography Set Art direction ให้ไปในทิศทางเดียวกัน และคนอ่านอ่านง่าย ดูสบายตา และ สวยงาม
การเลือกเลย์เอาท์ก็ควรจะเลือกให้เหมาะกับงานเราเองว่า เออ งานเรามีอะไร และเหมาะกับการวางหน้าแบบไหนนะตรงนี้แหละที่ สนุก เป็นจังหวะจัดไปออกแบบไป แก้ไป เอางานมาใส่ และจัดเรียงรูปเล่ม
เวลาทำต้องนึกถึงว่า ต้องอ่านง่ายไม่สับสน และสวย ดึงดูดใจ เห็นแล้วประทับใจ น่าจดจำ
Flip test
เวลากรรมการเค้าดูพอร์ตเนี่ย ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ ส่วนมาก เค้าไม่ได้มีเวลาให้เราเยอะ ส่วนมากเค้าจะดูแบบ Flip เร็วๆในรอบแรก บางทีแค่นาทีเดียวในการเปิดไฟล์ พอร์ตโฟลิโอเราผ่านๆ เพื่อให้ได้ไอเดีย ว่าคนนี้เป็นไง โอเค ผ่านไปต่อรอบต่อไป เค้าค่อยมาให้เวลาดูละเอียดขึ้น อย่างน้อยก็ที่อเมริกาเป็นงี้ค่ะ เพราะต่อให้เป็นเล่ม ที่เปิดผ่านๆ หรือ จะเป็นไฟล์ก็กดคลิกรัวๆได้เช่นกัน
ดังนั้น ชัดเจน อ่านง่าย น่าอ่าน ได้ใจความเร็วๆ สำคัญมาก อย่าพยายามอัดทุกอย่างไปในหน้าเดียวกัน เพราะคนเค้าจะไม่อ่าน ทุกหน้า ลองคิดว่า ต้องการบอกอะไร และที่ใส่ไปสามารถเข้าใจได้ในเวลาไม่กี่วินาทีไหม คือ ดูว่าเราน่าจะผ่าน Flip test รึเปล่า จะได้ไปต่อในกองต่อไปไหม
ดังนั้น ตอนแรกกราฟฟิคต้องมาก่อนเลย ต้องชัดเจน เคลียร์ และคนอ่านได้ประสบการณ์ต่อเนื่อง smooth ไม่ติดขัด
ลองไปทำพอร์ตฟอลิโอกันดู ค่ะ ใครที่เคยทำแล้ว และอยาก Remake ก็ลองเอาเทคนิคและขั้นตอนเหล่านี้ไปลองทำดู ส่วนใครที่ยังไม่ได้เริ่มทำก็ลุยเลยค่ะ ลองทำกันนะคะ แล้วได้ผลยังไงมาเล่าสู่กันฟังด้วยนะคะ
ในบทความและวีดีโอต่อต่อไป จอมจะมาเจาะประเด็นแยกไปเรื่อง โปรแกรม การเลือกงาน การเล่าเรื่อง การจัดหน้า และ องค์ประกอบทางกราฟฟิคค่ะ
ขอให้สนุกกับการทำพอร์ตฟอลิโอนะคะ
* สำหรับใครที่อยากได้คน มาช่วยดู ช่วยคอมเม้นท์ Portfolio อย่างละเอียด และอยากรู้ว่า วิธี ทำให้ Portfolio ของตัวเองเจ๋งขึ้นไปอีกขั้นต้องทำอย่างไร ตอนนี้ทาง DreamAction รีวิวให้ฟรี เดือนละ 1 คน ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกเลย Portfolio Review