8 สิ่งต้องห้าม!!! ในการทำพอร์ตฟอลิโอ และสมัครงาน
เรารู้ 8 ข้อดีที่ควรทำกันไปแล้ว ว่าแต่ว่า…ข้อห้ามล่ะ? มีไหม? มีสิ จริงๆแล้วสำคัญยิ่งกว่าการทำให้ดี แต่คือการไม่ทำพลาด ถ้าไม่ดีมากอาจจะแค่เสมอตัว แต่ถ้าพลาดนี่..อดหมดเลยทีเดียวเพราะนอกจากเล่าถึงตัวงาน และการทำงาน เราก็แสดงทัศนคติ จรรยาบรรณ และ ความเป็นตัวเราผ่านมันไปด้วย ทั้งในการทำพอร์ตฟอลิโอ และการสมัครงาน
1. Plagiarism | ลอก / ก็อป
โลกในวงการออกแบบแคบกว่าเราคิด แต่ก็กว้างเกินกว่าที่เราจะเห็นว่าใครเห็นเราบ้างการทำอะไรตรงไปตรงมาสำคัญมาก ตอนทำงานที่บอสตัน เคยมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ส่งพอร์ทโฟลิโอมา และในนั้นตรงผลงานของเขา ได้ไปตัดแปะเอางานของสถาปนิกดังอีกคนมาใส่ประกอบงานตัวเอง หลายคนที่เห็นพอร์ทโฟลิโอเขาไม่ได้คิดอะไรมาก แต่บางคนก็ใช้เป็นจุดอ่อนว่า นายคนนี้เอางานคนอื่นมาใช้หน้าด้านๆ “แล้วจะเป็นนักออกแบบที่ดีได้ยังไง ถ้าแค่นี้ยังไม่ออกแบบเอง” การใส่งานลอกนอกจากเป็นการดูถูกตัวเอง ยังดูถูกคนดูอีกว่าเค้าไม่รู้
2. Grammatical Errors | ใช้ภาษาแบบผิดๆ
การใช้ภาษาแบบคุยกับเพื่อน แสดงความไม่เคารพในตัวคนอ่าน ไม่ได้ทำให้เราสนิทกับเค้ามากขึ้น แต่ทำให้เค้ายิ่งอยากจะเว้นระยะออกไปจากเราอีก แบบใครวะ มาตีซี้… เป็นเพื่อนเล่นแกเหรอการใช้ภาษาอังกฤษผิด แม้จะไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา ในเรื่องของเอกสาร เราจำเป็นที่ต้องใส่ใจที่จะตรวจให้มันถูกต้อง ซึ่งต่างกับภาษาพูด หากพูดผิดยังพอเข้าใจว่าเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าและถ้าเป็นภาษาไทยเราเองยิ่งไม่ต้องพูดเลย…เสียเครดิตไปแบบกู่ไม่กลับ
3. Lose Audience | ช่างหัวคนดู
ภาษา : ใช้ภาษาที่เชื่อมเรากับคนดูหากัน ถ้าส่งไปเมืองนอก ควรใช้ภาษาที่สื่อสารกับเค้าก่อน เช่น English 100% แม้ว่าจะส่งไปจีน เพราะคนจีนทำ Portfolio ส่งในบ้านเค้าก็ใช้ English 100% การใช้ภาษาที่เค้าไม่เข้าใจเยอะกว่า 90% เป็นการแสดงความไม่ตั้งใจทำพอร์ตให้เค้าเห็นค่ะ คือ เราต้องแคร์ audience เรา เค้าจะคิดว่า..”ใส่มาทำไมวะ?”
ถ้าอยากใส่จีน หรือ ไทย เพียงเพราะคำนั้นคือ Concept ทำไปเลย ดี แปลให้เค้าด้วย..ทำได้เลย
แต่อย่าลืมทุกสิ่งที่เค้าไม่เข้าใจ… ทำให้เค้ารู้สึกไม่ดีกับเราเพิ่มขึ้นๆ ทำต้องคิดดีดี
แนวงาน : เราควรนำเสนอสิ่งที่เค้ากำลังค้นหา ถ้าเราเอาอะไรที่เค้าไม่ต้องการ ไม่สนใจไปให้ดู เค้าไม่จำเป็นต้องดู หรือดูให้จบควรนึกถึงคนดูว่ากำลังจะได้รับข้อมูลอะไร และทำให้เค้าสนใจได้แค่ไหน เพราะเค้ามีสิทธิที่จะปิดไฟล์ หรือแฟ้มพอร์ตเราได้ทุกเมื่อ การออกแบบพอร์ทโฟลิโอจึงต้องเอาเค้าให้อยู่หมัดตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งทำได้โดยการนึกถึง Reaction ของคนดูด้วยว่าเค้าจะคิดยังไงเวลาเห็นงานของเราตามลำดับ และเราเล่าเรื่องที่เค้าสนใจหรือไม่นึกถึงคนดูว่าเค้าจะได้ประสบการณ์ที่ดีจากการดูพอร์ทโฟลิโอเราไหม
หากว่าเรามีงานคนละแนวกับองค์กรณ์ที่จะส่งไป แล้วมันช่วยไม่ได้จริงๆเพราะมีงานแค่นั้น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุดโดยการพยายามคิดว่า เค้าต้องการอะไร และเราจะเน้นอะไรให้พอไปปรับให้ตรงกับแนวเค้าได้ ในกรณีเปลี่ยนสายแบบนี้ จดหมายนำ และการสัมภาษน์ สำคัญมาก เพราะเป็นโอกาสที่จะแสดงความตั้งใจ และบุคลิกภาพของเรา
4. Forget what Essential | ได้หน้าลืมหลัง
พอเราเริ่มเก่ง เริ่มทำอะไรได้เยอะ งานเยอะ เราเริ่มไม่ได้ใส่ใจเรื่องพื้นฐาน เรื่องเบสิคง่ายๆ เช่น การจัดวาง องค์ประกอบทางศิลปะ และ ทางการออกแบบ แม้แต่การเลือก Fontsหรือ ใส่ใจกับการเล่นเทคนิคมากไปจนลืมว่า พื้นฐานและประเด็นในการทำพอร์ทโฟลิโอ คือการแสดงความสามารถของเราในเรื่องต่างๆให้เค้าเห็น
5. Beg me | คิดว่าเค้าจะง้อคุณ
อันนี้เป็นข้อพิเศษที่ใช้ถึงการติดต่อสมัคงาน ในขั้นตอนที่เค้าเริ่มมีโอกาสสัมผัสกับบุคลิกภาพของเราไม่ว่าจะทางโทรศัพท์ อีเมล หรือเจอตัวๆ เราต้องแสดงความตั้งใจ แต่ไม่ควรแสดงความคูลจนลืมคิดถึงว่าที่คนว่าจ้าง การคิดว่าเค้าเป็นของตาย ไม่น่าจะต้องทำอะไรมาก หรือไม่ต้องทำอะไรเท่าไหร่ น่าจะรับแหละ ทางที่ดี คือ ใส่ความตั้งใจไปเกิน ดีกว่าขาด ให้ความสนใจกับเค้ามากกว่ารอให้เค้าบอกเราว่าเค้าต้องการอะไรต่อให้พอร์ตฟอลิโอดี แต่ถ้าดูไม่น่าทำงานด้วย เค้าก็ไม่อยากได้มาร่วมงาน
6. Cram information : info-overloaded
การใส่ข้อมูลเยอะไปจนแน่นทำให้อ่านแล้วดูอึดอัด ไม่น่าอ่านไม่น่าสนใจ และที่สำคัญคนอ่านอาจจะมองข้ามสิ่งที่สำคัญในหน้านั้นไป เพราะเราใส่เยอะเหลือเกิน
7. Enclycopedia of me | ทำพอร์ทให้เป็นสารานุกรม
พอร์ทโฟลิโอควรแสดงเรื่องของเราให้น่าสนใจ แต่ไม่ใช้ที่สะสมที่ใส่ทุกอย่างโดยไม่มีการคัดเลือก จัดวาง หรือ จัดลำดับขั้นคนดูไม่ได้มีเวลาดูทั้ง 50 งานของเรา แต่ต้องการเห็นภาพรวม และไฮไลท์ของเรามากกว่าสิ่งที่ซ้ำซาก
8. Spam | จับฉ่าย ใส่ขยะ
เลือกแต่สิ่งที่สำคัญ อย่าเอาทุกอย่างใส่ไปแบบรักพี่เสียดายน้อง ไม่มีการวางแผนการกำหนดทิศทางที่เราอยากจะเน้น หรือ Branding ตัวเราเองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่กำจัดขยะ และข้อมูลจับฉ่าย
8 ข้อนี้รวมไปถึงการติดต่อสมัครงานระหว่างส่งพอร์ตฟอลิโอด้วย เช่น ข้อ 5 Beg me ที่ไม่ใช่แค่การทำพอร์ตฟอลิโอ แต่หมายถึงการปฏิบัติต่อว่าที่ผู้ว่าจ้างงานเรา
มารู้ข้อห้าม และ ก็ข้อควรทำกันแล้ว คราวนี้ลงมือทำ หรือมาปรับแก้พอร์ตฟอลิโอของเรากันเถอะค่ะ!!!
* สำหรับใครที่อยากได้คน มาช่วยดู ช่วยคอมเม้นท์ Portfolio อย่างละเอียด และอยากรู้ว่า วิธี ทำให้ Portfolio ของตัวเองเจ๋งขึ้นไปอีกขั้นต้องทำอย่างไร ตอนนี้ทาง DreamAction รีวิวให้ฟรี เดือนละ 1 คน ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ คลิกเลย Portfolio Review