หากพูดถึงการประกวดแบบ หลายคนสนใจ แต่ยังไม่แน่ใจว่าทำยังไงนะ? พร้อมกับมีคำถามมากมายในใจ ตั้งแต่ส่วนของการออกแบบ ว่าเราถึงจะชนะงานประกวดแบบได้ แล้วส่งไปแล้วเราจะได้จริงเหรอ?
GEDES STUDIO ที่เป็นทีมของ 4 ภูมิสถาปนิกไทย ที่มารวมตัวกัน และส่งงานเข้าประกวดที่ประเทศ New Zealand และเพิ่งคว้ารางวัลมาหมาดๆ และงานนี้ไม่ใช่แค่งานconcept แต่กำลังจะได้สร้างจริงด้วย
วันนี้ ข้าวกล้อง ภัทริตา ทัศนราพันธ์ หนึ่งในสมาชิกทีมจะมาเล่าไอเดีย ที่มาที่ไปของงานนี้ให้ฟังกัน
งานประกวดแบบ: Pop-Up Gardens Competition
ผู้จัด: Christchurch City Council (CCC)
ผลงาน: Noodlescape
โดย: GEDES STUDIO: ข้าวกล้อง ภัทริตา ทัศนราพันธ์, ป่าน นิธิรัชธ์ แช่มชื่น, ณิช ณิชา จงเกรียงไกร, เฟิร์น ธนัชชา ตั้งสุขสว่างพร
เล่าเรื่อง: ข้าวกล้อง ภัทริตา ทัศนราพันธ์
จุดเริ่มต้นเล็กๆ ก่อนสร้างสิ่งใหญ่ๆ
จุดเริ่มต้นของการทำงานประกวดแบบครั้งนี้เกิดจาก “ความบังเอิญ”
ขณะที่เรากำลังเลื่อนอ่านนิวส์ฟีดในเฟซบุ๊คตามปกติเกิดเจอเข้ากับโพสท์เชิญชวนเข้าร่วมประกวด Pop-Up Gardens Competition โดย Christchurch City Council (CCC) ถูกแชร์โดยเพจเกี่ยวกับภูมิสถาปัตยกรรมของต่างประเทศ เราคลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมพบว่างานนี้มีเดดไลน์ใกล้มาก เหลือเวลาทำแบบประมาณสามอาทิตย์ แต่ด้วยขนาดพื้นที่เพียง 3×4 ม. สูงไม่เกิน 2 ม. ภายใต้แนวคิดของการทำสวนชั่วคราวที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของ Cathedral Square เมือง Christchurch ประเทศ New Zealand เราเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำงานนี้ทันหากเรามีทีม จึงชวนป่าน ณิช และเฟิร์นให้มาร่วมออกแบบงานนี้
การเริ่มต้นของ GEDES STUDIO
กลุ่มของเราเคยคิดฝันมาตลอดว่าอยากมีสตูดิโอร่วมกัน แต่ด้วยความที่เพิ่งเรียนจบสาขาภูมิสถาปัตยกรรมได้เพียงไม่นาน เราจึงยังอยู่ในช่วงสั่งสมประสบการณ์การทำงานในสายอาชีพภูมิสถาปนิก รวมทั้งพยายามสร้างคอนเนกชันเพื่อให้มีคนรู้จักและติดต่อให้ทำงานออกแบบ ทว่างานประกวดแบบนั้นมีข้อดีมากอยู่อย่างหนึ่งคือการที่ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้ว่าจ้างก่อนจึงจะเริ่มงานได้ ทุกคนที่สนใจสามารถส่งผลงานนำเสนอไอเดียตามโจทย์นั้น ๆ ได้ทันทีภายในระยะเวลาที่กำหนด การทำแบบประกวดจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักออกแบบหน้าใหม่ที่จะสร้างผลงานในระยะแรกและแสดงศักยภาพของตน
งานประกวดแบบนี้ คือ อะไร ?
Cathedral Square, Christchurch City, New Zealand
ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/rogertwong/4359826823/
Pop-Up Gardens Competition นับเป็นงานแรกที่เราสี่คนทำร่วมกันอย่างจริงจังจนริอาจตั้งตนเป็น GEDES STUDIO ขึ้นมาได้ เรานัดรวมตัวกันทันทีเพื่อคุยถึงไอเดียของแต่ละคน
โจทย์ในที่นี้ ทาง CCC ต้องการทำสวนที่สร้างสีสันให้แก่คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณลาน Cathedral Square ฟังก์ชันของสวนนั้นเปิดให้ออกแบบได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นสวนเด็กเล่น สวนประติมากรรม สวนสมุนไพรกินได้ หรือสวนธรรมชาติบำบัดก็ตาม แต่ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องออกแบบให้มีความ “Instagramable” หรือถ่ายรูปแล้วสวย มีความโดดเด่น ดึงดูดให้คนเข้าไปใช้ ไปนั่งเล่น หรือแม้แต่อยากที่จะเดินผ่าน องค์ประกอบของสวนจะต้องมีทางเดิน ที่นั่ง และพืชพรรณที่เหมาะสม สรรค์สร้างออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของผู้คน (Social Engagement) คำนึงถึงบรรยากาศของพื้นที่ (Sense of Place) และกระตุ้นให้รู้สึกถึงการฟื้นฟูเมืองใหม่
ส่วนการออกแบบโครงสร้างของสวน Pop-Up Garden นั้นจะต้องมีความเป็น Modularity คือสามารถแบ่งโครงสร้างเป็นชิ้นส่วน (Module) เพื่อประกอบติดตั้งในที่ได้ มีน้ำหนักเบา ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย คำนึงถึงความทนทานต่อสภาพอากาศและการใช้งาน เลือกพรรณไม้ที่เหมาะสมกับฤดูกาล และสุดท้ายคือต้องสร้างอยู่ภายในงบประมาณที่กำหนด
กระบวนการออกแบบ สร้างแนวคิด Noodlescape
1. มี Big Idea
แน่นอนว่ากว่าจะเป็นแบบสุดท้ายย่อมผ่านแบบร่างมากมายมาก่อน กว่าจะเป็น Noodlescape ได้ เราก็ผ่านการคิดหาความเป็นไปได้มากมายเช่นกัน เริ่มแรกนั้นเราคุยกันเพิ่งหาเป้าหมายในการออกแบบ เราตั้งใจจะสร้างสวนที่เป็นเหมือนงาน Public Art โดยการผนวกความเป็นศิลปะเข้ากับความรู้ในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของเรา เพื่อให้เกิดเป็นความสวยงามที่คนสามารถใช้พื้นที่ได้จริง สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสวนของเรา และกับคนชุมชนเอง ทำให้พื้นที่ Cathedral Square มีชีวิตชีวาขึ้นด้วย
2.เลือกใช้วัสดุ Material
ต่อมาเราจึงเริ่มหาว่า Material หรือ Element อะไรที่จะทำให้คนเห็นแล้วรู้สึกสนใจทันที
ทีแรกเราคิดจะใช้กระจกเพราะมันสามารถสร้างมิติที่น่าสนใจได้ สามารถนำบริบทรอบข้างให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สวนของเรา หรือทำให้คนในจุดหนึ่งมองเห็นคนจากอีกจุดหนึ่งผ่านกระจกได้ แต่แนวคิดนี้ถูกถกเถียงด้วยข้อจำกัดด้านการก่อสร้าง กระจกมีความลำบากในการขนย้าย และอันตรายต่อเด็กที่อาจมาเล่นในพื้นที่ รวมถึงราคาก็สูงพอสมควร เราเริ่มคิดหาทางออกอื่น ๆ เช่น หาวัสดุมาทดแทนที่ได้เอฟเฟกต์ใกล้เคียงกัน หรือมีวัสดุอื่นใดที่เหมาะกับงานนี้มากกว่าบ้าง
และแล้วเราก็นึกถึงวัสดุอย่างโฟมขึ้นมา โฟมตอบโจทย์ตรงที่มันมีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้ง่ายกว่าแน่นอน อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่น สีสันหลากหลาย เราเคยเห็นโฟมที่เป็นเส้นยาว ๆ เป็นโฟมสำหรับช่วยว่ายน้ำ เรียกว่า Pool Noodle หากนำมาใช้ในระนาบตั้งน่าจะเพิ่ม Dynamic ให้กับงานพื้นที่เล็ก ๆ เช่นนี้ได้
จากนั้นพวกเราก็ทำการรีเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุ คิดมุมมองจากภายนอกและภายใน ลองสเก็ตช์แปลนและทัศนียภาพลงสมุด เมื่อแบบค่อนข้างลงตัวก็ลองขึ้นโมเดลสามมิติในคอมพิวเตอร์ ปรับแก้ ทดลอง จนได้เป็นงานที่ใช่ จึงเริ่มลงลึกในรายละเอียดถึงขนาด ระยะห่างของวัสดุ ความกว้างของพื้นที่ใช้สอย ทางเดิน ชนิดพืชพรรณพื้นถิ่นที่เหมาะสม ค่อย ๆ กลั่นกรองงานออกแบบให้เหมาะสมกับการเป็น Pop-Up Garden มากที่สุด
ทำไมต้อง Noodlescape ?
เนื่องจากเราใช้ Pool Noodles มาสร้างเป็นพื้นที่ Landscape จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ Noodlescape ที่ประกอบไปด้วยโฟมเส้นสีม่วง สีน้ำเงิน สีแดง และสีเหลือง จำนวนทั้งหมด 430 เส้น จัดวางแบบคละสีในระดับความสูงเกือบสองเมตร ความเป็นเส้นตั้งที่พลิ้วไหวเล็กน้อยตามแรงลมกระทบนั้นล้อเลียนกับลักษณะของผืนหญ้า
1.Sense of Exploring
เมื่อมองจากภายนอกจะมองเห็นสวนที่อยู่ภายในเพียงเล็กน้อย ให้ความรู้สึกว่าข้างในนั้นถูกอำพรางอยู่ กระตุ้นให้คนที่เดินผ่านเกิดความสงสัยใคร่รู้อยากที่จะเข้าไปสัมผัสกับพื้นที่ สัมผัสกับวัสดุ
2.Urban Oasis
เมื่อเข้าไปข้างในแล้วจะพบกับพื้นที่สวนเล็ก ๆ แต่เต็มไปด้วยไม้พุ่มเขียวชะอุ่มผลิดอกใบรับฤดูร้อนอยู่รอบด้านเหมือนดังโอเอซิส ตรงกลางเป็นที่นั่งรูปทรงฟรีฟอร์มตามลักษณะของสเปซภายใน ผู้คนสามารถนั่งบนที่นั่งนี้ได้รอบด้านเพื่อพักผ่อนและชื่นชมทัศนียภาพสวนสีเขียวตัดกับสีสันของกลุ่ม Pool Noodles ที่มีการลดหลั่นระดับความสูงเผยให้เห็นโบสถ์ Christchurch Cathedral แลนด์มาร์คสำคัญของพื้นที่อีกด้วย
3.Intimate Scale
ผู้ที่เข้ามาพื้นที่ Surprising Space นี้จะถูกจำกัดระยะให้มีความใกล้ชิดเพื่อนำไปสู่การสร้างบทสนทนาและการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ในด้านการติดตั้งนั้นมีส่วนที่สำคัญสองส่วน ได้แก่ ส่วนของ Pool Noodles และ ส่วนของโอเอซิสหรือสวนภายใน Pool Noodles เป็นแท่งโฟมที่มีรูกลวงตรงกลาง สามารถติดตั้งโดยการเสียบกับท่อเหล็กยึดกับฐานแผ่นเหล็กด้วยหัวเกลียว วิธีนี้จะทำให้สะดวกต่อการถอดประกอบ ส่วนสวนภายในนั้นเป็นการจัดวางไม้กระถางพร้อมที่นั่งที่ออกแบบให้เป็นแบบเป่าลมเพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายเช่นเดียวกัน
ก่อนเดดไลน์
หลังจากใช้เวลาประมาณสามอาทิตย์ในการทำงานทั้งหมด เราก็ส่งแบบประกวดนี้ได้ทันพอดีก่อนถึงเดดไลน์ ในวันประกาศผลเราได้อีเมล์ติดต่อมาว่าเราได้เข้ารอบหกทีมสุดท้าย ต่อไปจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้โหวตหาผลงานที่จะได้สร้างจริงเพียงสามงาน (ต้องขอขอบคุณผู้ที่สนับสนุนผลงานของเราทุกคน ที่ช่วยกัน Vote) จนท้ายที่สุดเราก็ได้เป็นหนึ่งในสามงานที่จะได้สร้างจริงแล้ว
ไม่เริ่มคว้า ก็ไม่มีวันได้
หากนึกย้อนไปถ้าเราเห็นโพสท์งานประกวดแบบแต่ไม่เริ่มลงมือทำก็คงจะไม่มีวันนี้ เราเชื่อในการกระทำว่ามันมีผลลัพธ์ตามมาเสมอ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนตั้งมั่นในเป้าหมายแล้วคว้าทุกโอกาสที่จะทำให้เราได้พัฒนาตนเอง ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ชอบ ได้พบเจอกับ Motivation ในชีวิต เพื่อสุดท้ายจะได้ประสบกับความสำเร็จในแบบที่เราตั้งใจ
ทั้งหมดนี้ก็คือที่มาที่ไปในการรวมตัวของพวกเรา GEDES STUDIO รวมถึงแนวคิดทั้งหมดของงาน Noodlescape ในการประกวด Pop-Up Gardens Competition ที่ Christchurch City ค่ะ ซึ่งในบทความต่อไป ณิช ณิชา จงเกรียงไกร หนึ่งในเพื่อนร่วมทีมของเราจะมาเล่าถึงข้อดีในการทำงานประกวดแบบ และอุปสรรคที่พวกเราได้เผชิญค่ะ รอติดตามกันนะคะ
ประวัติผู้เขียน
ข้าวกล้อง ภัทริตา ทัศนราพันธ์
ภูมิสถาปนิกผู้มีความสนใจในการประยุกต์งานศิลปะเข้ากับงานออกแบบพื้นที่ หลังจากจบคณะภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วก็ได้ทำงานเป็นภูมิสถาปนิกเต็มตัว พร้อมทั้งฝึกฝนการสร้างงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและบริบทแวดล้อม โดยเรียนรู้จากการเข้าร่วมเวิร์คช็อป รวมทั้งงานประกวดแบบต่าง ๆ
ดูผลงานเพิ่มเติมได้ที่ http://pataritas.com