วิธีสื่อสารกับ “มนุษย์อาจารย์ออกแบบ” เบื้องต้น

สำหรับนักเรียนออกแบบหลายๆคนคงมีปัญหาเหมือนกันว่าทำไม “เราถึงคุยกับอาจารย์ไม่รู้เรื่องเลยวะ” ผมก็เช่นเดียวกันในช่วงปีแรกๆของการเข้ามาเป็นนักเรียนสถาปัตย์ ผมไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าทำไมอาจารย์ถึงไม่เข้าใจที่ผมพูด หรือทำไมผมถึงไม่สามารถนำเอาคำแนะนำของอาจารย์มาปรับใช้กับงานออกแบบของผมได้เลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการคุยกับอาจารย์ออกแบบไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เข้าใจกัน แค่เราไม่รู้วิธีสื่อสารเท่านั้นเอง!!!!!

วิธีการพูด พรีเซนท์ จูรี่ ตรวจแบบ สื่อสารแบบ เล่า ออกแบบ สถาปัตยกรรม

วิธีสื่อสารกับอาจารย์ออกแบบเป็นเหมือนขั้นแรกของการสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจงานออกแบบของเรา ซึ่งปัญหาหลักๆของการสื่อสารกันไม่เข้าใจมีอยู่สองอย่างคือ เราอธิบายให้อาจารย์ฟังไม่รู้เรื่อง และเราฟังอาจารย์อธิบายไม่รู้เรื่อง

1. เราอธิบายให้อาจารย์ฟังไม่รู้เรื่อง

เริ่มจากปัญหาแรกคือเราจะอธิบายให้อาจารย์ฟังรู้เรื่องได้อย่างไร ส่วนใหญ่การที่เราไม่สามารถอธิบายให้อาจารย์ฟังรู้เรื่องได้นั้น เกิดจากการที่เราไม่รู้จะอธิบายอะไร หรือก็คือ เราไม่มีประเด็นในการอธิบายนั่นเอง ส่งผลให้เราอธิบายไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดหมาย เช่น

“รีสอร์ตที่ผมออกแบบมาจะเริ่มจากทางเข้าหลักตรงนี้นะครับตรงไปเรื่อยๆจะมีลอบบี้ต้อนรับอยู่ตรงบริเวณนี้นะครับซึ่งมองไปทางซ้ายจะเห็นชายหาดสามารถลงไปเดินเล่นได้ หลังจากเข้าลอบบี้เสร็จจะมีพนักงานต้อนรับมารับไปยังห้องพัก…………ตอนบ่ายสามารถลงมาอาบแดดได้บริเวณนี้นะครับซึ่งจะเล่นฟุตบอลชายหาดก็ได้…………ตอนเย็นสามารถเดินไปกินข้าวบริเวณห้องอาหารบริเวณนี้นะครับแล้วก็จะเห็นพระอาทิตย์ตกสวยๆ”

หลังจากที่เราอธิบายเสร็จอาจารย์ก็จะยิ้มๆ แล้วถามเราว่า

“คุณออกแบบอะไร?” (เราก็จะตอบในใจว่าออกแบบรีสอร์ตไงไม่เข้าใจหรอวะ)

หรือบางครั้งก็จะเกิดสถานการณ์ที่อาจารย์นั่งเล่นมือถือจนจบการนำเสนอและคอมเมนต์ตามที่เห็นจากงานออกแบบที่เราแปะเอาไว้ ซึ่งปฏิกิริยาของอาจารย์ที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากคำอธิบายที่เราอธิบายไปอย่างยาวเหยียดเกินครึ่งชั่วโมงนั้น ไม่มีประเด็นให้จับได้เลยว่าสรุปแล้วงานออกแบบของเราน่าสนใจอย่างไร

วิธีการอธิบายที่จะทำให้อาจารย์สนใจและสามารถเข้าใจแบบเราได้นั้นควรเริ่มจาก การสร้างประเด็นในการนำเสนอให้งานออกแบบของเรา แล้วค่อยๆนำเสนอทีละประเด็น เช่น

(1) เราออกแบบโครงการนี้ไปเพื่ออะไร

(2) จุดเด่นและจุดด้อยของพื้นที่โครงการของเราคืออะไร

(3) โครงการนี้แบ่งส่วนต่างๆของโครงการเป็นอย่างไร และมีการเชื่อมต่อภายในโครงการอย่างไร

(4) บรรยากาศและความน่าสนใจของงานออกแบบของเราคืออะไร

(5) งานออกแบบที่เราออกแบบมา ให้ประสบการณ์อะไรแก่ผู้ใช้บ้าง

หากเราสามารถอธิบายงานออกแบบของเราได้อย่างมีลำดับของการนำเสนอแล้ว จะทำให้อาจารย์สามารถตามเราได้ทันว่าตอนนี้เรากำลังอธิบายอยู่ตรงช่วงไหนของงานออกแบบ และมีลำดับความคิดอย่างไร ส่งผลให้อาจารย์สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่ออาจารย์เข้าใจแล้วว่างานออกแบบของเรา “ออกแบบอะไร?” จะทำให้อาจารย์สามารถให้คำแนะนำที่ตรงประเด็นมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองที่จะสามารถนำเอาคำแนะนำนั้นๆไปใช้ในการพัฒนาแบบได้ง่ายขึ้น

วิธีการพูด พรีเซนท์ จูรี่ ตรวจแบบ สื่อสารแบบ เล่า ออกแบบ สถาปัตยกรรม

2. เราฟังอาจารย์อธิบายไม่รู้เรื่อง

ปัญหาของการสื่อสารกับมนุษย์อาจารย์ออกแบบนอกจากที่เราอธิบายไม่รู้เรื่องแล้ว คือการที่เราฟังอาจารย์ไม่รู้เรื่อง อย่างที่ทราบกันดีว่าสไตล์การคอมเมนต์ของอาจารย์แต่ละท่านจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป อาจารย์บางท่านจะบอกเราตรงๆเลยว่าเราควรออกแบบอย่างไรซึ่งเหมือนจะเป็นการให้คำแนะนำที่เราเข้าใจได้ง่ายและนำไปใช้ได้เลย แต่หลายๆครั้งอาจทำให้เราเอาไปออกแบบอย่างไม่ได้มีการคิดอย่างรอบคอบและทำให้งานออกแบบของเราไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจารย์บางท่านจะพูดยาวๆ วกไปวนมาเข้าใจได้ยาก และเมื่อฟังคำแนะนำเสร็จเราจะไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ยังไงเช่น

“คุณลองจัดการพื้นที่ส่วนนี้ให้ดูน่าอยู่ขึ้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในผังที่คุณออกแบบยังเดิน Cross ไป Cross มายังดูไม่ค่อยดีและดูไม่ทันสมัย จริงๆแล้วถ้าหากคุณมี Concept ในการจัดผัง Circulation ใหม่น่าจะทำให้แบบคุณดูน่าสนใจกว่านี้ผมว่าผังตรงนี้ยังดูอึดอัด ซึ่งทำให้คุณภาพของ Space ยังดูไม่ค่อยดีและดูไม่เชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นๆ”

จากคอมเมนต์ของอาจารย์ข้างต้นหลายๆคนอาจจะมีความคิดว่าอาจารย์ล้มแบบชัวร์ เพราะไม่เข้าใจว่าอาจารย์สื่ออะไร และมีหลายคำที่ดูเหมือนเราจะไปไม่รอดเช่น “ดูไม่ทันสมัย”, “ถ้าหากคุณมี Concept”, “ผังดูอึดอัด”, “คุณภาพของ Space ยังดูไม่ค่อยดี” ซึ่งทำให้เกิดเป็นวงจรนรก คือ…

ล้มแบบ—แก้แบบใหม่—ล้มแบบ—แก้แบบใหม่—ล้มแบบ—แก้แบบใหม่

และสุดท้ายรู้ตัวอีกทีคือไฟนอลแล้วยังไม่มีแบบเป็นชิ้นเป็นอันเลย หรือได้แบบเดิมที่ออกแบบเอาไว้ตอนแรกกลับมา ผลคือทำให้เราหงุดหงิดและท้อแท้ในชีวิต คิดว่าเราอาจไม่เหมาะกับชีวิตนักออกแบบแน่ๆ แต่ความจริงแล้วถ้าเราสามารถจับประเด็นที่อาจารย์ต้องการให้แก้ไข เราจะสามารถสร้างลำดับในการพัฒนาแบบดีขึ้น และสามารถเข้าใจจุดมุ่งหมายในการแก้ไขแบบได้ เช่นจากคอมเมนต์ข้างต้นจะพบว่าประเด็นจริงๆมีดังนี้

Comment 1

“คุณลองจัดการพื้นที่ส่วนนี้ให้ดูน่าอยู่ขึ้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในผังที่คุณออกแบบยังเดิน Cross ไป Cross มายังดูไม่ค่อยดีและดูไม่ทันสมัย จริงๆแล้วถ้าหากคุณมี Concept ในการจัดผัง Circulation ใหม่น่าจะทำให้แบบคุณดูน่าสนใจกว่านี้ผมว่าผังตรงนี้ยังดูอึดอัด”

(ปัญหา)

เส้น Ciculation ซับซ้อนเกินไปทำให้ดูอึดอัดและเข้าถึงยาก

(การรับมือ)

แค่ร่างเส้น Circulation ทับกับแบบเดิมลดความซับซ้อนลงแล้วก็ทำให้ดูเชื่อมต่อง่ายๆ

Comment 2

“ทำให้คุณภาพของ Space ยังดูไม่ค่อยดีและดูไม่เชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นๆ”

(ปัญหา)

งานออกแบบยังไม่เห็นบรรยากาศที่ชัดเจนว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไร

(การรับมือ)

(ทำยังไงก็ได้ให้อาจารย์เห็นภาพเช่น สเก็ตช์ตีฟคร่าวๆ ตัดเซคชั่น ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องล้มแบบใหม่)

นี่แหละ!

เมื่อเราจับประเด็นได้แล้วที่เหลือก็แค่นำเอาไปแก้ให้เป็นขั้นเป็นตอน ไม่จำเป็นต้องล้มแบบอย่างไร้จุดหมายอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้เราประหยัดแรง และลดความเครียดลงไปเยอะทีเดียว

วิธีการพูด พรีเซนท์ จูรี่ ตรวจแบบ สื่อสารแบบ เล่า ออกแบบ สถาปัตยกรรม

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายๆคนคงเข้าใจแล้วว่า ใจความสำคัญในการสื่อสารกับมนุษย์อาจารย์คือการลำดับประเด็น ถ้าเราสามารถลำดับประเด็นในการสื่อสารได้แล้ว จะทำให้ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างเรากับมนุษย์อาจารย์มีมากขึ้น ทำให้เรานำไปพัฒนาแบบได้ง่ายขึ้น และยังทำให้เราดูเป็นนักออกแบบที่มีขั้นตอนในการคิดอีกด้วย นอกจากนี้การสื่อสารที่ดีระหว่างเรากับอาจารย์จะทำให้ความเครียดในการเรียนสถาปัตย์ลดลงไปเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว

บทความ และ ภาพประกอบ โดย : โสรัฐ สิทธิดำรง

Author Bio | เกี่ยวกับผู้เขียน

ชื่อ โสรัฐ สิทธิดำรง (กริช)

พึ่งจบการศึกษาจาก ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เคยฝึกงานที่ บริษัท COEN International Design, Singapore

ปัจจุบันกำลังหาที่ทำงาน เพื่อเป็นภูมิสถาปนิกมีความฝันที่จะใช้ความรู้ภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อพัฒนาประเทศไทย

เขียนเมื่อ June 12, 2017