ข้อดีที่มาพร้อมกับการประกวดแบบ จากมุมมองของ GEDES studio

จากทีมที่ส่งประกวดแบบ ปีนี้ GEDES studio ก้าวกระโดดจากบทบาทผู้เข้าชิงรางวัล เป็นหนึ่งในผู้จัดแสดงผลงาน “เอกเขนก” ที่ตั้งอยู่ในงาน Bangkok Design Week 2019 

 

บทความนี้ ชาว GEDES จะมาเล่าให้ฟังถึงข้อดีจากการประกวดแบบ ที่ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้  และก้าวกระโดดในหลายๆเรื่อง ใครที่ยังไม่รู้จัก วันนี้ไปรู้จักพวกเขาให้มากขึ้นกันเลย

 

GEDES Studio มารวมตัวกันยังไง?

ณิช: GEDES studio เป็นไอเดียที่จริงๆใช้เวลานานมาก เพราะเราคิดกันมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่คณะสถาปัตย์ (ตอนนี้ก็จบกันมาสองปีกว่าแล้ว) มันเป็น practice ของเราที่อยากทำอะไรเพื่อสังคม อาจเป็นเพราะว่าทุกคนในทีมล้วนเป็นภูมิสถาปนิก(Landscape Architect) มันเหมือนเป็นไอเดียที่ปลูกฝังในระหว่างการเรียนวิชาชีพนี้เหมือนกันนะ เพราะเป็นวิชาชีพที่นอกเหนือจากการที่เราออกแบบสิ่งสวยงามแล้ว สิ่งที่ต้อง concern มากๆเลยก็คือสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสิ่งที่เราออกแบบนั้นคือLANDSCAPE เพราะงั้นทุกคนที่รวมตัวกันนี้ เราเลยมีแนวทาง และทัศนคติที่ไปในทางเดียวกัน ก็นับว่าเป็นเรื่องโชคดีมากเหมือนกันที่เราได้เจอคนเหล่านี้

ข้อดีที่ได้รับจากการเข้าร่วมประกวด?

1.FREEDOM อิสระทางการออกแบบ

ณิช: เรามองว่าการประกวดแบบเป็นอะไรที่เราได้ทำสิ่งที่นอกเหนือจากการทำงานจริงๆ นั่นคือ เราจะออกแบบอะไรก็ได้ มันค่อนข้างฟรี เราไม่ได้มีพันธะการออกแบบไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Conceptของงาน การขายงาน หรืออะไรต่างๆอีกมากที่เจอในชีวิตทำงาน จริงๆเราออกแบบกันเพื่อสนองความต้องการ(needs) กันในทีมเลย

 

2.HIGH SPEED / BROADEN SKILLS ได้สกิลกว้างในชั่วพริบตา

ป่าน: การทำประกวดทำให้เราได้เห็นมุมมองกว้างในระยะสั้น นั่นหมายถึง กระบวนการออกแบบ ตั้งแต่การทำความเข้าใจโจทย์ มีทำSketch design ขั้นเริ่มต้น การตีความแล้วสังเคราะห์ออกมาผ่านการร่างวาดด้วยมือ Drawing development ทั้งการทำโมเดลสามมิติ และแบบก่อสร้างเบื้องต้น แล้วจึงนำไปเลือกวัสดุ ก่อนจะเริ่มเข้าสู่Cost estimation โจทย์หนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากการประกวดในครั้งนี้สนใจในประเด็นเรื่องของสามารถในการติดตั้งจริง และงบประมาณที่จำกัด

 

3.LANGUAGE & NARRATION ฝึกภาษา การเขียน

ป่าน: Writing description ก็มีความสำคัญ เพราะเป็นเครื่องมือในการนำเสนอแนวความคิด การติดตั้ง และประเด็นที่สนใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศที่จัดส่ง ในกรณีของ International competition ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่จำเป็น เราต้องสามารถเขียนออกมาให้ได้เนื้อหาตามที่เราได้คิด อธิบายครบ อีกทั้งภาษายังต้องดึงดูดและเชิญชวนให้ผู้อ่านอื่น ๆ รวมถึงกรรมการสนใจในโครงการที่นำเสนอ

4.MASTERING THE ART OF EXECUTION ฝึกศาสตร์การลงมือทำให้สำเร็จ

เฟิร์น: การเริ่มต้นคิดจะทำอะไรสักอย่าง จนถึงการทำมันออกมาให้สำเร็จ ภายใต้เงื่อนไขต่างๆในระยะเวลาที่กำหนด  เราว่ามันเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง การทำประกวดแบบก็เช่นกัน ตั้งแต่การเริ่มต้นตัดสินใจว่า เอาวะ เราจะทำสิ่งนี้นะ จนถึงการศึกษาหาข้อมูลรายละเอียดการประกวด การเริ่มต้นออกแบบ สเก็ตความคิดของเรา จนถึงการทำPresentation ออกมาให้ตรงกับความพอใจของเรา แก้ไขไปมา ให้ถึงจุดที่เราว่ามันน่าพอใจ โดยทั้งหมดต้องไม่ลืมสิ่งสำคัญคือ รายละเอียดของการประกวดทีเราต้องใส่ให้ครบ ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุด ถือเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง และขั้นตอนสุดท้ายที่ฟินที่สุดคือการกดส่งงาน (ให้ทันเวลาที่กำหนด) กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะเกิดจากเรา (เราและเพื่อนในกรณีที่ทำเป็นกลุ่ม) ที่ได้ทำทุกอย่างเองตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อมันสำเร็จออกมาได้ เราจะได้รับความภูมิใจแปลกๆในตัวเอง และได้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่  จากการรับผิดชอบสิ่งที่เราตัดสินใจแล้วว่าจะทำ ให้สำเร็จในที่สุด

อุปสรรคที่พบเจอในการทำงานประกวด?

1.TIME RESTRICTIONS A.K.A DEADLINE ข้อจำกัดทางเวลา

ข้าวกล้อง: อุปสรรคของการทำงานประกวดแบบคือระยะเวลา เราไม่สามารถดีลกับเดดไลน์หรือวันส่งงานได้เพราะมันถูกกำหนดมาแต่แรกแล้ว ไม่ว่าเราจะเจองานประกวดนี้เร็วหรือช้าเราก็ต้องส่งงานให้ทันพร้อมกันอยู่ดี และถ้าหากพลาดแล้วก็พลาดเลย นอกจากนี้ยังต้องอ่านข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ละเอียด เพราะมันเป็นเหมือนกฎที่เราต้องเคารพ มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิจากการแข่งขัน การทำงานประกวดจึงต้องรอบคอบและมีสติอย่างมาก

 

2.DAY-TO-DAY DUTY หน้าที่หลักในขีวิตประจำวัน

ณิช: เนื่องจากกลุ่มของเราเป็นกลุ่มการรวมตัวกันที่ใหม่มาก (นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ส่งงานในชื่อนี้) ทุกคนในทีมต่างมีภาระและงานประจำของตัวเอง ดังนั้นการที่เราสามารถ collaborate ทุกคนได้ มันเหมือนต้องมาจาก passionของทุกคนจริงๆ ว่าเราต่างสนใจในโจทย์ของงาน และโชคดีที่เราได้เจอคนที่มี “เป้าหมาย”เดียวกัน นั่นคือจุดสำคัญที่สุด กว่าที่จะมาถึงตรงนี้

 

3.BUDGET RESTRICTION  ข้อกำหนด และงบที่จำกัด

เฟิร์น: นอกจากระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือปัญหาที่เราคาดไม่ถึงระหว่างทำแบบประกวด ยกตัวอย่างเช่น แบบในความคิดอันสวยหรูของเรา อาจจะทำให้เกินงบประมาณก่อสร้างที่เค้ากำหนด เมื่อพบปัญหา เราก็ต้องแก้ไข โดยในครั้งนี้พวกเราไม่อยากเปลี่ยนแปลงแบบ จึงใช้วิธีค้นหาแหล่งซื้อที่ราคาถูกลง เป็นต้น โดยยิ่งภายใต้ระยะเวลาที่ยิ่งสั้น ก็จะยิ่งกดดันเรา ปัญหาและอุปสรรคย่อมเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือค่อยๆแก้ไขทีละปัญหา โดยไม่ถอดใจจากการประกวดแบบที่เราตัดสินใจจะทำมันให้สำเร็จ

4.PROGRAM RESTRICTIONS  ข้อกำหนด

ป่าน : การทำประกวดแบบเป็นหนึ่งในด่านที่ช่วยเกลาความสามารถในการออกแบบ เพื่อให้เกิดงานออกแบบที่ตอบรับกับโจทย์ที่ผู้จัดให้มาเป็นหลัก แม้บางครั้งเราก็ไม่อาจเสนอแนวความคิดที่ต้องการได้ทั้งหมด เพราะมันอาจไม่ใช่ประเด็นที่ตรงคำตอบกับโจทย์นั้นๆ

 

คาดหวังอะไรกับงานออกแบบครั้งนี้?

ข้าวกล้อง: เรามองว่าการประกวดแบบเป็นการคว้าโอกาสให้ตัวเอง มันเป็นงานที่เปิดรับให้คนที่สนใจส่งเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอใครมาจ้างให้ทำ อยู่ที่การเริ่มลงมือทำของเราล้วน ๆ สิ่งนี้มันมาก่อนการตัดสินว่าเราเก่งหรือไม่เก่งเสียอีก เป็นด่านแรกของการวัดใจในการผลักดันตัวเอง จนเมื่อติดสินใจว่าจะสู้แล้วจึงจะเป็นคราวของการงัดศักยภาพตัวเองออกมาเพื่อนำเสนอผลงานในแบบของเรา แต่ทั้งนี้ก็ต้องตีโจทย์ให้แตกด้วย สุดท้ายถ้างานเราดีจนได้รับเลือก เราก็จะได้โอกาสต่อไปในรูปของการได้รางวัล ได้สร้างผลงานจริง จนสักวันหนึ่งโอกาสทั้งหมดอาจนำไปสู่จุดที่เราพอใจในชีวิตจนเรียกว่าประสบความสำเร็จได้

 

ณิช : SOCIAL INTERACTION สำหรับสิ่งที่คาดหวังในการทำประกวดนะ มันชัดมาก เราอยากเห็นงานของเรามีชีวิต .. งานมีชีวิตของเรา มันคือ หนึ่งมันถูกสร้าง เคลื่อนไหว และมีตัวตนในพื้นที่นั้นจริง สอง งานของเราต้องมีคนเข้ามาให้ความสนใจ สาม คนในสังคมสามารถเข้ามาเล่น เข้ามาใช้ เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ที่งานเราได้สร้าง เราอยากให้งานของเราเป็นส่วนนึงในสังคม ทำให้เกิดกิจกรรม ไม่ต้องอะไรมากหรอก เราอยากให้อย่างน้อยคือ คนเขาคุยกัน แล้วมีประโยคที่พูดว่า อ่ะ ไปดูงานนี้กัน คือมันโอเคมากเลยนะ ที่ในปลายทางของคนๆนึง มันมีสิ่งที่เป็นผลงานของเราอยู่ แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว

 

ทัศนียภาพงานประกวดแบบ “Noodlescape” เพื่อใช้สร้างและติดตั้งในเมือง Christchurch, New Zealand

ผลงานประกวดแบบ “Noodlescape” ที่สร้างแล้วเสร็จ ตั้งอยู่ตลอดฤดูร้อนในเมือง Christchurch, New Zealand

ผลงาน “เอกเขนก” พื้นที่เปิดโล่งรองรับการใช้งานของผู้คน ติดตั้งในงาน Bangkok Design Week2019 บริเวณท่าเรือตึก CAT(หลัง TCDC)

 

อยากแนะนำอะไรสำหรับน้องๆต่อไปไหม ?

ป่าน : สำหรับการทำงานประกวดที่มีลักษณะเป็นกลุ่มคน เราต้องรวมและจัดสรรเวลาให้แต่ละคนสามารถมาคุยกันได้ ซึ่งหลายครั้งเวลาของแต่ละคนมักไม่ตรงกัน ดังนั้น การคุยกันภายในกลุ่มเพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันและการแบ่งงานกันทำ มีความสำคัญเป็นอันดับแรกเพื่อให้สามารถทำงานได้สำเร็จ ทุกคนย่อมมีความเห็นที่มีความสำคัญ บางครั้งการทำงานเป็นกลุ่มอาจมีความคิดเห็นมากมายเกิดขึ้น จงเขียนมันออกมาทั้งหมดทำเป็นรายการ จัดกลุ่ม และให้ความสำคัญกับความคิดเห็นที่ตรง/ตอบโจทย์มากที่สุด ที่สำคัญคือ การทำงานกลุ่มนั้น ห้ามน้อยใจ บางครั้งความคิดเห็นของเราอาจจะหายไปในอากาศ เพราะมันไม่สำคัญ แต่ไม่เป็นไร เราต้องแสดงความคิดเห็นของเราไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ความคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั่นแหละคือความสำเร็จ!

 

 

Next Chapter

และนี่คือ GEDES Studio ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ไปสู่สิ่งใหม่ๆ และค่อยๆยิ่งใหญ่ขึ้น จากงานประกวดแบบที่ดูในบทความก่อน “Noodlescape จุดเริ่มเล็กๆ ไอเดียใหญ่ๆ กับเพื่อนสมัยเรียน ที่พาไปไกลถึง New Zealand” และ ในงาน Bangkok Design Week และ จะเป็นงานอะไรต่อไป ต้องคอยติดตามกันในอนาคต

 

 

ประวัติผู้เขียน

ณิช ณิชา จงเกรียงไกร

ภูมิสถาปนิกหญิง จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความคิดเล็กๆในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยใช้ความรู้ ความสนใจทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ ประยุกต์ให้เข้ากับบริบทต่างๆ ทดลองทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปได้เพื่อค้นหาและเรียนรู้ปลายทางของสิ่งที่ทำ