หลายๆคนคงเคยสงสัยเหมือนกันว่า จะมีไหมนะ ทุนเรียนต่างประเทศ ในสาย Landscape Architecture เพื่อต่อยอดความรู้ทางสถาปัตยกรรม และ ภูมิสถาปัตยกรรมที่เรียนไป โดยได้ไปเรียนในสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์ ความเฟื่องฟูทางศิลปะ และสถาปัตยกรรมมันมีอย่างท่วมท้น อย่างยุโรป
มันจะเป็นยังไงนะ?!! ถ้าเราได้เรียนรู้มากกว่าแค่ใบปริญญา แต่ได้มาซึ่งภาษาใหม่ๆ และประสบการณ์ชีวิตอีกด้วย
แต่….จะมีคนออกทุนให้เราจริงเหรอ? แล้วชีวิตแบบนั้นมันจะมีจริงเหรอ?
“มี!!! เรียนทุนเดียว ได้ไปสามประเทศเลยด้วย”
ตอบให้เท่านี้ แต่จอมไม่ได้จะมาตอบรายละเอียดเองนะ เพราะว่าวันนี้จอมมากับ ผู้มีประสบการณ์ตรง คือ ฝ้าย ภูมิสถาปนิกสาวไทย ที่ขณะนี้กำลังเรียน ปริญญาโทอยู่ที่ประเทศ ฝรั่งเศส และมาด้วยทุน Erasmus Mundus แล้วเธอมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แล้วการคว้าทุน การเรียน การใช้ชีวิตที่นี่เป็นยังไง ไปคุยกับเธอกันเลยดีกว่า
1ทุน – 1ป.โท – 3ประเทศ | ฝ้าย ศิรดา กับ ทุนที่ไม่ธรรมดา Erasmus Mandus
Jom : สวัสดีค่ะ อยากให้ฝ้าย แนะนำตัวเอง เพิ่มเติมหน่อยค่ะ เป็นใครมาจากไหน กำลังทำอะไรอยู่
Sirada : สวัสดีค่ะ ชื่อ ฝ้าย ศิรดา พิชญไพบูลย์ นะคะ จบจากภาควิชา ภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย STU76 ก็จบมาได้ประมาณ 3 ปีครึ่งแล้ว หลังจากจบป.ตรี ก็ทำงานตามสายงานเรียนในบริษัท ตอนนี้ก็กลับมาเป็นนักเรียนอีกรอบ แต่คราวนี้เรียนป.โท หลักสูตรของ Erasmus Mundus ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาของยุโรปค่ะ โดยที่หลักสูตรเป็นการร่วมมือกันของหลายๆมหาวิทยาลัยในยุโรป จำนวน 4 เทอม รวมระยะเวลาทั้งหลักสูตรคือ 2 ปีค่ะ แต่ละเทอมก็จะย้ายประเทศไป ตามแต่ที่มหาวิทยาลัยในความร่วมมือ โดยหลักสูตรนี้ชื่อว่า DYCLAM ค่ะ หรือว่า Dynamic of Cultural Landscape and Heritage Management ส่วนประเทศในความร่วมมือของหลักสูตรนี้ก็จะมี
-University Jean Monnet (UJM) ประเทศฝรั่งเศส -Instituto Politecnico de Tomar ประเทศโปรตุเกส -Muséum national d’Histoire naturelle Paris ประเทศฝรั่งเศส
และเทอมสุดท้าย ก็จะสามารถเลือกได้ระหว่าง – ฝึกงาน University Federico Federico II, Napoli ประเทศอิตาลี- ทำวิจัย University of Stuttgart ประเทศเยอรมนี เมื่อเรียนจบก็จะได้ปริญญาโทในแต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมหลักสูตร และ ปริญญาโทของหลักสูตรค่ะ
โดยที่แต่ละเทอมเนื้อหาหลักก็จะแตกต่างไปตามมหาวิทยาลัยในประเทศนั้นๆค่ะ โดยที่มหาวิทยาลัยหลักจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ฝรั่งเศสค่ะ ซึ่งภาษาที่ใช้ในการเรียนก็จะเป็น ฝรั่งเศสและอังกฤษค่ะ ปีนี้ก็เป็นปีที่ 2 ซึ่งปีสุดท้ายแล้ว ก็ถือว่าครึ่งทางแล้วค่ะ
Jom : เห็นว่าได้ทุน Erasmus ทุนนี้รายละเอียดเป็นยังไง?
Sirada :ต้องบอกก่อนว่าทุนนี้ มี 2 ประเภทค่ะ
- ประเภทแรกคือ ได้ทุนเต็มจำนวน ซึ่งเป็นเงินของทาง Erasmus ซึ่งทุนประเภทนี้จะออกค่าใช้จ่ายให้นักเรียนทุกอย่างเลยค่ะ เรียกได้ว่ามาตัวเปล่าได้เลย แถมมีเงินสมทบมาให้ทุกเดือนด้วยค่ะ 1000 ยูโร ต่อเดือน ถ้าใครได้ทุนนี้ก็สบายไปเลย
- ประเภทที่สอง ซึ่งเป็นประเภทที่ฝ้ายได้ก็คือ จะเป็นทุนที่ได้งดเว้นค่าเรียนครึ่งหนึ่ง และได้ทุนในช่วงระหว่างฝึกงาน แทนค่ะ รวมถึง ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ เช่น ค่าวีซ่า ค่าประกันต่างๆค่ะ และข้อดีของการเรียนที่ฝรั่งเศสอีกอย่างก็คือ ที่นี่รัฐบาลจะมีหน่วยงานที่มีงบประมาณสำหรับช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยค่ะ เรียกว่า CAF ซึ่งช่วยลดหย่อนค่าเช่าหอ หรือ อพาร์ทเม้นค่ะ
Jom : เหตุผล ทำไมเลือกทุนนี้
Sirada : ต้องสารภาพก่อนว่า จริงๆไม่ได้ตั้งใจเลือกอันนี้อันแรกนะคะ ฮ่าๆๆ คือรู้ว่าอยากเรียนเกี่ยวกับด้าน cultural landscape ค่ะ แล้วช่วงที่หาข้อมูลก็เจอข้อมูลของทุนนี้ เลยลองศึกษารายละเอียดดู ก็เห็นว่าเออ มันน่าสนใจดีนะ เพราะว่าฝ้ายอยากลองเรียนด้านที่เป็นเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ดูบ้างว่าต้องใช้องค์ประกอบด้านใดในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ หรือว่า พื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้จะสามารถพัฒนาไปในทิศทางไหนได้บ้างให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ชุมชน และพื้นที่ค่ะ
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในรายวิชาของหลักสูตรก็จะเรียนค่อนข้างหลากหลายและเขาเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ไอเดีย ในการเรียน ด้วยค่ะ และที่เลือกเพราะว่า อยากรู้และอยากศึกษาแนวคิดการอนุรักษ์ของประเทศในยุโรปที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์พื้นที่และยังสามารถทำให้พื้นที่ยังคงมีชีวิตอยู่ไปกับสภาพสังคมปัจจุบันค่ะ เพราะว่าในด้านการอนุรักษ์พื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมจะต้องเป็นการบูรณาการของหลากหลายสาขาชีพค่ะ
นอกจากนี้เนี่ยด้วยความที่ไปเรียนในหลายประเทศใช่มั้ยคะ ก็จะได้ภาษาที่ 3 ที่4 ที่ 5 ในโปรแกรมก็จะมีคอร์สภาษาให้เรียนทุกๆเทอมค่ะ เราก็แบบ อู๊ยยย ดีจัง ได้เรียนภาษาเพิ่มฟรีด้วย (ฮ่าๆๆ แต่เรียนหลายๆภาษาก็เริ่มมึน เอามาตีกันมั่ว) น่าจะเปิดโลกและมุมมองของเราให้กว้างขึ้น และที่สำคัญการได้ไปเรียนหลายๆประเทศก็ทำให้ได้เที่ยวเยอะ! ฮ่าๆๆๆ ไม่ใช่ละ
ก็ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างค่ะ ทั้งวัฒนธรรม ความรู้ ได้เห็นอะไรใหม่ๆเยอะแยะ ซึ่งคิดว่าเราสามารถนำThe best practice มาปรับใช้ได้กับการพัฒนาประเทศของเราไรงี้ค่ะ และเทอมสุดท้ายก็จะสามารถเลือกได้ค่ะว่า จะทำ internship หรือว่า เลือกทำ research ในส่วนของเพื่อนๆในคลาสก็จะค่อนข้างหลากหลายมากค่ะ ทั้งเชื้อชาติ และ แบ็คกราวของแต่ละคน ทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆจากที่เราไม่ค่อยสังเกตมาก่อนด้วย
Jom : ทำยังไงถึงได้มา ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
Sirada : หลังจากที่เรารู้ละว่า เออ เอาวะ อยากเรียนอันนี้อะ ก็จัดการเลยค่ะ เตรียมตัวส่งเอกสารสมัครเรียนค่ะ เพราะด้วยเวลาที่ค่อนข้างกระชั้น คือ ตอนนั้นมีเวลาแค่ประมาณ 2 เดือนครึ่งในการเตรียมตัวทุกอย่างค่ะ ก็ค่อนข้างรีบทำนิดนึง ตั้งแต่สอบภาษาอังกฤษเพื่อเอาไปยื่น (ซึ่งจริงๆเค้ารับเอกสารทุกอย่างเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยค่ะ ถ้าใครได้ฝรั่งเศสด้วยก็จะดีมาก แต่คือ ณ ตอนนั้น ความรู้ภาษาฝรั่งเศสเป็นศูนย์ค่ะ รู้แต่สวัสดี บงชู๊ววววว นอกจากนั้นก็ทำพอร์ทค่ะ ก็เลือกเอาแต่โปรเจคที่เกี่ยวกับ Cultural landscape ไปค่ะ นอกจากนี้ก็จะมีพวก recommendation letter, Motivation letter อะไรพวกนี้อะค่ะ
ก็รีบทำทุกอย่างแล้วก็ส่งไป หลังจากนั้นก็รอผล ตอนนั้นก็คิดแต่ว่า ฉันต้องได้ ฉันต้องได้ ฉันลาออกจากงานเรียบร้อย ทุบหม้อข้าวตัวเองละ ยังไงก็ต้องเอาให้ได้ สรุปคือ เค้าก็แจ้งมาว่าเรารับคุณนะ เราก็เย้ยยยย แอ๊ยยย กรีดร้อง เห็นภาพตัวเองไปยืนเดินอยู่ ช็อง เซลิเซ่ละ เห็นภาพว่า อุ๊ย ไปกินพิซซ่าอยู่นาโปลีละ ฮ่าๆๆๆ อะไรแบบนี้ แต่หลังจากนั้นพอเริ่มรู้สึกว่าต้องไปจริงๆละ ก็เริ่มล่กค่ะ เพราะว่าทางมหาวิทยาลัยก็ส่งอีเมลกลับมาว่า แต่ยูต้องเข้าใจภาษาฝรั่งเศสให้ได้ก่อนเปิดเทอมนะ ด้วยความที่ตอนนั้นนี่ อารมณ์ฮึกเหิมค่ะ ไม่เป็นไร๊ ฉันเรียนได้ เราทำได้ สู้ตายโว้ย ประกอบกับปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ ท่านก็บอกว่าให้ไปเรียนภาษาก่อนเลยดีกว่า จะได้เป็นเร็ว สรุปก็เลยต้องไปเรียนภาษาฝรั่งเศสก่อนอีกประมาณ 2 เดือนค่ะ
Jom : ไปเรียน ตั้ง3ประเทศ แล้วการเรียนหลายๆภาษามันยากไหม เราต้องปรับตัวอะไรไหม มีข้อจำกัดอะไรหรือป่าว มีเรื่องอะไรมันส์ๆกับการใช้ภาษาใหม่ไหม?
Sirada : จะว่ายากก็ถือว่ายากนะคะ แต่พอเข้าใจภาษาแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่ยากมากเท่าไหร่ แต่ก็รู้สึกว่าท้าทายดี ที่สำคัญที่สุดคือการปรับตัวและก็ตื่นตัวอยู่เสมอค่ะ
การที่ได้เรียนในหลายๆประเทศก็เป็นข้อดีค่ะ ที่จะได้รู้แนวคิด ได้ความรู้จากมุมมองที่หลากหลายจากหลายๆประเทศ ทำให้มุมองของเรากว้างขึ้นเยอะ แต่ในขณะเดียวกัน ข้อเสียก็คือ ต้องปรับตัวค่อนข้างมากแบบ มากๆค่ะ ตอนที่ไปถึงฝรั่งเศสแรกๆคือ ก็คิดว่าโอเค ฟังรู้เรื่อง เข้าใจในระดับต้นๆแล้วนะ แต่พอไปถึงจริงๆ คือ ฟังไม่รู้เรื่องเลยค่ะ เพราะเค้าพูดกันเร็วมาก พูดก็ไม่ค่อยได้ จนต้องผ่านไปซักระยะหนึ่งถึงจะพอเข้าใจ เทอมแรกเรียนที่ฝรั่งเศสค่ะ ซึ่งยังจำได้เลยว่าวันแรกที่เปิดเรียน ฟังไม่รู้เรื่องเลย ฟังออกเป็นคำๆ ซึ่งก็เหวอไปเลยแหละค่ะ เพราะตอนแรกทางมหาวิทยาลัยบอกว่าการเรียนการสอนจะเป็นทั้ง อังกฤษและฝรั่งเศส แต่ เห้ย นี่มันฝรั่งเศสล้วนนี่หว่าาาาา ช่วยหนูด้วยยยยยยยยย แต่หลังจากนั้นก็พยายามฝึกภาษาฝรั่งเศสเรื่อยๆค่ะ พูดกับเพื่อนๆบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ดูทีวีบ้าง หลายๆอย่างค่ะ เพราะในการเรียนมันไม่ใช่แค่ฟังเข้าใจ แต่มันต้องมีพรีเซ้นต์งานด้วย มีการแสดงความเห็นในคลาส หรือว่าเขียนรายงาน ทำงานกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เนี่ยเพื่อนๆก็จะพูดภาษาฝรั่งเศสกัน อะไรแบบนี้อะค่ะ เราก็ได้แต่ สู้โว้ยยยยยย ชั้นต้องพูดให้ได้ คอยดู๊ววววววตอนที่เรียนที่ฝรั่งเศสเทอมแรก ก็จะเรียนเกี่ยวกับพื้นฐานก่อนว่า อะไรคือ วัฒนธรรม อะไรคือ heritage , cultural heritage คืออะไร Intangible/ tangible heritage แล้วเกี่ยวกับlandscapeอย่างไร ประมาณนี้้ค่ะ รวมไปถึงการจัดการโครงการประเภทนี้ หลังจากจบเทอมแรกที่ฝรั่งเศส ก็ย้ายไปเรียนที่โปรตุเกส ก็อารมณ์เดียวกันล่ะค่ะ ไปถึงก็เหมือนไปเริ่มนับ1ใหม่ เรียนภาษาโปรตุเกสเพิ่ม แต่ก็ยังดีที่ที่นี่ในคลาสส่วนใหญ่ก็จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ มีฝรั่งเศสบ้าง และก็พอจะใช้ภาษาฝรั่งเศสได้แล้ว บรรยากาศที่โปรตุเกสก็ค่อนข้างแตกต่างจากฝรั่งเศสไปเลยค่ะ เนื้อหาที่เรียนที่นี่ก็แตกต่างที่โปรตุเกสก็จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องของลักษณะของภูมิทัศน์ค่ะ รวมไปถึงการต่อยอดทางด้านอื่นๆที่จะเกี่ยวข้องกับพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรม เช่นการประเมินโครงการภูมิทัศน์วัฒนธรรม หรือการฟื้นฟูพื้นที่ การประเมินคุณค่าของพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเพื่อพัฒนาต่อ รวมถึงการวิธีการสำรวจพื้นที่ค่ะ ส่วนเทอมที่ 3 ที่ปารีส ตอนนี้ก็จะเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับการใช้พื้นที่ landscape ค่ะ และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมค่ะ โดยที่การได้มีโอกาสใช้ชีวิตในหลายๆประเทศก็จะได้เห็นตัวอย่างจากหลายๆที่ ต่างๆ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม ผู้คน ได้ใช้ชีวิตเหมือนกับคนท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่ไป ได้รู้ ได้เห็น อะไรต่างๆ ที่เป็นไอเดียให้เราเอามาปรับใช้ประเทศเราได้ค่ะ
Jom : โห นอกจากฝรั่งเศส แล้วยังมีโปรตุเกส มันส์จริงๆ แล้วนอกจากพูด กับ เรียนเรื่องของการทำงาน และทักษะมีความท้าทายอะไรไหม?
Sirada : อ้อ และที่เป็นปัญหาเรื่องภาษาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์ค่ะ ในแต่ละประเทศที่ไปเค้าก็จะใช้โปรแกรมและวินโดวส์ รวมถึงคีย์บอร์ดจะเป็นภาษาของเค้าค่ะ
Jom : ฮะ??!!!
Sirada : ยกตัวอย่างเช่น ในหลักสูตรเนี่ยจะมีวิชา GIS ใช่มั้ยคะ แต่มันเป็น GIS ภาษาฝรั่งเศสค่ะ เจอครั้งแรกก็ช็อคๆค่ะ ก็เข้าแบบเดิม ค่อยๆงมไปค่ะ หรือว่าอย่างโปรแกรมพื้นฐานเช่น words, excel, หรือว่า power point ก็เป็นฝรั่งเศสหมดค่ะ อย่างตอนไปโปรตุเกส คอมพิวเตอร์ก็เป็นภาษาโปรตุเกสค่ะ โปรแกรมต่างๆก็เป็นภาษาโปรตุเกส ก็ต้องเรียนรู้ใหม่ค่ะ ช่วง Summer ที่ผ่านมาก็ยื่นฝึกงานไป ยื่นไปหลายที่ จนในที่สุดก็มีโอกาสได้ไปฝึกงานที่บริษัท Rainer Schmidt Landscape architecture ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันนีมา วันแรกที่ไป โอ้โห เยอรมันล้วนจ้า ซึ่งความรู้เยอรมันเราไม่กระดิกเลย ไม่ได้เลยจริงๆ แถมโปรแกรมทุกอย่าง ทั้ง CAD, Photoshop, In design, Sketch up เป็นเวอร์ชั่นเยอรมัน โดยเฉพาะ CAD ค่ะ ที่ปวดหัวที่สุด เพราะว่าคำสั่งจะเป็นตัวย่อภาษาเยอรมันค่ะ เพราะว่าอย่างโปรแกรมอื่นๆ มันสามารถใช้คีย์ลัดที่เราเคยชินได้ อันนี้นี่ดราฟไปก็ต้องมีกระดาษคู่มือ”คำสั่ง CAD ภาษาเยอรมัน”ที่เค้าให้เอาไว้วางไว้กับตัว แล้วก็เสิร์ชในคำสั่งในเน็ตไป นอกจากนี้ยังรวมถึงพวกเลเยอร์ต่างๆ เปิดมา โอ้ คุณพระ เค้าก็ตั้งชื่อเป็นภาษาเยอรมันหมด เราก็ต้องมานั่งก็อปลง google translate ว่า เอ้ย นี่คือเลเยอร์อะไร อาคารเหรอ พื้นที่สีเขียวเหรอ ไรงี้ค่ะ
แต่หลังๆ เค้าก็คงสงสาร เลยโหลดเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาให้ และก็มีโหลดเองเหมือนกันค่ะ แต่สุดท้ายก็โอเคค่ะ เพราะเราก็เริ่มเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ จากในโปรแกรม กลายเป็นว่าเรียนภาษาเยอรมันผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซะงั้นค่ะ
Jom:โปรเจคที่ไปฝีกงานเป็นยังไงบ้าง ทำอะไร?
โปรเจคที่ไปช่วยทำคือ โปรเจคประกวดแบบการพัฒนาพื้นที่ในเมืองเก่าที่เป็นเกาะอยู่ในทะเลสาปของเยอรมันนีค่ะ เป็นโปรเจค urban ที่สเกลค่อนข้างใหญ่คือทำทั้งเกาะเลย ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงzone ที่จะต้องอนุรักษ์เอาไว้ด้วย ก็ค่อนข้างน่าสนใจและก็ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการทำงานและแนวคิดในการออกแบบของเค้าค่ะ
Jom : ดูมีความมันส์ สนุกสนาน ท้าทายในชีวิตการมาเรียนต่อครั้งนี้เยอะมาก คิดว่าการมาครั้งนี้ ให้อะไรกับเราบ้าง?
Sirada : นอกจากนั้นจริงๆก็คือการที่เราโยนตัวเองมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปเนี่ย ทำให้เราได้มีโอกาสเห็นอะไรที่เราไม่เคยเห็น หรือเพิ่มโอกาสให้ตัวเองค่ะ เช่นได้ เข้าร่วมconferenceต่างๆ หรือ event ต่างๆด้วยค่ะ
Jom : บรรยากาศในการเรียนแต่ละที่เป็นยังไงบ้าง ต่างจากที่เมืองไทยแค่ไหน สนุก มัน ตื่นเต้น?
Sirada : ในส่วนของบรรยากาศการเรียนก็ค่อนข้างแตกต่างจากที่ไทยเลยนะคะ ที่นี่ในคลาสนักเรียนก็จะแสดงความคิดเห็นกัน ยกมือถาม ตอบกัน หรือถ้าไม่เข้าใจอะไรก็จะถามเลย และด้วยความที่นักเรียนมาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกเลย ก็เลยได้ฟังเรื่องราวจากที่ต่างๆ ว่าอ่อ ประเทศนี้เค้ามีปัญหาแบบนี้ การจัดการเค้าเป็นแบบนี้ หรือว่ามีเคสอะไรที่นำมาเปรียบเทียบกับประเทศเราได้ และส่วนใหญ่ในช่วงท้ายแต่ละคาบอาจารย์ก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แชร์เรื่องหรือว่าเพิ่มเติมแนวความคิดเข้าไปค่ะ และทุกเทอมก็จะมีไปทัศนศึกษา หรือว่า ศึกษานอกสถานที่ เพื่อศึกษาในพื้นที่จริง ที่เป็นพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมค่ะ
บรรยากาศการเรียนแต่ละประเทศก็จะต่างกันออกไปค่ะ เช่น เทอมแรกที่ ฝรั่งเศส ก็จะมีบรรยากาศที่ค่อนข้าง Conservative และก็เรียนเป็นภาษาฝรั่งเศสหมด แต่ก็ค่อยๆปรับตัวได้ค่ะ แต่พอเทอมที่สองย้ายไปโปรตุเกสก็รู้สึกได้ชัดเลยว่า บรรยากาศค่อนข้างเปิดกว้างกว่าค่ะ ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของประเทศค่ะ เป็นประเทศที่น่ารัก ค่อนข้างอบอุ่น ทั้งอาจารย์เองและบรรยกาศของสังคมและผู้คน ส่วนเทอมที่3 ตอนนี้ก็จะเรียนที่ปารีสค่ะ ก็จะอีกอารมณ์นึง ค่อนข้างเปิดกว้างเหมือนกัน เพราะด้วยความที่เป็นเมืองใหญ่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม บรรยากาศในห้องเรียนก็เลยค่อนข้างเปิดค่ะ มีระบบการเรียนการสอนที่ชัดเจนค่ะ แต่นักเรียนฝรั่งเศสที่ปารีสนี่เหมือนหุ่นยนต์เลยค่ะตอนนั่งเรียน แต่ละคนก็จะมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คนั่งพิมพ์ในห้องเรียน
Jom : แล้วมองเป้าหมายในอนาคตของตัวเอง ในก้าวต่อต่อไป ว่ายังไงบ้างคะ?
Sirada : ถ้าเป็นเป้าหมายตอนนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของโปรเจ็คที่กำลังเริ่มต้นตอนนี้ค่ะ เกี่ยวกับการบูรณาการและจัดการภูมิทัศนวัฒนธรรมกับระบบคลองในพื้นที่เมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ค่ะ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกับภูมิทัศน์วัฒนธรรม และทำให้วัฒนธรรมที่ยังคงเหลืออยู่คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนได้ค่ะ เพราะจริงๆแล้วเราแค่เกิดคำถามขึ้นมาหลังจากได้ไปและเห็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และพื้นที่อนุรักษ์หลายๆที่ในยุโรปค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ระบบคลองในอัมสเตอร์ดัม หรือ คลอง Saint Martin ที่ปารีส พื้นที่ริมคลองเป็นพื้นที่ “สาธารณะ”อย่างแท้จริง ทุกๆคนมาใช้ และบรรยากาศมันชิวมาก ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นจริงๆ คือพอเห็นได้ไปลองอยู่ในที่ๆนั้นแล้วก็รู้สึกว่า แล้วทำไมเราไม่ทำให้กรุงเทพฯหรือเมืองอื่นๆในประเทศไทยเราเป็นแบบนี้่บ้าง ทั้งๆที่จริงๆแล้วกรุงเทพของเราก็มีศักยภาพไม่น้อยไปกว่าเมืองระดับโลกเหล่านี้เลย เพียงแต่ว่ามันไม่มีการวางแผนและการจัดการให้กับพื้นที่เหล่านี้เลย และยิ่งไปกว่านั้นคือ เราเองยังมีพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ยังมี”ชีวิต”อยู่นั่นคือชุมชนโบราณที่เป็นแหล่งสะสมและสืบทอด Intangible heritage โดยที่ชุมชนเหล่านี้เองเชื่อมต่อกับแนวคลองมาตั้งแต่สมัยโบราณ แล้วทำไมเราไม่ต่อชีวิตให้กับชุมชนเหล่านี้เพราะว่าในยุโรปเองเนี่ยพวกชุมชนท้องถิ่นตามเมืองใหญ่ๆจะไม่ค่อยเหลือแล้ว แต่ในขณะเดียวกันนี่คือสิ่งที่กรุงเทพฯมี แล้วทำไมเราไม่ดึงศักยภาพตรงนี้มาใช้ และในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาพื้นที่ภูมิทัศวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้กับเมืองด้วย หรืออย่างเรื่องพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเนี่ย เอาเล่นๆอะค่ะ ทำไมเราไม่ลองทำเป็นพื้นที่ลอยน้้ำที่สามารถยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ และช่วยส่งเสริมภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเขตเมืองเก่าด้วย เพราะจริงๆเนี่ย สังคมไทยเราอยู่กับน้ำ และกรุงเทพฯในสมัยก่อนตามรูปถ่ายโบราณ เราจะเห็นได้ว่ามีเรือนแพเยอะที่ลอยอยู่ในน้ำเยอะมากตามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ เป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งที่มีเอกลักษ์มาก โดยที่ตอนหลังมันหายไปหมดเพราะว่าสังคมมันมีการเปลี่ยนแปลง และเรารับวัฒนธรรมตะวันตกมามากเกินไป และเราเอาสิ่งที่มันไม่เข้ากับบ้านเมืองเรามาใช้ เราเปลี่ยนมาใช้ถนนแทนทางน้ำ จนทำให้บทบาทของน้ำกับสังคมไทยมันลดลง แล้วตอนนี้เราจะเอาสิ่งที่มันไม่เข้ากับพื้นที่ของเรามาใช้ จากที่อยากจะพัฒนาให้มันดี มันก็กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมไป
ในส่วนของเป้าหมายระยะยาวเนี่ย ก็คืออยากจะทำเกียวกับด้านอนุรักษ์ทั้งในด้านของภูมิทัศน์และวัฒนธรรมค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่นและการเติบโตของเมือง และก็อยากให้ภูมิสถาปนิกมีบทบาทมากขึ้นกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมของประเทศมากขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องของการพัฒนาให้ทันสมัยหรือตามตะวันตกมากเกินไปอะค่ะ ทั้งในด้านของ intangible และ tangible heritage โดยบูรณาการความรู้ด้านอื่นๆมาใช้ เช่นในเนเธอแลนด์มีบริษัทที่ทำงานกับพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมซึ่งมีเป้าหมายของเค้าคือ การส่งเสริมและกระตุ้นพื้นที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมในเมืองให้กลับมามีชีวิตขึ้น หรือ area revitalization ผ่านการบูรณการในด้านต่างๆเช่น ศิลปะ กิจกรรม การออกแบบพื้นที่ อะไรแบบนี้อะค่ะ ก็คิดว่าน่าสนใจและน่าจะดีถ้าเกิดว่าในประเทศไทยจะมีหน่วยงานที่ทำในด้านนี้บ้าง
Jom : น่าสนใจมาก นี่ยิ่งน่าจับตาดูว่าจะเอามาใช้กับบ้านเรายังไง จะรอติดตามนะคะ
สุดท้าย มีอะไรฝากถึงน้องๆบ้าง
Sirada : ก็คงบอกว่าให้ลองทำหลายๆอย่างนะคะ ที่ผ่านเข้ามาเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ
ถ้ามีโอกาสเข้ามาก็อยากให้คว้าเอาไว้และ make the most out of it ค่ะ พยายามเปิดกว้างมองหลายๆมุม เพราะว่าเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ทุกๆวันค่ะ อย่าตัดสินอะไรจากการที่เรารู้แค่ด้านเดียว แล้วก็ที่สำคัญที่สุดนะคะ อย่ายอมแพ้ค่ะ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่นจริงๆ และ มีความสุขกับทุกๆวันพร้อมๆกับ มีความยืดหยุ่นกับชีวิตค่ะ 😀
Jom : ถ้ามีคนสนใจเรื่องทุน Erasmus Mundus เพิ่มเค้าควรจะไปเริ่มศีกษาจากที่ไหน มีแหล่งข้อมูลไหมคะ
Sirada : ถ้าเกิดสนใจเรื่องโปรแกรม Erasmus Mundus ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามลิ้งค์ด้านล้างนี้ค่ะ >> Link to Erasmus
อันนี้เป็นลิ้งค์เกี่ยวกับรายละเอียดทั่วไปของทุนค่ะ เช่น ประเภทใด ป.โท ป.เอก ขั้นตอนทั่วไปในการสมัคร อะไรแบบนี้ค่ะ
https://eacea.ec.europa.eu/erasmus-plus/library/scholarships-catalogue_en
ส่วนลิ้งนี้เป็นลิ้งค์ที่สามารถเข้าไปเช็คโปรแกรมป.โท ต่างๆค่ะ ว่ามีสาขาวิชาอะไรบ้าง อันนี้จะเป็นเว็บไซต์รวบรวมพวกทุนต่างๆค่ะ สามารถไปเสิร์ชหาทุนตามที่สนใจได้
http://www.scholarshipportal.com/
แล้วก็เผื่อ ถ้าใครสนใจจะศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสก็สามารถเข้าไปเช็คและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งของ Campus France ประเทศไทย ด้านล่างนี้ค่ะ http://www.thailande.campusfrance.org/th/
Jom : ขอบคุณฝ้าย ศิรดา มากมากเลยค่ะที่มาแบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวการเรียนต่อที่ยุโรป ผ่านทุนนี้ และยังให้ข้อคิดอีกด้วย วันนี้ขอบคุณมากมาก แล้วโอกาสหน้าจะขอมาชวนคุยใหม่นะคะ สวัสดีค่ะ
ประวัติผู้เขียน
ฝ้าย ศิรดา พิชญไพบูลย์ จบจากภาควิชา ภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย STU76 ขณะนี้กำลังเรียนป.โท หลักสูตรของ Erasmus Mundus ที่ ยุโรปค่ะ ในหลักสูตร Dynamic of Cultural Landscape