7 ข้อที่การ เรียนสถาปัตย์ ให้คุณเป็นมากกว่า “สถาปนิก”

7 ข้อที่การ เรียนสถาปัตย์ ให้คุณเป็นมากกว่า “สถาปนิก”

สถาปนิก คือ ผู้ประกอบอาชีพในการออกแบบ อาคาร สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม

สถาปนิก จะเป็นได้….ก็ต้องผ่านโรงเรียนสถาปัตย์ ที่สอนวิชา “สถาปัตยกรรม”

นักเรียนสถาปัตย์…

คือ นักเรียนที่เตรียมตัว เพื่อจะออกไปเป็น สถาปนิก

คือ นักเรียน ที่เรียนกลางวัน ทำงานโปรเจคตอนกลางคืน ตื่นมาส่งงานตอนเช้า นอนหลังส่งโปรเจค แต่ตื่นมาเข้าคลาสตอนบ่าย..

สถาปัตยกรรม สถาปนิก

หลายๆคนที่มองเข้ามา อาจจะเข้าใจว่าพื้นฐานเลยคนจบสถาปัตย์มา จะ..เป็นช่างเขียนแบบ นักออกแบบที่เขียนแปลน รูปด้านบ้าน ออกแบบอาคาร คนที่เดินตรวจงานที่ไซท์ก่อสร้าง แต่นอกจากความสามารถนั้นแล้ว มีอะไรติดไม้ติดมือ ติดมากับตัวอีก?

มีอีกค่ะ …!!

กลไกและระบบการเรียนการสอน ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีวัฒนธรรมและรูปแบบที่แตกต่างเฉพาะตัว (ที่แต่ละคณะก็มีแบบของแต่ละคณะนั่นแหละ)

ซึ่งโดยกระบวนทั้งหมด มันช่วยขัดเกลาคุณลักษณะ 7 อย่าง ผ่านกระบวนการออกแบบ และแก้ปัญหา ที่ผ่านมาจาก โรงเรียนสถาปัตย์ พร้อมโอกาสในการฝึกงานที่แต่ละคนได้รับแตกต่างกัน

แต่เมื่อได้มาแล้ว บางคนก็รู้ตัว บางคนก็ไม่รู้ตัว ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ และพัฒนาได้อย่างแท้จริง เราก็ต้องออกไป Master และ พัฒนามันต่อระหว่างทำงาน ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม อีกด้วย

มาดูกันเลย ว่า 7 ข้อนั้นคืออะไรค่ะ

สถาปัตยกรรม สถาปนิก1

1. สอนให้เป็นนักวางแผน จัดการเวลา Time Manager / planner

การจัดการเวลาเป็น skill ที่ได้มาจากการเรียนคณะนี้โดยไม่รู้ตัว

แม้ว่าในคณะจะไม่สอน แต่ว่าระบบที่บังคับให้เรา “ต้องรอด” ทำให้ต้องหาทางจัดการเวลา และเตรียมคาดการณ์ล่วงหน้า วางแผนนอกจากแปลนอาคาร คือ แผนในการจัดการกับงานกลุ่ม งานเดี่ยว งานทีสิส หรือ แม้แต่ งานออกค่าย งานละคอนถาปัด และ อื่นๆ

จริงๆในคณะ ถือเป็นการเทรนแบบเบบี้ ที่เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนออกมาเจอชีวิตจริง

ชีวิตจริง.. เราไม่ได้จัดการโครงการแค่เรา หรือ แค่เพื่อนไม่กี่คน

แต่ต้องเริ่มขยายออกมาจัดการเวลา และคน ในขนาดที่เปลี่ยนไปอีกด้วย

พอออกมาเจอชีวิตจริง คือ มันเป็นแบบทดสอบเดียวกัน แต่ความยากเพิ่มขึ้นไปจะเรียนให้รอด ส่งแบบให้อาจารย์ให้ทัน ก็ไม่ต่างกับชีวิตจริงที่ต้องส่งงานลูกค้าตรงเวลา

แต่ที่โหดร้ายกว่าในชีวิตจริงคือ ลูกค้าอาจจะมาขอล่วงหน้า โดยไม่ทันตั้งตัว (Classics…)

โชคดีนะ…ที่ไม่ได้เจอแบบนี้ครั้งแรก..

 

สถาปัตยกรรม สถาปนิก1

2.สอนให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี นักเรียนรู้โอกาส และ นักพัฒนา

Optimist & Opportunist

 

“If you weren’t an optimist, it would be impossible to be an architect. – Norman Foster”

“ถ้าคุณไม่เป็นคนมองโลกในแง่ดี…. คุณเป็นสถาปนิกไม่ได้หรอก” นอร์แมน ฟอสเตอร์

การที่จะออกแบบได้ ต้องเป็นคนที่มีความมองโลกในแง่ดีไม่มากก็น้อย เพราะคนที่มองโลกในแง่ดี สามารถมองหา “โอกาส” ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ หรือ สถานการณ์นั้นๆได้

ถ้าไม่สามารถเห็นโอกาส ก็ไม่สามารถพัฒนาสถานที่นั้นๆ ให้ดีขึ้นได้ แต่ทางออกเดียวที่แก้ปัญหาได้ อาจจะกลายเป็นการ “ทำลาย” ทิ้ง แทนที่จะเป็นผู้สร้าง ก็จะกลายเป็นผู้ทำลายไปแทน

สถาปนิกมีหน้าพิเศษ คือสร้างโอกาส สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้ทางเลือกที่คนอื่นมองไม่เห็น

การเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี และเห็นโอกาสในการพัฒนา ที่หลายๆคนอาจจะไม่ทันเห็น คือ ความสามารถที่โดนปลุกให้ตื่นขึ้นมาตอนเรียนสถาปัตย์

แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เก่ง เพราะ สถาปนิก ก็ยังต้องบริหารความคิด เรียนรู้โอกาสใหม่ๆ ทุกครั้งที่ได้โจทย์ใหม่

ความสามารถนี้จึงเป็นความสามารถ ที่ยังพัฒนาต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ

สถาปัตยกรรม สถาปนิก1

3. สอนให้เป็นนักแก้ปัญหา Problem-Solver

ขั้นตอนที่ต้องทำในทุกโครงการ คือ การมองหา และเข้าใจปัญหา ของพื้นที่โครงการ ไปจนถึง ปัจจัยที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการใช้งานของพื้นที่ หรือการออกแบบ

แปลว่า สถาปนิกไม่ได้แค่มองโอกาส หรือโลกสวย แต่ต้องเข้าในปัญหาอย่างถ่องแท้อีกด้วย

เพราะปัญหานั่นแหละ คือ โจทย์ และเงื่อนไข ที่มีไว้ ให้สถาปนิกจัดการมัน ด้วยการออกแบบ

การออกแบบ คือ การแก้ปัญหา ดีดีนี่เอง

ความสามารถนี้แหละ ที่ทำให้ สถาปนิก ต้องค่อยๆสร้างระบบ และตรรกะในหัว เพื่อค่อยๆคลายปม ทำให้ปัญหาที่น่าเกลียด กลายเป็นโอกาสที่สวยงามได้

และแม้จะไม่ได้ทำงานออกแบบ สถาปัตยกรรม ลักษณะความคิดนี้ บางทีมันก็ติดไปกับตัว และเอาไปปรับใช้กับสิ่งอื่นๆในชีวิตได้ด้วยค่ะ

สถาปัตยกรรม สถาปนิก 4

4. สอนให้มีความคิดสร้างสรรค์ สอนให้เป็นนักคิด Creative Thinker

ความคิดสร้างสรรค์ คือ แนวทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้น ในการจัดการปัญหา การพัฒนา ที่แตกต่างจากวิธีเดิมๆ

ไม่ใช่แค่ เห็นโอกาส และปัญหา แต่สามารถผลิตทางเลือก ที่พัฒนาให้ทางออกใหม่เกิดขึ้น ที่ดีกว่าทางออกเดิมๆอีกด้วย

เพราะว่ากระบวนการออกแบบ ทำให้เราใช้ความคิด และหาทางเลือกใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้น

หลายๆคนจึงอาจจะเห็นว่า มีคนที่จบสถาปัตย์หลายคน ที่ไม่ได้ออกไปทำงานสถาปัตยกรรมต่อ แต่ไปทำงานพวก Creative หรืองานในวงการบันเทิง งานดนตรี แม้จะไม่ได้เรียนสายนั้นๆโดยตรง แต่ก็ประสบความสำเร็จได้อย่างดี

หลายๆครั้งเป็นสิ่งที่อาจจะติดตัวเค้ามาแต่ไหนแต่ไร แต่ ความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถเอาไปปรับใช้กับสิ่งอื่นๆมากมายในชีวิตได้ ก็มีส่วนในการเติบโตอย่างมากใน โรงเรียนสถาปัตย์ค่ะ

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสกิลที่ติดตัวไปที่ไหน ก็มีประโยชน์!!

สถาปัตยกรรม สถาปนิก1

5. นักปฏิบัติ Executioner

“การทำให้เสร็จ” คือ Execution

“นักปฏิบัติ” คือ Executioner

เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นเรื่องที่ยากค่ะคณะนี้ สอนให้ทำงานเสร็จลุล่วงในระยะเวลาอันจำกัด และเงื่อนไขที่ตึงเครียด

ลองคิดดูสมัยเด็กๆ…เคยไหมที่เราทำอะไรครึ่งๆกลางๆ เช่น จอมเคยนะ เคยต่อ jigsaw ค้างไว้ แล้วก็เออ ไม่ได้ทำต่อ หรือมีอะไรที่เราทิ้งไว้ แค่เพราะว่า เออไม่ได้สำคัญนี่ ช่างมันเถอะ

จริงๆโปรเจคนั้นที่ไม่สำเร็จ ก็ไม่ได้มีอะไร มันอาจจะไม่ได้สำคัญอะไรกับเรา ไม่มี jigsaw ก็ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตนี่

แต่พอมองกลับไป สิ่งที่สำคัญที่ทำให้พลาดไป คือ การได้เรียนรู้ ฝีกฝน สกิล “การทำให้สำเร็จ” ค่ะ

พอเข้ามาสถาปัตย์ เปลี่ยนชีวิตไปเลย ทุกอย่างต้องเสร็จค่ะ ต้องได้รับการ Execute!!

สมัยเรียน เสื้อคณะรุ่นจอมตอนทำทีสิส เขียนไว้ว่า “งานครบ..จบชัวร์” บร๊ะ!!! ตอนเสื้อนี้ปล่อยออกมา นี่ยิ้มเลย เพื่อนคนไหนคิดเนี่ย! ช่างอ่านเกมส์ขาด!!นี่มันเป็นอะไรที่จริงแท้ และฟังดูdesperate ในเวลาเดียวกันแต่…มันคือ เป้าหมายนะ ยังไงก็ต้องทำให้เสร็จ ทุกคนมุ่งไปจุดเดียวกัน…. จบชัวร์!

มันเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ ในการจะทำอะไรสักอย่างให้เสร็จ แต่เพราะว่า การทำอะไรสักอย่างให้เสร็จ ต้องใช้ทั้งการบริหารเวลา การบริหารความคิด และความมุ่งมั่น ที่จะทำมันให้เสร็จ ทำให้มันเกิดขึ้นจริง

ไม่มีการล้มเลิกกลางทาง ไม่มีการโยนผ้าขนหนูระหว่างชก เพราะมันเป็นมวย ที่เราหยุดกลางสังเวียนไม่ได้ ต้องไปจนสุดทางเท่านั้น

ไม่ว่าจะเผาออกมาเน่า หรืออัดจนออกมาสวยงาม แต่ทุกคนก็ได้ ฝึก “ความคิด และ ทัศนคติ” ที่เตรียมความพร้อมให้เราออกไปสู่วิชาชีพจริงๆที่ถึงเวลา… บางทีโปรเจคมันมาเกิน 1 อันในเวลาเดียว… (คุ้นไหม?)

 

สถาปัตยกรรม สถาปนิก1

6. สอนให้เก็บแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบกาย Inspiration collector

บางทีการเก็บแรงบันดาลใจ อาจจะฟังดู โหยยย อาร์ตอ่ะ

แต่จริงๆแล้ว มันคือการสังเกตการณ์ และให้ความใส่ใจ ในสิ่งรอบตัว และมองมันในอีกมุมมอง

ที่พอมองแล้ว ทำให้เอากลับมาย้อนคิด เปรียบเทียบ เปรียบเปรย หรือเอามาอ้างอิงในงานออกแบบ

เช่น.. การที่ได้เดินไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยว เช่นไป ถ้ำ มา ประสบการณ์ที่เดินจากที่แคบๆ เตี้ยๆในถ้ำสักพัก ที่ในทันใดนั้นเอง! ก็โผล่ไปเจอที่ว่าง กว้างมีแสงธรรมชาติส่องลงมาที่หัว อะไรมันจะ ดราม่าขนาดนี้ แรงบันดาลใจจากธรรมชาติเหล่านี้ ก็ถูกนำไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม อย่างมากมาย และหลากหลายค่ะ

นี่แค่ตัวอย่างเดียว แต่ สถาปนิก อาจจะมีความคล้ายกับ ศิลปินในแง่นี้ก็ได้ค่ะ เพราะมีความสามารถชนิดนี้เหมือนกัน ที่ทำให้เรามอง และอ่านสิ่งรอบตัว ด้วย “เลนส์”ในแบบสถาปนิก
สถาปัตยกรรม สถาปนิก 7

7. นักเล่า Storyteller

จะเรียนจบมาได้ ไม่มีใครพลาดโอกาสในการ Presentงานออกแบบของตัวเองอย่างแน่นอน แม้จะไม่สอนตรงๆ แต่ทำให้จบออกมาพอร้มความสามารถในการเล่าเรื่อง พรีเซนต์ความคิด และผลงานของเรา

แน่แน่ ทุกโปรเจคต้องมี 1-2 รอบ ที่พูดรวม ไหนจะตรวจแบบอาทิตย์ละครั้งอีก ถ้าไม่หนีตรวจแบบอาจารย์นะ ประมาณไปได้เลยว่า ได้พูดอาทิตย์ละสองครั้งไม่อยากก็ต้องอยาก พูดไม่เป็น ก็ต้องเป็น

แน่นอนค่ะ แต่ละคนมีความสามารถ ความถนัดในการพูดไม่เท่ากัน บางคนอาจจะมีสกิลการ “ขาย” มาก่อนเข้าเรียนด้วยซ้ำ อันนั้นถือว่าเค้ามีทุนมาก่อนเลย โชคดีไป

ไม่ว่าจะจบมาด้วยความเทพในการเล่างานออกแบบ หรือ ขายไอเดียเก่งมาก หรือ น้อยขนาดไหน อาจจะไม่เท่ากัน แต่สุดท้ายก็ได้ภูมิต้านทาน ที่วางเอาไว้เป็นขั้นพื้นฐานระดับหนึ่งค่ะ

ทำให้ส่วนมาก สถาปนิกจะไม่ได้เหนียมอาย ในการเดินออกไปพูดเท่าไหร่นัก (เอ๊ะ..เหรอ)

แต่พอออกมาทำงานจริง สกิลเล่าเรื่องนี้ก็ยิ่งต้องฝีกเข้าไปใหญ่ เมื่อต้องเดินเข้าไปเจอลูกค้า ที่เค้าจะไม่ได้มองเราอย่างเข้าใจเท่าอาจารย์ เพราะฉะนั้นการที่อาจารย์ หวดด้วยวาจา หรือ มองด้วยหางตา จนเราเสียความมั่นใจ ก็แค่…การ training ค่ะ

โลกความจริง ไร้ซึ่งความปราณี การที่มีโอกาสเตรียมตัวพูดมาในโรงเรียนทำให้มีพื้นฐานเบื้องต้นที่เอาไปพัฒนาต่อให้ดียิ่งๆขึ้นได้อีกถ้าคุณกำลังเรียนอยู่ ก็ใช้ประโยชน์จากมันให้คุ้มนะ

พูดให้คน “เชื่อ” และมั่นใจในงานเรา เป็นสิ่งที่ยังฝึกต่อไปได้เรื่อยๆ

Storytelling เป็นความสามารถที่ยังเรียนรู้ต่อไปได้ทั้งชีวิต

 

เท่านี้คือ 7 ข้อค่ะ ที่เราโดนเทรนกันมากันอย่างเป็นธรรมชาติ แบบถ้าไม่มองกลับไป ก็อาจจะไม่ทันคิดว่า มันมีผลต่อการทำงานสถาปัตย์ ในอนาคต หรือแม้แต่จะเปลี่ยนไปสายอื่นก็ตาม สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ และติดตัวไปตลอดค่ะ

จริงๆแล้วจอมน่ะ อยากจะแถม ข้อ 8 ถือเป็นข้อไม่ทางการนะคะสถาปัตยกรรม สถาปนิก 8ข้อ 8 เรียนสถาปัตย์ สอนให้เรารู้จักการดำรงชีวิต แบบนกฮูก!! ;D คือ กลางคืนทำงาน แถมตาสว่างกว่ากลางวันอีก!

แหมะ…. พอทำงานก็เจอ นี่รู้เลย เดจาวู นี่ถ้าตอนเรียน ไม่เจอมาก่อน นี่อาจจะไม่ชิน

แต่ข้อนี้ ไม่อยากถือเป็นข้อหลัก เพราะว่าพอสถาปนิกมีอายุ แก่ตัวลงไป…ความสามารถนี้จะค่อย fade ไปพร้อมเวลาค่ะ จะต่างกับ 7 ข้อข้างบนที่มีแต่ดีขึ้นๆ

ก็เอาแค่ 7 ข้อนี้แหละค่ะ ที่เป็นข้อดี ที่ช่วยให้เราเอาตัวรอด และผ่านวันแต่ละวันไปได้อย่างสร้างสรรค์ขึ้น

จอมคิดนะคะว่า วันนี้จอมคงไม่มี skill เหล่านี้เท่านี้หรอกค่ะ ถ้าไม่ได้เรียนสถาปัตย์มา ไม่ได้เจอสิ่งที่เจอมาทั้งหมด ถ้าเรียนคณะอื่น ก็จะได้อย่างอื่นมาแทน ที่ก็แตกต่างไป

ทุกวันนี้ จอมดีใจที่เรียนสถาปัตย์ (และก็ยังทำงานสถาปัตย์อยู่) และเวลาไปทำอย่างอื่น ก็รู้นะว่าได้ใช้ skill เหล่านี้ ทำให้มองทุกอย่างเป็น Design ไปซะหมด

เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อ่านแล้วคิดยังไงกันบ้างคะ? คิดเหมือนกันบ้างไหมคะ?